ฮ่องกง : 20 ปี ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
ฮ่องกง : 20 ปี ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ”
สวัสดีครับสมาชิกและผู้อ่านกรุงเทพธุรกิจ
ในช่วงสัปดาห์ก่อน ผมได้เดินทางไปร่วมงาน Corporate Governance Asia ที่ฮ่องกง ทำให้คิดย้อนไปในปี 1997 หลังสิ้นสุดสัญญา “เช่า” ระหว่างสหราชอาณาจักรและจีน เปิดศักราชใหม่สู่การเป็นเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวฮ่องกง ภาคธุรกิจ รวมถึงนักลงทุน มีความวิตกกังวลต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ และการเมือง การปกครองของฮ่องกง โดยเฉพาะในบริบทของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ (เศรษฐกิจ)”
“หนึ่งประเทศ สองระบบ” เป็นข้อตกลงระหว่างมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตประธานคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะส่งมอบฮ่องกงคืนในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 ซึ่งภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ฮ่องกงจะเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางของจีน ที่สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเศรษฐกิจเสรี
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับทั้งชาวฮ่องกง และเพื่อนๆ ที่มีถิ่นพำนักในฮ่องกง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันก็คือ ที่เกรงกันว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” จะลดทอนความสำคัญทางเศรษฐกิจนั้น ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลของจีนได้รักษาพันธสัญญาตามข้อตกลงไว้เป็นอย่างดี ฮ่องกงยังคงดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้า การเงิน และการลงทุน รวมถึงการเป็นเมืองท่าการค้าระหว่างประเทศ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยกว่าร้อยละ 3.4 สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงินที่สำคัญของโลก มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็งมีมูลค่าตามราคาตลาดกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 119.2 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
โดยรวมแล้วทุกคนพอใจต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนกังวลคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงราคาที่อยู่อาศัยในฮ่องกงที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 90 ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฮ่องกงเป็นหนึ่งในมหานครที่มีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยแพงที่สุดในโลก ซึ่ง JLL Hong Kong คาดการณ์ว่าราคาที่อยู่อาศัยจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องอีกร้อยละ 10-15 ในปี 2017 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และอุปสงค์คงค้างในตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มชาวจีนที่พำนักหรือประกอบธุรกิจในฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม แม้กระแสพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งของฮ่องกงจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่มีตัวชี้วัดสำคัญอันหนึ่งที่ไม่ได้มีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกง จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรฮ่องกงที่ขยายห่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2016 กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนที่ 111,450 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 488,700 บาท) สูงกว่ากลุ่มคนยากจนที่สุดถึง 44 เท่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 2,560 ดอลลาร์ฮ่องกง (ประมาณ 11,200 บาท)
จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ข้างต้น อาจสะท้อนผลของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่การกระจายรายได้หรือการแก้ไขปัญหาความยากจนกลายเป็นเป้าหมายที่สำคัญรองลงมา ส่วนอนาคตเป้าหมายไหนจะกลับกลายเป็นหลักหรือรองของฮ่องกงนั้น ตอนนี้พูดได้แต่เพียงว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป” ครับ