อยาก ‘Agile’ หรือ ‘กระจาย’ เลือกเอา!
Business ต้อง Transform!
People ต้อง Transform!!
องค์กร ต้อง Agile!!!
ช่วงนี้เดินเข้าไปในองค์กรแถวหน้าของเมืองไทย มักได้ยินคำฮิตเหล่านี้!!!!
ทุกวันนี้เรากำลังบริหารธุรกิจแบบกระแสโลกพาไป เพราะโลกเปลี่ยนไปเราจึงต้องเปลี่ยนแปลง จริงหรือไม่?
มีผลงานวิจัยมากมายที่ออกมาบอกว่า การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ความคล่องตัว (Agility) ถือเป็นอาวุธลับที่ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเพื่อเข้ากับตลาดและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีหลักฐานอีกมากมายที่ยืนยันว่า องค์กรที่ Agile สามารถอยู่รอดและมีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่า
ต้องออกตัวว่าดิฉันมาทางสายผู้นำและวัฒนธรรมองค์กร วันนี้จึงขอมอง “Agile” ในมุมมองของผู้นำกับวัฒนธรรมองค์กร ผ่านรูปแบบวิถีชีวิตของคนในองค์กรมากกว่า การปรับกลยุทธ์ โครงสร้าง กระบวนการทำงาน และเทคโนโลยี
จริง ๆ แล้วอยากชวนถอยกลับมาคิดถึงวิถีชีวิต การดำรงอยู่ขององค์กร หากคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กรจะบอกว่าเป้าหมายสำคัญที่องค์กรดำเนินอยู่คือเพื่อ “อยู่รอด” และ “เติบโต”
แล้วคนในองค์กรล่ะ เขามาอยู่กับองค์กรเพื่ออะไร ดูแล้วเป้าหมายไม่ต่างกันเลย “อยู่รอด” และ “เติบโต”
เมื่อผู้นำสามารถทำให้เป้าหมายขององค์กรกับคนในองค์กร Align กัน การพาองค์กรให้ Agile เกิดความคล่องแคล่วคงทำได้ง่ายขึ้น ในทางตรงข้ามหากเป้าหมายขององค์กรและคนในองค์กรไม่ Align เมื่อนั้นความกระจายจะเกิดขึ้น
คุณลักษณะขององค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Agile เป็นอย่างไร
1. คนเข้าใจองค์รวมขององค์กร
องค์กรที่ Agile: สร้างวัฒนธรรมที่พนักงานทุกคนเห็นความสำคัญต่อองค์รวม มีเป้าหมายเดียวกัน รู้ว่าความคิด การกระทำของตนเองส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร ทีมที่ Agile ทุกคนทำงานเหมือน Mini Start Up ที่คนเข้ามาทำทุกอย่างรวมถึงประสานความร่วมมือเพื่อให้ภาพรวมสำเร็จ พนักงานทั่วทั้งองค์กรมีความเป็นผู้นำตนเอง (Self-Leadership) ไม่ว่าจะเขาจะอยู่บทบาทไหน ตำแหน่งอะไรก็ตาม
องค์กรที่กระจาย: แม้จะมีคนเก่งเยอะ แต่องค์กรไม่ได้เก่งตาม เน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนใดคนหนึ่ง หรือส่วนงานใดส่วนงานหนึ่งเท่านั้น ทำงานแบบ Silo ขาดการประสานความร่วมมือ สนใจเพียงทำงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบให้ “เสร็จ” แต่ไม่ได้ใส่ใจว่าเป้าหมายรวมขององค์กรว่า “สำเร็จ” หรือไม่
2. ผู้นำคือตัวเร่งปฏิกิริยาความสำเร็จ
องค์กรที่ Agile: ผู้นำต้องเข้าใจว่ากระบวนการไปสู่ความสำเร็จนั้นเปลี่ยนไป ความสำเร็จต่อไปนี้ เกิดจากการสั่งสมความรู้ทีละเล็กทีละน้อย ทั้งเรียนรู้ผ่านความสำเร็จและผ่านความล้มเหลว ผู้นำเร่งปฏิกิริยาไปสู่เป้าหมายองค์กรด้วยการสร้างแรงบันดาลใจไปถึงคนทุกคนในองค์กรทั้งในวันที่สำเร็จและล้มเหลว แล้วเปลี่ยนมันให้กลายเป็นจุดได้เปรียบ
องค์กรที่กระจาย: ผู้นำเข้าใจว่าความสำเร็จเกิดจากการดำเนินงานตามมาสเตอร์แพลนที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญรอยตามความสำเร็จที่ถูกทดสอบมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ร่วมถึงเชื่อในการเดินตาม Best Practice ว่าเป็นเส้นทางไปสู่ความสำเร็จที่วางไว้
3. เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากลงมือทำ
องค์กรที่ Agile: ผู้นำต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเผชิญกับความซับซ้อนที่ไม่มีสูตรสำเร็จ การสำเร็จทางธุรกิจเกิดจากการลองลงมือทำ นำกลับมาวิเคราะห์ ปรับ ทดลองใหม่ ซ้ำไปซ้ำมา อีกทั้งแบ่งงานสำคัญชิ้นใหญ่ ให้เป็นชิ้นย่อย ๆ เพื่อให้พนักงานได้ทดลอง มีประสบการณ์ได้ฉลองความสำเร็จระยะสั้น พัฒนาเพิ่มแล้วไปต่อ หากล้มเหลวก็มีระบบสื่อสารเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน เอาประสบการณ์นั้นมาแก้ไขแล้วไปต่อ
องค์กรที่กระจาย: ความล้มเหลวเป็นสิ่งน่ากลัว ถูกมองเป็นประสบการณ์ลบ เมื่อล้มเหลว ก็ไม่อยากคิด ไม่อยากลอง ส่งผลให้ขาดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้ช้า
นี่เป็นเพียงตัวอย่างคุณลักษณะองค์กรที่วัฒนธรรม Agile เท่านั้น ในความเป็นจริง องค์กรหนึ่งอาจมีคุณสมบัติมากหรือน้อยกว่านี้แตกต่างกันไป แต่ประเด็นสำคัญคือทุกส่วนในองค์กรต้องประสานสัมพันธ์ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดวัฒนธรรม Agile จึงจะนำมาซึ่งความ “อยู่รอด” และ “เติบโต” ในยุคที่อนาคตมีความไม่แน่นอน