หุ่นยนต์มา พนักงานไป?
ความวิตกว่าจะตกงานไม่ได้เป็นความกังวลของแรงงานฝีมือน้อยเพียงกลุ่มเดียว บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็อาจถูกหุ่นยนต์แทนที่
เรื่องมีอยู่ว่าระหว่างที่ดิฉันนั่งรอเที่ยวบินอยู่ในห้องรับรองของสนามบิน เหมือนเช่นเคยที่การนั่งรอโดยไม่ทำอะไรย่อมทำให้ดิฉันกลุ้มใจ จึงหยิบนสพ.หลายฉบับมานั่งอ่าน แล้วก็ไปพบหัวข้อข่าวที่สะดุดใจอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ Artificial Intelligence (A.I.) ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์” ว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารงานของผู้นำและตลาดแรงงานทั่วโลกอย่างไรบ้าง
บทความหรือข่าวนี้เขียนโดย ไค-ฟู ลี ในนสพ. นิวยอร์ค ไทมส์ ประจำวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ ลีเริ่มต้นบทความของเขาด้วยการกล่าวอ้างถึงความวิตกกังวลของผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับความก้าวหน้าของมนุษย์ในการสร้าง A.I. ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานหรือคิดได้เหมือนกับมนุษย์เรา หากบางท่านยังนึกภาพไม่ค่อยออก ขอให้ลองคิดถึงหุ่นยนต์ชื่อ “จาร์วิส” ที่เป็นผู้ช่วยของ “ไอรอน แมน” (Iron man) ที่ไอรอน แมนสามารถสั่งงานให้มองหาเป้าหมาย ค้นหา และประมวลข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆได้เกือบเหมือนกับผู้ช่วยที่เป็นคน
เมื่อมองในแง่ดี A.I. สามารถลดปัญหาความไม่เที่ยงตรงของปัญญามนุษย์ในการทำงานอันอาจเกิดจากสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ตลอดจนอคติต่างๆได้ A.I. สามารถย่อยวิเคราะห์ข้อมูลมากมายมหาศาลได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นการทุ่นแรง ทุ่นเวลาและค่าใช้จ่ายกว่าการใช้แรงงานมนุษย์เป็นอย่างมาก ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจึงหันมานิยมใช้ A.I. ที่เป็นส่วนประกอบของ Robot หรือหุ่นยนต์กันมากขึ้นๆ
โดยปัจจุบันหุ่นยนต์แบบที่ไม่ซับซ้อนมากจนถึงแบบที่ฉลาดมากๆที่มีสามัญสำนึก (common sense) มีความรู้สึก และสามารถแสดงออกซึ่งความรู้สึกได้ (บ้าง) คนที่เป็นคอหนังประเภทไซไฟ (Sci-fi) คงคุ้นตากับการที่หุ่นยนต์บางตัวมีความคิด มีความรู้สึกและจิตใจใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักประดิษฐ์หุ่นยนต์อยากไปไกลให้ถึงจุดนั้น
แต่ในเวลาเดียวกันเมื่อมองในแง่ลบ คนเราก็มีความกลัวหุ่นยนต์อยู่หลายประการด้วยกัน เช่น ถ้าหุ่นยนต์ทำทุกอย่างได้ดีกว่า เร็วกว่า ทนกว่าและถูกกว่าแรงงานมนุษย์ แล้วเราจะจ้างมนุษย์ทำงานไปทำไม แล้วคนเราจะมิตกงานกันไปหมดหรือ? หรือหากหุ่นยนต์เกิดฉลาดกว่าเรา แล้วเราควบคุมหุ่นยนต์ไม่ได้ เรามิต้องกลายเป็นทาสของหุ่นยนต์หรือเปล่า? สำหรับเรื่องกลัวตกงานนั้น ถึงจะกลัวก็คงทำอะไรไม่ได้มากเพราะแรงงานหุ่นยนต์ได้เริ่มเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ในโรงงานต่างๆกันแล้ว
ในวงการศึกษาเราก็เริ่มเห็นแล้วว่านายจ้างของหลายองค์กรเริ่มไม่ให้ความสำคัญกับปริญญาบัตรของพนักงานกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าคนเราสามารถแสวงหาความรู้จากแหล่งอื่นได้โดยใช้เครื่องมือของ A.I. เช่น โปรแกรมและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทางออนไลน์ ตลอดจนเครื่องมือค้นหาของกูเกิ้ล เป็นต้น ครูอาจารย์ทั้งหลายถ้าไม่มีแม่ไม้ตลอดจนประสบการณ์อันซับซ้อนช่ำชองจริงๆก็คงจะตกงานกันได้ถ้าไม่พัฒนาตนเอง
มองกันให้ลึกซึ้งจริงๆ เครื่องมือและนวัตกรรมด้าน A.I. ไม่ได้มีผลเพียงแค่ทำให้คนตกงานเท่านั้น แต่จะมีผลในวงกว้างเกินกว่าหลายคนจะจินตนาการได้ ประสิทธิภาพและความเร็วของ A.I. หมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน ค่านิยมในการทำงาน การประกอบอาชีพ การสร้างความร่ำรวยของบุคคลและองค์กร และวิถีชีวิตของมนุษยชาติโดยรวมเลยทีเดียว
เพราะปัจจุบันนี้ A.I. คือเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้สามารถรวบรวมและประมวลข้อมูลขนาดมหึมาจากโดเมนทั้งหลาย (เช่น ประวัติการกู้ยืมเงินของบุคคลหรือองค์กรในภาคธุรกิจต่างๆ) แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเรื่องเฉพาะหรือกรณีเฉพาะ (เช่น ควรให้บุคคลหรือองค์กรนี้กู้ยืมเงินหรือไม่) เพื่อบรรลุเป้าหมายของการให้บริการที่สร้างผลกำไรสูงสูดขององค์กร (เช่น ธนาคารหรือสถาบันการเงิน) นี่คือเพียงตัวอย่างการใช้งาน A.I. ในโดเมนที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินเท่านั้น สำหรับโดเมนที่เกี่ยวกับการตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค A.I. ก็สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ผลลัพธ์ในการตัดสินใจลงทุนเรื่องการตลาดได้แม่นยำเหมาะสมรวดเร็วมากขึ้นได้เช่นกัน
เมื่อ “ปัญญาประดิษฐ์” ก้าวหน้ากว่าปัญญามนุษย์ได้มากขนาดนี้ อาชีพนักวิเคราะห์การเงิน การตลาด ฯลฯ ก็คงจะเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงอีกต่อไป
ดังนั้นความวิตกที่ว่าตนเองจะตกงานหรือไม่จึงไม่ได้เป็นความกังวลของแรงงานฝีมือน้อยและมีความเชี่ยวชาญน้อยเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ทั้งหลายก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเร่งเพิ่มคุณค่าของตนเองก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ก้าวเข้ามาใกล้ตัวใกล้ประเทศไทยเข้ามาทุกทีก็คือการใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงานขับรถแท็กซี่และขับยานพาหนะอื่นๆ เช่น ขับรถแทนผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายไม่อำนวยให้ขับรถได้เองอย่างปลอดภัย ในเรื่องนี้สหรัฐอเมริกากำลังเดินหน้าเป็นหัวหอกเต็มที่โดยมีบริษัท กูเกิ้ล เทสลา (Tesla) และอูเบอร์ (Uber) ลงทุนพัฒนายานยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง (Autonomous vehicles) อย่างแข็งขัน คนไทยเราคงมีโอกาสได้นั่งรถที่ขับโดยหุ่นยนต์ในท้องถนนของเราในเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้านี้
ลียังได้คาดการณ์ต่อไปอีกว่าประเทศที่จะเป็นอภิมหาอำนาจและสร้างความมั่งคั่งจาก A.I. เป็นลำดับแรกๆของโลกคงจะเป็นสหรัฐอเมริกาและจีนนี่เอง อย่างไรก็ตามสิ่งใดที่มีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีปัญหาหรือความท้าทายติดตามมาด้วย ซึ่งถ้าไม่เตรียมมองการณ์ไกลและหาทางป้องกันปัญหาให้ดี ปัญหานั้นก็อาจกลายเป็นมหันตภัยคุกคามมนุษย์ผู้สร้างปัญญาประดิษฐ์นั้นขึ้นมาเอง แม้ในเวลานี้หลายประเทศทั่วโลกได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งจะทำให้มีแรงงานหนุ่มสาวลดน้อยลงก็จริง แต่หลายประเทศแม้กระทั่งสหรัฐฯกับจีนเองก็ยังมีประชากรตกงานที่มีฐานะยากจนอยู่อีกมาก จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องดำเนินนโยบายเรื่อง A.I. ให้เกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุดโดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและการบริหารจัดการทุนมนุษย์ในยุค A.I. เบ่งบาน
สำหรับองค์กรขนาดเล็กและมนุษย์เงินเดือนที่มีความสามารถปานกลางจะทำอย่างไรจึงจะแข่งขันได้? ลีได้นำเสนอข้อคิดว่าแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยด้วย A.I. และคนจนเพราะขาด A.I. ก็คือการใช้นโยบายด้านภาษี โดยเก็บภาษีจากองค์กรที่ใช้ A.I. จนมั่งคั่งมาช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยกว่าด้าน A.I. ที่ยากจน
ซึ่งดิฉันเห็นว่าเป็นแนวคิดที่แก้ปัญหาในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวต้องแก้ที่คน รัฐและองค์กรตลอดจนปัจเจกชนทุกคนต้องเร่งพัฒนาความคิดและภูมิปัญญาของบุคลากรให้ก้าวทันและก้าวนำโลก A.I. ให้ได้ การพัฒนาแค่เพียงให้มีความรู้และทักษะนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องให้รู้จักคิดและมีภูมิปัญญาจึงจะเหนือ A.I. งานที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ดีเท่ามนุษย์คืองานบริหารและงานที่ใช้ปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ซึ่งมีความคิดเป็นของตนเอง มีจิตอารมณ์ที่ซับซ้อน งานที่ต้องใช้ EQ ร่วมกับ IQ ปัญหาของสังคมไทยอยู่ที่เรายังติดกับการเรียนการสอนที่เน้นการจำ การทำตามคำสั่งมากกว่าการวิเคราะห์และการคิดเชิงเปรียบเทียบซึ่งนำไปสู่การคิดต่าง นอกจากนี้ยังขาดค่านิยมของการพัฒนาตนเอง เพราะมัวแต่รอให้ผู้อื่นมาพัฒนาตน ซึ่งเป็นค่านิยมการพัฒนาตนเองในเชิงรับมากกว่าเชิงรุก
แนวทางการพัฒนาบุคลากรซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนคือแนวทางการพึ่งพาตนเองตามศาสตร์พระราชานั่นเอง ผู้ที่มีภูมิปัญญาไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาสูงส่ง แต่มีภูมิปัญญาที่จะรู้ว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้โดยมีความสุขพอสมควรและไม่เบียดเบียนผู้อื่น นี่คือภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ A.I. ไม่สามารถทำได้และเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราต่างจากหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเพียงเครื่องมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น