ธุรกิจในแบบ SDG-Friendly
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้พูดถึงเรื่องการที่องค์กรตนเองจะมีส่วนในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่มีอยู่ 17 ข้อ ในประเด็นใดบ้าง และได้มีหลายองค์กร ลงมือทำให้เห็นแล้วว่าองค์กรตนเองได้สนับสนุนเรื่อง SDGs นี้อย่างไร
การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางประกอบการดำเนินงานทางธุรกิจ ไม่ได้เป็นเรื่องข้อกำหนด หรือเป็นภาคบังคับที่จะต้องปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรหลายแห่ง ลุกขึ้นมาดำเนินการโดยสมัครใจ ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรเหล่านั้น จะต้องมีแรงจูงใจ หรือเห็นผลได้บางอย่าง ที่เป็นคุณค่าแก่องค์กร นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะตกกับสังคม (และสิ่งแวดล้อม)
การที่จะเข้าใจ หรือเห็นคุณค่าในเรื่องนี้ ก็อาจต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า วิสัยสามารถ หรือ Capacity เดียวกันกับที่องค์กรเหล่านั้นมี ถึงจะไขข้อค้นพบดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ผลได้หลักๆ 5 ประการ จากการนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ประกอบด้วย
ประการแรก ช่วยให้องค์กรสามารถระบุถึงโอกาสทางธุรกิจในอนาคต ที่ซึ่งความท้าทายต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ได้กลายเป็นโอกาสตลาดสำหรับธุรกิจที่สามารถพัฒนาและส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรมและประสิทธิผล
ประการที่สอง ช่วยให้องค์กรเพิ่มคุณค่าด้านความยั่งยืนของกิจการ ด้วยการผนวกข้อพิจารณาด้านความยั่งยืนเข้าในห่วงโซ่คุณค่าตลอดสาย ซึ่งจะเอื้อให้องค์กรสามารถสร้างและคงคุณค่าไว้ในตัวกิจการเอง ทั้งในเรื่องการเพิ่มยอดขาย การพัฒนาส่วนตลาดใหม่ๆ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน การกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในตัวผลิตภัณฑ์ และการลดอัตราการเข้าออกของพนักงาน เป็นต้น
ประการที่สาม ช่วยให้องค์กรกระชับความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียและทันต่อพัฒนาการทางนโยบาย เพราะ SDGs เป็นเครื่องสะท้อนความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย เช่นเดียวกับทิศทางของนโยบายในอนาคตทั้งในระดับระหว่างประเทศ ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค
ประการที่สี่ ช่วยให้องค์กรมีเสถียรภาพในตลาดและสังคม เนื่องจากธุรกิจไม่สามารถที่จะประสบความสำเร็จในสังคมที่ล้มเหลว การลงทุนเพื่อการบรรลุ SDGs จะเป็นเสมือนเสาค้ำยันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จด้วย
ประการที่ห้า ช่วยให้องค์กรมีภาษากลางและความมุ่งประสงค์ร่วมกัน เนื่องจาก SDGs ได้ถูกนำมาใช้กำหนดเป็นกรอบร่วมสำหรับการดำเนินงานและการสื่อสารระหว่างองค์กรธุรกิจกับผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ให้สามารถรับทราบถึงผลการดำเนินงานและผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิผลและเห็นพ้องต้องกัน
จะเห็นว่า การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ หรือที่ผมเรียกว่า “ธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “SDG-Friendly Business” นั้น นอกจากจะทำให้ธุรกิจมีการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ในอันที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบ มิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายต่อสังคมแล้ว ยังสามารถเอื้อให้เกิดการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ในอันที่จะสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกันด้วย
คณะกรรมาธิการด้านธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเหล่าผู้นำในภาคธุรกิจ ภาคการเงิน ภาคประชาสังคม ภาคแรงงาน และองค์กรระหว่างประเทศ และเปิดตัวในการประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2559 ระบุในรายงาน “Better Business, Better World” ว่า การขับเคลื่อนเพื่อที่จะบรรลุ SDGs จะเปิดโอกาสทางการตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 12 ล้านล้านเหรียญ ในระบบเศรษฐกิจ 4 หมวดสำคัญ ได้แก่ อาหารและเกษตรกรรม เมือง พลังงานและวัสดุ สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ราวร้อยละ 60 ของภาคเศรษฐกิจจริง
การนำ SDGs มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) เป็นการผนวก SDGs เข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นปกติประจำวัน (Day-to-day business operations) มิใช่การดำเนินงานในรูปแบบกิจกรรม (Event) หรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนจากกระบวนการดำเนินงานได้อย่างแท้จริง
การดำเนินธุรกิจในแบบ SDG-Friendly อีกนัยหนึ่ง คือ การปรับทิศทางการดำเนินงานทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินการไปโดยไม่แปลกแยกต่างหากจากกัน
ครั้นเมื่อกิจการสามารถขับเคลื่อนทั้งสองเรื่องไปในทิศทางเดียวกันได้ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นการบรรลุความสำเร็จทางธุรกิจไปพร้อมกันในตัว