นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1
ภาคเกษตรหรือภาคชนบทเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีประชากรในภาคเกษตรถึงประมาณ 25 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 40 ของประชากรทั้งประเทศ
ในมิติมหภาค ภาคเกษตรสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจร้อยละ 9 ของ GDP มีพืชสำคัญที่มีสัดส่วนใน GDP ภาคการเกษตรถึงร้อยละ 80 คือ ข้าว และยางพารา จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมไทยจึงเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกทั้งการส่งออกข้าวและยางพารา ภาคเกษตรยังทำหน้าที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทั้งในประเทศและทั้งโลก เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ใหญ่ที่สุดโดยเฉพาะในยามที่ประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่นในอดีตปี 2540 และยังสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในมิติจุลภาค ภาคเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนเกษตรกร อย่างไรก็ตามเกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ
ดังนั้นท่ามกลางความท้าทายหลายด้านทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำอย่างไรจึงจะช่วยยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย จึงเป็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศตลอดมา
1.ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย: โน้มลดลงบ้าง แต่ปัญหายังมีอยู่เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนลงได้ โดยสัดส่วนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมด ในทางตรงกันข้ามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) แม้จะปรับโน้มลงบ้างจากอดีต แต่ยังไม่น่าพอใจ คือในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 44.5 เทียบกับในปี 2531 อยู่ที่ร้อยละ 48.7 หากดูในระดับภูมิภาค จะเห็นว่าภาคใต้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่นโดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคอยู่ที่ร้อยละ 45.1 ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 43.3) ภาคกลาง (ร้อยละ 39.6) และภาคเหนือ (ร้อยละ 38.8) ตามลำดับ
หากเปรียบเทียบกับนานาชาติ จากข้อมูล Central Intelligence Agency (CIA) ของสหรัฐฯ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยอยู่ระดับกลางๆ อยู่ที่ลำดับ 44 จาก 156 ประเทศทั่วโลก คือร้อยละ 44.5 เทียบกับร้อยละ 25 ของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ถือว่ามีความเท่าเทียมกันทางรายได้สูง และระดับ 50-70 ของประเทศในแอฟริกาที่ถือว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างสูง
ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจชนบท อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 41 35 และ 31 ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ ตามลำดับ จัดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเพียงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกภาคเกษตรที่อยู่ที่ 16,000 บาท และส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก ประมาณร้อยละ 40 ถือครองที่ดิน 1-10 ไร่ และอีกร้อยละ 8 ไม่มีที่ดินทำกิน และพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นอยู่นอกเขตชลประทานประมาณร้อยละ 80
ส่วนพื้นที่เกษตรที่อยู่ในระบบชลประทานนั้นมีเพียงร้อยร้อยละ 20 เท่านั้น ทำให้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานต้องพึ่งพาน้ำฝนในการทำเกษตร เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่สามารถให้ความมั่นคงกับครัวเรือน มีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยเงินกู้ แต่การเข้าถึงเงินกู้ในระบบจำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดิน ทำให้เกษตรกรต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง สมาชิกครัวเรือนต้องเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังนอกภูมิภาคเพื่อหารายได้อื่นๆ เป็นแหล่งรายได้สนับสนุนอีกทางหนึ่งในระยะต่อไป คาดว่าเกษตรกรจะยิ่งเป็นรายเล็กลงเรื่อยๆ เพราะรุ่นพ่อแม่แบ่งซอยที่นาให้ลูกหลาน และลูกหลานที่เข้ามาทำงานในเมืองก็ขายที่ดินให้กับนายทุนไป วนเวียนเป็นวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยและมิติด้านสังคมอื่นๆ
2.ปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ: ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ภาคสนาม2.1 ผลิตภาพของภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีช่องว่างให้พัฒนาได้อีกมากผลิตภาพ คือการเปรียบเทียบระหว่างสัดส่วนของผลผลิตและปัจจัยการผลิต หากมีผลิตภาพสูง คือจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตต่ำเพื่อผลิตให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก จากการศึกษาของ OECD (2010) ได้นำเสนอว่านโยบายด้านการเกษตรของรัฐมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของการปรับโครงสร้างภาคเกษตรของไทย เช่น การปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อกระจายสิทธิที่ดินให้แก่ผู้ไร้ที่ดิน การสร้างถนนหนทางเข้าสู่ที่ดิน การสร้างระบบชลประทาน งานวิจัยด้านเกษตร และมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธกส. ให้สินเชื่อแก่เกษตรกร เป็นต้น
จากการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 2504-2558 พบว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อไร่ต่อปี และมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และ 2.8 ตามลำดับ (รูป 1 และ 2) โดยผลิตภาพเร่งตัวขึ้นประมาณปี 2533 ที่เริ่มมีกระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรมายังภาคอุตสาหกรรม ขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรกรรมโน้มลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ World Bank มูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปีของไทยอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ด้านล่างสุด แตกต่างจากกลุ่มด้านบนร้อยละ 10 เกือบ 50 เท่า ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันการผลิตสินค้าเกษตรของไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอยู่มาก เช่น ข้าว ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 459 กก. ต่อไร่ รองจากเวียดนาม เมียนมาร์ และ ลาว ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประมาณร้อยละ 30-40 เป็นต้น
ในด้านแรงงาน แรงงานภาคเกษตรลดลงจากเกือบร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดในปี 2536 เหลือเพียงร้อยละ 40 ในปัจจุบัน โดยแรงงานในภาคเกษตรเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยจำนวนสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 25 ในปี 2556 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากร้อยละ 12 ในปี 2536 ขณะเดียวกันแรงงานเกษตรรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 25 ปีมีเพียงร้อยละ 25 ซึ่งจะมีนัยต่อกระบวนการผลิตและผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2.2 ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ภาคสนาม ผู้เขียนได้ร่วมโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงิน และเพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนทั้งธุรกิจและประชาชน สรุปเสียงสะท้อนจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร 5 ประเด็นหลักคือ 1) ปัญหาด้านที่ดินและการใช้ที่ดิน เกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กและไม่มีเอกสารสิทธิ์ สูงวัย ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
2) ปัญหาการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและราคาผลผลิตไม่แน่นอน เกษตรกรให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าปริมาณผลผลิต เนื่องจากต้องการเปลี่ยนผลผลิตให้เป็นเงินโดยเร็ว อาทิ มะม่วง หากนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้งจะได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท แต่เกษตรกรยอมขายราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 20-30 บาท นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีสถานที่จัดเก็บที่เหมาะสม ขาดความรู้ด้านการแปรรูป รวมถึงไม่มีช่องทางการตลาดที่ดี
3) ปัญหาความไม่เพียงพอของน้ำที่ใช้ในการเกษตร โดยการจัดสรรน้ำของชลประทานยังไม่สอดคล้องกับความต้องการน้ำของพืชบางชนิด ทำให้พืชไม่ได้รับน้ำตาม รอบที่เหมาะสมส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง 4) ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหาย ระบบประกันพืชผลการเกษตรไม่ครอบคลุม และค่าเบี้ยประกันภัยไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และ 5) ปัญหาด้านข้อมูลและการสื่อสาร คำแนะนำและการสื่อสารจากทางการไม่เพียงพอ เช่น ควรปลูกพืชใดทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการเลิกปลูกข้าวโพดเพื่อลดการทำลายป่าและหมอกควัน เป็นต้น
ฉบับต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอ ตอน 2 ที่จะพูดถึงระดับการใช้นวัตกรรมการเกษตรในปัจจุบันของไทยเพื่อเพิ่มผลิตภาพ สร้างรายได้ลดความเหลื่อมล้ำโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพูดถึงความท้าทายข้างหน้าของการพัฒนาภาคเกษตรซึ่งเป็น “เสาหลักของชาติ” เป็นอาชีพดั้งเดิมของประชากรส่วนใหญ่ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก
โดย...
ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
พรชนก เทพขาม