นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน -Made in China 2025-

นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน -Made in China 2025-

งานเขียนเกี่ยวกับนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนภายในจีนเอง มีลักษณะเชิงวิชาการที่อิงทฤษฎีตะวันตกเป็นสำคัญ นโยบายที่เป็นเชิงปฏิบัติจริง

ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหาได้ยากมาก เรื่องนี้คงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า เป็นสิ่งที่เปิดเผยไม่ได้อย่างเป็นทางการมากกว่า อย่างไรก็ตาม งานเกี่ยวกับเรื่องนี้จากฝั่งตะวันตกก็พอมีให้ทำความเข้าใจได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนมากนัก

Lewis (2014) แห่ง CSIS (Center for Strategy and International Studies) ได้ทำการสรุปรูปแบบนโยบายเศรษฐกิจของจีน ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกี่ยวพันไปถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยดังนี้

จีนมุ่งเน้นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนัก การส่งเสริมการลงทุนเน้นในเรื่องการให้เงินอุดหนุนแลnon-tariff barriers (NTB) ซึ่งยังคงใช้ต่อไปในการสร้างอุตสาหกรรมชั้นสุดยอดทั้งในขณะนี้และอนาคต ในประเทศจีนเองการจำกัดผู้ประกอบการใหม่ที่เข้าสู่แต่ละธุรกิจมีน้อย ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาสินบนเจ้าหน้าที่และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ยืดหยุ่น สุดท้ายการจัดหาเทคโนโลยีมาจากวิถีทางที่ผิดกฎหมายไม่น้อย

 

ประธานาธิบดีสี่จิ้นผิงได้ประกาศนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งหมายถึงเป้าหมายในการบรรลุความเป็นประเทศอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงภายใน 10 ปี นับจากปี 2015 หัวใจสำคัญของนโยบายนี้คือ การแสวงหาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมที่ให้ผลกำไรดีและพุ่งเป้าหมายไปที่ความสามารถในการเป็นผู้กุมทิศทางของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แทนที่จะเป็นเพียงผู้ตามในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหมือนเช่นที่แล้วมา แน่นอน เป้าหมายของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของกองทัพบก เรือ อากาศ และการได้มาซึ่งเทคโนโลยีก็ใช้วิธีไม่ว่าด้วยเล่ห์ ก็ด้วยกล ในกรณีที่จำเป็น

ในเวลาเพียง 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการรวมบริษัททางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสูงถึง $110 พันล้าน ตัวอย่างอุตสาหกรรมเป้าหมายได้แก่ Semiconductor ที่จีนเคยผลิตได้เพียง 30% ของความต้องการและต้องนำเข้าอีก 70% จะทำการผลิตเอง 70% และนำเข้าเพียง 30% ในอนาคต เมื่อจีนสามารถยึดกุมเทคโนโลยีและการผลิตได้ก็จะส่งสินค้าออกไปท่วมตลาดโลกเหมือน ๆ กับสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นหลักในอดีตที่ผ่านมา

ตัวอย่างโด่งดังที่จีนพยายามซื้อกิจการเทคโนโลยีในต่างประเทศ ได้แก่ การซื้อแผนกแสงสว่างของฟิลิปส์ในสหรัฐอเมริกาและหน่วยงาน Cfius มีคำสั่งห้าม และการซื้อบริษัท semiconductor ของเยอรมันนีชื่อ Aixtron ซึ่ง EU ก็ไม่อนุมัติ

แนวทางอีกอย่างนี้ในการแสวงหาเทคโนโลยีก็คือ การจัดตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าหากเวลาผ่านไปสัก 2-3 ปี สถาบันเหล่านี้จะซื้อหรือควบรวมกับกิจการเทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ ก็คงจะไม่เป็นที่เพ่งเล็งมากนัก

Baidu, Alibaba และ Tencent ซึ่งเทียบได้กับ Google eBay และ Facebook ของสหรัฐอเมริกา ก็ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้ร่วมทุนกันจัดตั้งห้องปฏิบัติการข้อมูลจำนวน 19 แห่งเพื่อทำการค้นคว้าวิจัยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Internet ซึ่งเป็นแนวโน้มแห่งอนาคตที่สำคัญมาก บริษัทเหล่านี้แต่ละบริษัทเอง ต่างก็แสวงหาซื้อลิขสิทธิ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกอย่างที่ขวางหน้า เนื่องจากมีเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการที่มากมายมหาศาล

เนื่องจากเทคโนโลยีที่จีนได้มามีทั้งถูกและไม่ค่อยถูกกฎหมาย จีนจึงต้องหาทางปกป้องตัวเอง โดยจีนได้เตรียมสร้างบุคลากรทางด้านกฎหมายลิขสิทธิ์สำหรับอนาคต และ จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญกฎหมายลิขสิทธิ์จำนวนมากในปัจจุบัน

ผลสำเร็จที่เห็นได้เป็นรูปธรรมเท่าที่ผ่านมาคือ จีนพยายามซื้อ semiconducter เพื่อสร้าง super computer แต่ได้รับการขัดขวางจากสหรัฐอเมริกา แต่จีนก็ผลิตเองได้และสามารถสร้าง super computer ได้สำเร็จจนได้ แต่ทางอีกด้านหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ชื่อ หวงเค่อเสว ที่ทำงานกับ Dow Agribusiness กลับถูกจับได้ว่าส่งข้อมูลของบริษัทกลับไปจีนจนถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้

โครงการสำคัญอีกอันหนึ่งของจีนที่ควบคู่ไปกับ Made in China 2025 ก็คือ 千人计划 (เซียนเหรินจี้ฮั่ว หรือ โครงการหนึ่งพันคน) ซึ่งจะทำการดึงบุคลากรระดับสุดยอดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแต่ละสาขาจำนวนทั้งสิ้นหนึ่งพันคน โครงการนี้จะให้โบนัสทันทีที่ย้ายมาทำการวิจัยที่จีน 1 ล้านหยวนตามมาด้วยการจัดที่อยู่อาศัยอย่างดี จัดโรงเรียนให้แก่บุตร และ ที่ทำงานให้แก่คู่สมรส หลังจากนั้น ความสำเร็จของงานวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้จะเป็นส่วนแบ่งแก่ตัวนักวิจัย 42% ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ ที่เหลือเป็นส่วนแบ่งระหว่าง สถาบันวิจัยคู่สัญญาในและต่างประเทศฝ่ายละครึ่ง ตัวอย่างโครงการนี้ได้แก่ นัก Quantum Physics ชาวออสเตรเลียซึ่งทำวิจัยกับ NYU ในนิวยอร์คย้ายมาวิจัยกับ NYU Shanghai Quantum ถือเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญสูงอันจะนำไปสู่มิติใหม่ของ Internet ในอนาคต

Stratfor อันเป็นสถาบันเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารด้านภูมิรัฐศาสตร์ ได้มีบทความเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2016 ที่แสดงมุมมองว่า โครงการหนึ่งพันคนมีส่วนหนึ่งที่ทุ่มความพยายามไปที่ Gene Editing Technology โดยการดึงนักวิทยาศาสตร์จีนและต่างชาติด้วยงบประมาณในช่วง 2015-2020 ถึง US$12 พันล้าน กล่าวกันว่า หนึ่งในห้าของลิขสิทธิ์ด้าน Gene Editing Technology มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันวิจัยของจีนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ทำไมเทคโนโลยีนี้ถึงมีความสำคัญ? จำนวนประชากรและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นหมายความว่า ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ทำการผลิตมีน้อยลง ภายในพื้นที่ที่มีจำกัด Gene Editing Technology จึงมีความสำคัญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเพื่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ ศักยภาพในการส่งออกอาหารไปตลาดโลก วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนวัตถุดิบการเกษตรเป็นสินค้าพลังงาน ตลอดจนการให้ได้มาซึ่งสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพสูงขึ้นแต่ราคาถูกลง ดังนั้น Cloning และ Gene Editing จึงมีความสำคัญกับการเกษตรในอนาคต จีนอาจจะไม่สามารถลดการนำเข้าสินค้าเกษตรได้ แต่อย่างน้อยสัดส่วนการซื้อของจีนจากตลาดโลกจะไม่เพิ่มขึ้นและอาจสามารถส่งออกได้มากขึ้น

Lewis แห่ง CSIS มีความเห็นว่า ในทศวรรษหน้า แม้ว่าจีนอาจจะสามารถผลิตอาวุธได้หลากหลายและมากขึ้นในราคาที่ต่ำกว่า แต่คุณภาพก็ยังคงไม่อาจเทียบได้กับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม อาวุธที่มีปริมาณมากจะเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์แก่สหรัฐอเมริกา

เป็นที่คาดหมายว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของจีนจะมีการวิจัยพื้นฐานมากขึ้น การค้นคว้าวิจัยเพื่อนวัตกรรมมากขึ้น ข้อมูลและความเชี่ยวชาญการผลิตมากขึ้นการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วนและเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น จีนอาจจะยังคงใช้นโยบายเงินอุดหนุนและ NTB เช่นเดิม แต่ประเทศตะวันตกก็ยังคงไม่กล้าใช้มาตรการ sanction ตามระเบียบขององค์การค้าโลก (WTO) อยู่ดี ด้วยอำนาจต่อรองที่น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่า WTO จะบังคับใช้ระเบียบอย่างเข้มงวด ประเทศตะวันตกก็ยังคงไม่สามารถขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของจีนได้ เพียงแต่อาจจะช้าลงบ้างเล็กน้อย กรณีของ Super Computer เป็นตัวอย่างที่ดี

ความแพร่หลายของ Internet ทำให้การจารกรรมความลับทางทหารและเทคโนโลยีของจีนกระทำผ่าน Cyber Space มากขึ้นและกว้างขวางมากขึ้น แทนที่จะใช้วิธีจารกรรมด้วยคนเหมือนที่ผ่านมา เทคโนโลยีทางทหารที่สำคัญ ๆ ของสหรัฐอเมริกาล้วนแต่ถูกจีนทำจารกรรมและนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธตนเองในการต่อสู้กับอาวุธของสหรัฐอเมริกาใต้ ทำให้สมรรถภาพของอาวุธฝ่ายสหรัฐอเมริกาลดลง เช่น Patriot, THAAD, Aegis, F/A18, V22 Osprey, Black Hawk, F35 และ Littoral Combat Ship (LCS)

สิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้มีเพียงการให้รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรให้ภาคเอกชนในการสร้างระบบ Cyber Defense ให้แข็งแกร่งมากขึ้นและการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนที่ดี เพื่อลดการเผชิญหน้าลง

สิ่งที่บรรยายมาข้างต้น คงจะแสดงให้เห็นถึงนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนที่มีโฟกัสและเป้าหมายที่ชัดเจน มีความมุ่งมั่นและดำเนินการอย่างจริงจัง และ มีความกล้าที่จะทุ่มงบประมาณเงินทองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแห่งชาติ

เมื่อดูผลงานในงานสัปดาห์วิจัยแห่งชาติของไทยก็ได้แต่สะท้อนใจ เปรียบเสมือนเด็กเล่นขายของ เป็นเบี้ยหัวแตก อนิจจา!