การลงทุนในสถาบันคลังสมองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สถาบันคลังสมอง คืออะไร และเหตุใดเราจึงต้องลงทุน บทความนี้ จะอธิบายจากตัวอย่างความสำเร็จ ผลจากการเชื่อมโยงกันของสถาบันดังกล่าวในต่างประเทศ
ประสบการณ์จากการทำงานพัฒนาระหว่างประเทศที่ผ่านมาพบว่า นโยบายสาธารณะจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเป็นนโยบายที่ออกแบบและดำเนินการโดยคนทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับชาติหรือระดับภูมิภาค รวมไปถึงนโยบายระหว่างประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) นโยบายหรือโครงการที่เกิดจากความหวังดีของผู้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนามักจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและสภาพปัญหาในพื้นที่หากการดำเนินงานปราศจากข้อมูลและการวิเคราะห์โดยคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น หากปราศจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่คอยสอดส่องดูแลกระบวนการบริหารจัดการแล้ว โครงการที่ออกแบบและวางแผนมาเป็นอย่างดีก็อาจหลงทางและล้มเหลวได้
แม้ว่าหน่วยงานให้ทุนพัฒนาส่วนใหญ่ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติจะตระหนักดีว่าโครงการพัฒนาที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเป็นโครงการที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการนั้นๆ แต่ผู้ให้ทุนก็มิได้เลือกที่จะลงทุนกับองค์กรในประเทศเหล่านั้นเสมอไป แม้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะมีความสามารถทำงานวิจัยและวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นได้ตามความต้องการของผู้กำหนดนโยบายก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีตัวอย่างการลงทุนในลักษณะดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศต่างๆในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยในทวีปยุโรปที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในช่วงหลายทศวรรษหลังสงคราม ก็เกิดสถาบันวิจัยขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู และเอธิโอเปีย ประสบการณ์ในประเทศเหล่านี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าการลงทุนในสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อประเทศ แม้แต่ประเทศจีนก็มีการลงทุนอย่างมากกับสถาบันวิจัยที่เป็นสมองของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในปี 2527 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับทุนสนับสนุนการก่อตั้งเริ่มแรกรวมทั้งการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency: CIDA) นับตั้งแต่นั้นมาทีดีอาร์ไอก็ได้เติบโตจนเป็นสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทั้งยังได้ทำงานวิจัยเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวางนโยบายสาธารณะของประเทศ อาทิ งานวิจัยที่ว่าด้วยการเปิดเสรีการนำเข้าทองคำแท่งและการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทองรูปพรรณซึ่งนำไปสู่การเติบโตของตลาดการส่งออกทองรูปพรรณ งานวิจัยเรื่องการกระจายเสียงและโทรคมนาคมซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลสร้างความสมดุลและป้องกันการผูกขาดทางการตลาดในธุรกิจโทรทัศน์เคเบิ้ลและดาวเทียม งานวิจัยอื่นๆ รวมถึงการผลักดันให้มีระเบียบการประกันรถยนต์สาธารณะภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยอีกเท่าตัวจากวงเงินชดเชยจากการประกันภาคบังคับ และงานวิจัยว่าด้วยเรื่องพันธบัตรป่าไม้อันจะเป็นกลไกในการสร้างสมดุลเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์ป่า นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในการคัดค้านนโยบายที่ก่อความเสียหายต่อสังคม
ตัวอย่างความสำเร็จข้างต้นทำให้หน่วยงานให้ทุนพัฒนาที่มองการณ์ไกลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในปี 2551 เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ด้วยความเชื่อที่ว่าองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะ หรือ สถาบันคลังสมอง (think tanks) ที่เข้มแข็งจะสามารถช่วยและสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดีได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจึงก่อตั้งกลุ่ม the Think Tank Initiative (TTI) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน เพื่อให้การสนับสนุนสถาบันคลังสมองที่ทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะในประเทศต่างๆ ตั้งแต่แถบอาฟริกาตะวันออกและตะวันตก เอเชียใต้ และละตินอเมริกา
ในทศวรรษที่ผ่านมา TTI ได้ให้การสนับสนุนองค์กรคลังสมองที่ทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะถึง 43 องค์กรใน 20 ประเทศ ทั้งด้านเงินทุนและความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ผลงานในรอบสิบปีที่ผ่านมาก็คือองค์กรคลังสมองเหล่านั้นเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายสาธารณะที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้แก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ทำงานการพัฒนาในภาคส่วนต่าง เพราะนโยบายเหล่านั้นล้วนแต่อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ลำเอียง
ทุนสนับสนุนจาก TTI นี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างและทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ทั้งยังช่วยให้องค์กรคลังสมองเหล่านั้นสามารถวางแผนการดำเนินงานวิจัยสาธารณะในระยะยาว โดยเฉพาะอิสระในการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและสร้างศักยภาพของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมถึงโอกาสในการทำงานวิจัยที่ตอบสนองโดยตรงต่อความต้องการของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร ตัวอย่างของนโยบายสาธารณะที่ดีและส่งผลต่อการพัฒนาประชากรมีหลากหลาย อาทิ การให้ความรู้ความเข้าใจสาธารณะในเรื่องรูปแบบการเลือกตั้งในประเทศกัวเตมาลา เอกวาดอร์ และเปรู (Guatemala, Ecuador, Peru) รวมถึงการปรับปรุงนโยบายและโครงการควบคุมยาสูบในอาฟริกาตะวันตก (tobacco control in West Africa) การใช้ปุ๋ยในอาฟริกาตะวันออก (fertilizer use in East Africa) ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายการใช้พลังงานทดแทนในระดับรัฐของประเทศอินเดีย (renewable energy policy at the state level in India)
นอกจากเงินทุนสนับสนุนหลักแล้ว TTI ยังอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือขององค์กรคลังสมองในระดับสากลอีกด้วย หนึ่งในความร่วมมือที่โดดเด่นมากคณะหนึ่งคือกลุ่มSouthern Voice ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรคลังสมองจากประเทศต่างๆรวม49 องค์กร ที่มีบทบาทเป็นเวทีเปิดเพื่อให้มีการส่งผ่าน แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยนโยบายสาธารณะในแถบประเทศซีกโลกใต้เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561 นี้ ตัวแทนองค์กรคลังสมอง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้การสนับสนุน ทุนวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนโยบายสาธารณะกว่า 200 คน จะมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนในงาน Think Tank Initiative Exchange ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของ TTI ที่ก่อตั้งมาเกือบสิบปี เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามและจะเป็นครั้งสุดท้ายนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงวิสัยทัศน์ อภิปรายถึงแผนการ และการเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อนึ่ง จากประสบการณ์ของประเทศไทยที่ต้องรับมือกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปิดการค้าเสรีในช่วงปี 2530 ความพยายามในการยกเลิกกฎระเบียบว่าด้วยโทรคมนาคม และปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งทีดีอาร์ไอ มีบทบาทและส่วนร่วมสำคัญในนำเสนอแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น ทำให้กรุงเทพฯ เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นสถานที่จัดเวทีเสวนาในครั้งนี้
ไม่ว่าผลการเสวนาจะเป็นอย่างไร ความจำเป็นที่ประเทศต่างๆต้องมีสถาบันวิจัยสาธารณะก็เหมือนกับความจำเป็นของประเทศไทยในตอนที่ก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ยิ่งกว่านั้นในอนาคต สังคมทั่วโลกจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพของประชากร ตลอดจนการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ความต้องการข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์จากการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่านโยบายสาธารณะใดที่สามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผล จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ในฐานะตัวกลางที่จะช่วยประสานภาครัฐและภาคประชาชนให้เข้าใจประเด็นท้าทายเหล่านี้ สถาบันคลังสมองจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการเร่งสร้างความเจริญของสังคมให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ตาม สถาบันคลังสมองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตงานวิจัยนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในสังคม การจัดเวทีสาธารณะเพื่อเสวนาด้านนโยบาย ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้ากับทุกฝ่าย ในฐานะที่สถาบันคลังสมองและภาคส่วนต่างๆของสังคมต่างมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันคลังสมองจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแสวงหาวิธีการพัฒนาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศของตนเพื่อให้สามารถเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
โดย...
แอนดรู เฮิสน์ Think Tank Initiative แคนาดา
นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย