จะเข้าไปลงทุนและจ้างงานในกัมพูชา ก็ต้องรู้จักคนของประเทศเขา
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ และยิ่งจะเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ
ก็จำเป็นต้องรู้จักวิถีชีวิต ความคิด และวัฒนธรรมการทำงานของคนในประเทศนั้นด้วย เพื่อจะได้บริหารจัดการคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เปรียบเทียบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ตามลักษณะนิสัยของคนในประเทศไว้อย่างน่าสนใจว่า หากเป็นแรงงานกัมพูชา ต้องเน้นการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบ แรงงานลาว ให้เน้นการสร้างแรงจูงใจ เพื่อกระตุ้นการทำงาน แรงงานเวียดนาม ต้องเน้นการส่งเสริม ให้เกิดความก้าวหน้า ให้เขาทำงานดียิ่งขึ้นไปอีก และอยู่กับเราไปได้นานๆ และหากเป็นแรงงานเมียนมา ให้เน้นการทำความเข้าใจในหน้าที่และกฎระเบียบ เพื่อให้ปฏิบัติตามหน้าที่และกฎระเบียบได้อย่างถูกต้อง
กัมพูชาเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรประมาณ 15 ล้านคน กำลังแรงงาน 9 ล้านคน ในแต่ละปีจะมีประชากรเข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณ 3 แสนคน ประชากรของกัมพูชาส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว อัตราการว่างงานในกัมพูชาอยู่ในระดับต่ำเสียยิ่งกว่าเมืองไทย อยู่ในอันดับที่ 2 ในโลก ในอัตราเพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น เศรษฐกิจของกัมพูชากระจุกตัวอยู่เพียงใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และภาคเกษตร แรงงานจึงกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเหล่านี้เช่นเดียวกัน กฎหมายแรงงานของกัมพูชาพัฒนาไปค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกฎหมายด้านอื่นๆของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองดูแลแรงงานเป็นอย่างดี
ในด้านคุณภาพแรงงาน เนื่องจากกัมพูชาได้สูญเสียประชากรที่มีความรู้ไปเป็นจำนวนมากในสงครามกลางเมืองที่เรื้อรังและเพิ่งจะสงบสุขได้ในช่วงเวลาเพียง 30 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพของแรงงาน ประชาชนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา งบประมาณภาครัฐมีจำกัดในการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคมอื่นๆ จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก (Global competitiveness index) ในด้านคุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษา กัมพูชาจัดอยู่ในอันดับที่ 112 จาก 137 ประเทศ (ไทย อันดับที่ 89) ส่วนคุณภาพการศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษา อยู่ในอันดับที่ 79 (ไทย อันดับที่ 65) คุณภาพการสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อันดับที่ 111 (ไทย อันดับที่ 83) และคุณภาพหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจ อันดับที่ 123 (ไทย อันดับที่ 78)
ค่าจ้างขั้นต่ำของกัมพูชาถูกกำหนดขึ้นเฉพาะในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า และรองเท้าที่เป็นภาคการผลิตหลักของกัมพูชา ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็มักจะกำหนดค่าจ้างอ้างอิงจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้ โดยในปี 2561 ค่าจ้างขั้นต่ำของกัมพูชาเท่ากับ 170 เหรียญสหรัฐฯต่อเดือน ปรับขึ้นจากปีที่แล้วที่อยู่ในระดับ 153 เหรียญสหรัฐฯ แม้ค่าจ้างขั้นต่ำในกัมพูชาจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย แต่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และหากเปรียบเทียบกับคุณภาพและความสามารถของแรงงานแล้ว อาจถือว่าเป็นอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม เพราะนายจ้างจำเป็นต้องลงทุนอบรมแรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้พนักงานมีความพร้อมในการทำงาน โดยกัมพูชามีปัญหาคล้ายคลึงกับไทยในแง่ที่ว่า นักเรียนนักศึกษามักเลือกเรียนสายธุรกิจและสังคมศาสตร์ ในขณะที่นายจ้างมีความต้องการวิศวกรและช่างเทคนิคจำนวนมาก
จากการเก็บข้อมูลจากบริษัทไทยที่ทำธุรกิจด้านอาหารและวัสดุก่อสร้างในประเทศกัมพูชา พบว่า ในช่วงแรกจะเข้าไปดำเนินธุรกิจด้วยการนำสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเข้าไปขายในประเทศกัมพูชา และเมื่อเปิดตลาดในกัมพูชามาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงทำการผลิตและขายในประเทศกัมพูชา รวมถึงส่งออกไปขายยังประเทศอื่นๆ โดยบริษัทจะจ้างแรงงาน 2 กลุ่ม คือ พนักงานที่ทำงานในสำนักงาน เช่น พนักงานบัญชี วิศวกร และแรงงานที่ทำการผลิตอยู่ในโรงงาน โดยบริษัทต่างมีนโยบายสำคัญที่จะสร้างผู้บริหารท้องถิ่น ในช่วงแรกจึงส่งคนไทยเข้าไปช่วยสอนงานเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรก่อน หลังจากนั้น ผู้บริหารท้องถิ่นจะเป็นหัวหน้าดูแลจัดการธุรกิจต่อไป
ปัญหาที่พบจากประสบการณ์การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทไทยคือ แม้คนกัมพูชาจะขยันเรียน มีปริญญาหลายใบ และมีความสามารถทางภาษาสูง แต่ขาดการฝึกปฏิบัติ พนักงานจึงมักทำงานตามคำสั่งเท่านั้น คิดวิเคราะห์ไม่ได้ ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องมีคนชี้แนะ กลัวความผิดพลาด ไม่กล้ายอมรับผิด มักไม่ยอมรับหัวหน้าที่เป็นชาวกัมพูชาด้วยกัน ขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม ไม่สามารถทำงานหลายประเภทได้ ขาดภาวะผู้นำ ไม่มองไกล ไม่รอบคอบ มักเปลี่ยนงานทันทีที่ได้รับข้อเสนอเป็นเงินเดือนที่สูงกว่าจากบริษัทอื่น ทำให้อัตราการเปลี่ยนงานสูง และมักเรียกร้องต่อรองขอสิทธิประโยชน์จากบริษัทอยู่บ่อยครั้ง แม้เพิ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปไม่นานก็ตาม ทั้งนี้ บัณฑิตที่จบจากสถาบัน Technology of Cambodia (ITC) และวิทยาลัยเทคโนโลยีดอน บอสโก (Don Bosco) จะมีคุณภาพสูงกว่าสถาบันอื่น นอกจากนี้ วันหยุดในกัมพูชายังมีหลายวันมาก และแรงงานกัมพูชาให้ความสำคัญกับวันหยุดและเทศกาลต่างๆ ที่จะต้องกลับบ้านไปหาครอบครัว จึงมักไม่ประสงค์จะทำงานในวันหยุด และประการสุดท้าย นอกจากค่าไฟฟ้าและค่าครองชีพอื่นๆที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงแล้ว กัมพูชายังมีค่าน้ำร้อนน้ำชา และปัญหาคอร์รัปชันสูงอีกด้วย
ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา จึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี และข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่นและสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ และพึงตระหนักว่า การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในต่างประเทศนั้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของบริษัทเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยอีกด้วย
โดย...
กิริยา กุลกลการ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นักวิจัย ฝ่าย 1 สกว.