ความเสี่ยงจีน ปี 2018
อย่างที่ได้เกริ่นไว้เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนว่า จะมาเขียนแชร์มุมมองความเสี่ยงจีนแบบจัดเต็มให้แฟนคอลัมน์ได้อ่านกัน ณ ต้นปี 2018
ไม่ว่าจะมองในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หากมองข้ามประเด็นความเสี่ยงด้านการเงิน ผมมองว่าจีนมีความเสี่ยงที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
1. ก่อนอื่นขอออกตัวว่า ในแง่การเมืองในประเทศจีน มุมมองของผมอาจจะสวนทางกับกูรูตะวันตกหลายท่าน เนื่องจากผมมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวจีนค่อนข้างมาก โดยหากท่านผู้อ่านได้ไปคุยกับชาวจีนวัย 45 up จะพบว่ากว่า 80% ของคนเหล่านี้ จะมองประธานาธิบดี สี จิ้ ผิง เป็นเหมือน จักรพรรดิ์ หรือ ‘ฮวงตี้’
ดังนั้น ข่าวที่สภาประชาชนแห่งชาติของจีน มีมติให้ท่านสี สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ หรือจนกว่าเจ้าตัวจะสละตำแหน่งนั้น ถือว่าเป็นข่าวที่คนส่วนใหญ่ในเมืองจีนมองว่าเป็นข่าวดีมาก โดยหากเราลองกลับมาทบทวนให้แฟร์ๆ เปรียบเทียบกันระหว่างผู้นำระดับแถวหน้าของโลก อย่าง ทรัมป์ ชินโซะ อาเบ้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แองเจลล่า แมร์เคิล ผู้นำของเยอรมนี หรือแม้แต่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
หากตัดสินกันในแง่ของการบริหารจัดการเศรษฐกิจโดยใช้ดัชนีเศรษฐกิจเป็นตัววัด คงจะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สี ทำผลงานได้จะแจ้งกว่าท่านอื่น ตรงนี้ ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ดูดีพอควรในวันนี้ นายทรัมป์ได้ตัวช่วยจากเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ไม่น้อยไปกว่าครึ่งหนึ่ง
ผมมองว่า สีเข้าใจการใช้เงินทุนที่มีอยู่มากมายของจีน ลงทุนไปกับโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน น้ำมัน และโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Frontier Market อย่างแอฟริกาและเอเชียใต้ อีกทั้งยังให้อิสระผู้ประกอบการรุ่นใหม่ระดับจตุรเทพอย่าง แจ็ค หม่า โรบิน ลี เหลย จุน และโพนี หม่า ในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัลแบบเต็มที่ ในขณะที่ก็สกัดนักธุรกิจที่ดูเหมือนจะใช้อิทธิพลทางการเมืองในการหาผลประโยชน์ ให้จำกัดอยู่ในความดูแลของรัฐ
ดังนั้นการที่ สีจิ้นผิง สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ จะส่งผลให้ ‘ปรัชญาแบบสี’ ตามสไตล์ One Belt, One Road (OBOR) จะเดินหน้าแบบเต็มสูบได้ไปอีกไม่ต่ำกว่า 15 ปี
2. การได้ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนท่านใหม่ ที่ Active กว่าเดิม
โดย โจว เสี่ยว ฉวน ที่คาดว่าจะลงจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางจีนในเดือนเม.ย. นี้ ว่ากันว่าผู้ว่าท่านใหม่ น่าจะเป็น กัว ชูฉิง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการธนาคารของจีน วัย 62 ปี
กัว เพิ่งจะลงจากตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลชานตง ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่ใหญ่เป็นที่ 2 รองจากตำแหน่งเลขานุการของมณฑล โดยเขาเข้ามารับตำแหน่งดังกล่าว เพื่อมาเคลียร์ปัญหาที่สะสมอยู่ในระบบสถาบันการเงินของจีน
กัว ได้ดำเนินการสั่งให้แบงก์ใหญ่ของจีนทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มบริษัท Holding Group ที่ใหญ่มาก 4 แห่ง ในวันที่ 22 มิ.ย. ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ต้าเหลียน แวนด้าฟอซัน HNA และ อันปัง ส่งแรงกระเทือนต่อวงการ M&A เป็นวงกว้างไปทั่วโลก
ในเชิงการบริหารนั้น เขาถือว่าเป็นผู้ที่มีนโยบายคล้ายคลึงกับโจวมาก ส่วนหนึ่งเนื่องจากเติบโตมาจากสายของจู หลง จี อดีตซาร์เศรษฐกิจของจีนในยุค 90 จึงได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก จู ในยุคที่จีนเริ่มปฏิวัติทางเศรษฐกิจ และการเงินใหม่ๆ รวมถึง การเจรจาเข้าสู่องค์กรการค้าของโลก หรือ WTO
หากให้พิจารณาจุดเด่นจริงๆ คือ ความเด็ดขาดในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยที่คุม Agricultural Bank หรือ Ag Bank ซึ่งเป็นแบงก์รัฐที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 4 แห่งของจีน
หลายคนมองว่า กัว เข้ามารับตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการกำกับการธนาคาร เพื่อที่จะให้แบงก์ชาติของจีนเปลี่ยนมาเป็น Super-regulator นั่นคือ คุมทั้งนโยบายการเงินและคุมแบงก์แบบเบ็ดเสร็จเหมือนกับธนาคารกลางสหรัฐในตอนนี้
3. การเปิดเสรีทางการเงินของจีน ล่าสุด สี น่าจะตัดสินใจมอบหมายงานด้านการกำกับเซกเตอร์การเงิน และพอร์ตโฟลิโอการลงทุนของสินทรัพย์สหรัฐให้กับนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ วัย 67 ปี นามว่า หลิว เฮ่อ เชี่ยวชาญด้านการมองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนเชื่อมกับทั่วโลก
เขาจบการศึกษาจากอเมริกา และมีส่วนในการเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแบบสายตรงให้กับสี จิ้น ผิง ไม่ว่าจะเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ทั้ง ทิโมธี ไกธ์เนอร์และลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส ล้วนแต่ต้องมาพบกับหลิว หากมาเยือนรัฐบาลจีน นอกจากนี้ บทความที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติการเงินปี 2008 และ ปี 1930 ได้รับรางวัลจากรัฐบาลในปี 2014
ว่ากันว่า หลิว มีความคิดทางการเงินแบบตะวันตกที่ทำให้โอกาสที่จีนจะเปิดเสรีทางการเงินในเร็ววันมีความเป็นไปได้สูง และน่าจะตอบโต้สงครามทางการค้ากับทรัมป์โดยไม่ออกนอกกรอบหรือรุนแรงมากจนเกิดสงครามเศรษฐกิจ
4. ด้านการเมืองต่างประเทศ จีนได้ประโยชน์แบบส้มหล่นจากการที่ทรัมป์ตกปากรับคำว่า จะพูดคุยกับคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือแบบเป็นทางการ ในเดือนพ.ค.นี้ ทำให้ จีนมีโอกาสไม่ต้องแบกรับการอุ้มเกาหลีเหนือทางเศรษฐกิจอย่างหนักเหมือนในตอนนี้
ตารางแสดงคัชนี leading indicator ในการคาดการณ์วิกฤตสถาบันการเงินของประเทศต่างๆ
ที่มา: BIS
ท้ายสุด ปัญหาหนี้ของ Shadow Banking และ อสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มชะลอตัวลง แต่ยังวางใจไม่ได้
โดยราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่วัดจากราคาบ้านโดยเฉลี่ย ตามรายงานของ Wind ณ ปลายปี 2017 อยู่ที่ 13,967 หยวนต่อตารางเมตร สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 7.15% ซึ่งเติบโตลดลงกว่าปีก่อนหน้าที่เติบโต 13.7% และปี 2016 ที่ 34.8% ซึ่งต้องบอกว่า residential real estate จีนสามารถลดความร้อนแรง ได้ค่อนข้างดี ณ ปีนี้
นอกจากนี้ จากตัวเลขของ BIS มูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ Shadow Banking อยู่ที่ราว 57.3 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน77% ของจีดีพี แม้จะดูว่ามีขนาดใหญ่ ทว่าหากเปรียบเทียบกับขนาดของระบบการเงินของจีน ที่มีขนาด 307 ล้านล้านหยวน ตามรายงานของ Wind จะพบว่าระบบการเงินของจีนยังใหญ่พอจะซึมซับปัญหาได้ ที่สำคัญ Shadow Banking ถือเป็นปัญหาที่ทางการจีนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ในการแก้ไขในขณะนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี นักวิจัยที่ผมมีความเห็นว่าเก่งที่สุด ในด้านความเสี่ยงด้านการเงินของ BIS ได้ทำบทวิจัยตีพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์ เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผลปรากฎว่าจีนมีความเสี่ยงด้านการเงินที่จะเกิดวิกฤติในระดับที่ค่อนข้างสูง ดังตาราง โดยอัตราส่วนปริมาณสินเชื่อต่อจีดีพีและอัตราการจ่ายหนี้ต่อรายได้ของภาคเอกชนสูงจนมีโอกาสเกิดวิกฤตได้ อย่างไรก็ดี นี่คือความเสี่ยงที่สูงซึ่งทางการจีนกำลังจับตาดูอยู่เช่นกัน
ผมมองว่าความเสี่ยงของจีน ยกเว้นด้านการเงิน ณ ต้นปี 2018 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครับ