Gen Y Z ไม่พอใจในงาน-ประสิทธิภาพลดฮวบ เหตุความตึงเครียดพุ่งสูงในที่ทำงาน
วิจัยเผย Gen Y-Z ประสิทธิภาพการทำงานลดฮวบ! เหตุเพราะหัวหน้างานรุ่นใหญ่กดดัน-ไม่ยอมรับคนรุ่นใหม่ สร้างบรรยากาศความตึงเครียดพุ่งสูงในที่ทำงาน
KEY
POINTS
- อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของคนรุ่นใหม่ลดลง นั่นคือหัวหน้างานที่มีอายุมากกว่าพวกเขา ไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ ไม่ให้การสนับสนุน
- หัวหน้าระดับสูงไม่สนใจช่วยเหลือพนักงานรุ่นใหม่ ให้ปรับตัวเข้ากับชีวิตองค์กรได้ง่ายขึ้น เพิ่มความตึงเครียดในที่ทำงาน ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อ Productivity โดยรวมของบริษัท
- หากองค์กรลงทุนในการอบรมทักษะให้หัวหน้างาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน ของคนหลากหลายรุ่น ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตให้บริษัทได้อย่างมาก
การเริ่มต้นอาชีพการงานของคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z กลายเป็นเรื่องยากลำบาก ต้องดิ้นรนปรับตัว และพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้รับการยอมรับจาก “เจ้านายรุ่นใหญ่” ที่มีอายุห่างจากพวกเขาสิบกว่าปี ขณะเดียวกัน หัวหน้างานระดับสูงเหล่านั้นก็ไม่ได้สนใจที่จะช่วยเหลือให้พนักงานรุ่นใหม่ปรับตัวเข้ากับชีวิตองค์กรได้ง่าย นำไปสู่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในที่ทำงาน สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อ Productivity โดยรวมของบริษัท
งานวิจัยล่าสุดของ London School of Economics (LSE) และ Protiviti ค้นพบว่า ความขัดแย้งในที่ทำงานระหว่างเจ้านายกับลูกน้องที่อายุห่างกัน เป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และเป็นปัญหาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนทำงานรุ่น Gen Z และรุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y)
วัยทำงาน Gen Y-Z ถูกทิ้งไว้กลางทาง หัวหน้าไม่ยอมรับในฐานะส่วนหนึ่งในทีม
ผลสำรวจพนักงานออฟฟิศในอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเกือบ 1,500 คน พบว่า พนักงานกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุน้อย มองว่าตนเองมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำในที่ทำงาน โดยคนรุ่น Gen Y 30% รายงานว่าตนเองไม่มีประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่ Gen Z เกือบ 2 ใน 3 รายงานว่าตนเองมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำเช่นกัน
แม้วัยทำงานกลุ่มนี้อาจไม่ใช่ส่วนใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือกลุ่มนี้เป็นพนักงานที่มีหัวหน้างานที่อายุมากกว่าพวกเขา 12 ปีโดยเฉลี่ย (เกิดช่องว่างระหว่างวัยค่อนข้างกว้าง) ซึ่งพนักงานรุ่นใหม่กลุ่มนี้มีแนวโน้มรายงานว่าตนเองมีผลงานไม่ดีถึง 1.5 เท่า และมีแนวโน้มว่าไม่พอใจในงานของตนเกือบ 3 เท่า แล้วมีสาเหตุเกิดจากอะไร?
สำหรับสาเหตุและอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานคนรุ่นใหม่ลดลง นั่นคือผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่มีอายุมากกว่า ไม่เข้าใจคนรุ่นใหม่ ไม่เปิดใจ และไม่สนับสนุนพนักงานคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้บรรยากาศที่ทำงานเกิดความตึงเครียดระหว่างรุ่นเพิ่มมากขึ้น มีตัวอย่างมากมายที่พบว่าเจ้านายรุ่นใหญ่มักจะระบายความหงุดหงิดใส่พนักงานที่อายุน้อยกว่า
ยกตัวอย่างกรณีของนักแสดงและผู้กำกับ Jodie Foster ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี 2024 เคยกล่าวถึงคนรุ่น Gen Z ในการสัมภาษณ์กับ The Guardian ไว้ว่า “น่ารำคาญจริงๆ โดยเฉพาะในที่ทำงาน” เนื่องจากเธอพบว่าคนรุ่นใหม่มักขาดความกระตือรือร้น และไม่รับผิดชอบต่อเวลาการเข้างานในออฟฟิศ นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจของ Harris ซึ่งจัดทำขึ้นสำหรับ Fortune รายงานข้อค้นพบว่า เจ้านาย 4 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างบ่นว่าคนรุ่น Gen Z ขาดทักษะทางสังคมมากที่สุด
ผลวิจัยชี้ชัด หากพนักงานทุกวัยทำงานร่วมกันได้ดี ก็จะเพิ่มผลผลิตได้อย่างมาก
“มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าผู้คนในแต่ละเจเนอเรชัน มีรสนิยมและความชอบที่แตกต่างกัน แล้วทำไมเราจึงคาดหวังให้คนเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบัน หลายองค์กรมีคนห้ารุ่นทำงานร่วมกันในสถานที่ทำงาน แต่บริษัทกลับไม่ใส่ใจที่จะอบรมเพิ่มทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในการจัดการพลวัตการทำงานระหว่างรุ่น” เกรซ ลอร์ดาน (Grace Lordan) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Inclusion Initiative จาก London School of Economics สะท้อนความเห็น
ทั้งนี้ การศึกษาของ LSE แบ่งผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 “มีความร่วมมือจากพนักงานหลายรุ่นในที่ทำงาน” และกลุ่มที่2 “ไม่มีความร่วมมือกันของพนักงานในที่ทำงาน” จากนั้นพิจารณาว่า หัวหน้างานรุ่นใหญ่มีส่วนช่วยพัฒนาอาชีพให้พนักงานรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน? หรือช่วยให้คนแต่ละรุ่นในที่ทำงานสามารถ “ปรับตัว” เข้าหากันได้ง่ายหรือไม่?
อีกทั้งในกรณีการเลื่อนตำแหน่ง หัวหน้ามีการโปรโมตให้ลูกน้องที่มีความสามารถและคุณธรรมมากกว่าอายุงานหรือไม่? ซึ่งการที่หัวหน้ามีทักษะในการทำงานกับคนต่างรุ่นต่างวัย ถือเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
จากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มองค์กรที่มีความร่วมมือจากพนักงานหลายรุ่นในที่ทำงาน และหัวหน้ามีการนำนโยบายและออกแบบการทำงานร่วมกันของคนต่างรุ่นต่างวัยไปใช้ในออฟฟิศ ทำให้ระดับผลงาน และประสิทธิภาพการทำงานของคนรุ่นใหม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (จากเดิมมีคนที่มีผลงานต่ำ 37% แต่ต่อมาเหลือแค่ 18%)
“การวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่า หากองค์กรลงทุนในการอบรมทักษะให้กับหัวหน้างานรุ่นใหญ่ เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันในการทำงานของคนหลายรุ่นในทีม และสร้างสถานที่ทำงานที่บูรณาการระหว่างพนักงานคนรุ่นก่อน-คนรุ่นใหม่ ให้ทำงานร่วมกันได้ราบรื่น ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมาก” ผู้อำนวยการลอร์ดาน ย้ำให้เห็นภาพชัด
แม้จะมีแนวทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรุ่น ในที่ทำงาน แต่บริษัทส่วนใหญ่ยังคงเพิกเฉย
พนักงาน Gen Y-Z เริ่มรู้สึกหงุดหงิดและท้อใจ เพราะยิ่งนับวันพวกเขาก็ยิ่งถูกบ่นเรื่องต่างๆ ในที่ทำงานมากขึ้น อาชีพการงานและคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้รับผลกระทบเชิงลบจากที่ทำงาน ขณะเดียวกันเจ้านายของพวกเขา ก็ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงที่จะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างคนต่างรุ่น
จากการวิจัยของ Vitality พบว่า พนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี สูญเสียวันทำงานที่มีประสิทธิภาพไป 60 วันต่อปี ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาสุขภาพจิต กลุ่มประกันสุขภาพพบว่าพนักงานอายุน้อยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวลทางการเงินอย่างมาก และไม่พอใจกับงานของตนเอง
ผลการศึกษาดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของคนทำงานรุ่นใหม่ที่สูญเสียแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้พวกเขาไม่มีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จในที่ทำงาน
ยกตัวอย่างวิดีโอไวรัลชิ้นหนึ่งของ ริค เมอร์เซอร์ (Rick Mercer) นักแสดงตลกวัย 54 ปี ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ผู้คนต้องหยุดคาดหวังว่าคนรุ่นก่อนจะมาเข้าใจคนรุ่นใหม่ เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่คนรุ่นก่อนเติบโตมา และโอกาสที่เอื้อให้ประสบความสำเร็จได้นั้น แตกต่างจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่เด็กรุ่นนี้เผชิญอยู่
โดยเขาพูดเชิงเปรียบเทียบทำนองว่า คนรุ่นก่อนทำงานได้เงินเดือนแค่ปีละ 30,000 ดอลลาร์ ก็สามารถซื้อบ้านสี่ห้องนอนและรถ Cadillac เปิดประทุนรุ่นใหม่ได้แล้ว แต่วัยทำงานยุคนี้ขนาดเรียนจบปริญญาโท และทำงานเกินกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่ก็ยังไม่มีเงินพอที่จะซื้อแม้แต่อพาร์ตเมนต์แบบสตูดิโอขนาด 400 ตารางฟุตได้ สิ่งนี้ย้ำให้เห็นว่าคนแต่ละรุ่นโตมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรตัดสินกันด้วยความอคติ