ทำไมสิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางฟินเทคโลก

ทำไมสิงคโปร์จะเป็นศูนย์กลางฟินเทคโลก

แม้ปัจจุบันสิงคโปร์จะติด 5 อันดับแรกของการจัดอันดับทุกสถาบันอยู่แล้ว แต่จุดเด่นของสิงคโปร์ที่มีดีกว่าชาติอื่นนั่นคือผู้เกี่ยวข้องใน Fintech

ผมเพิ่งกลับมาจากงาน Singapore Fintech Festival2018 กล่าวโดยสรุปสั้นๆได้ว่าเป็นงานระดับโลกอย่างแท้จริง เพราะมีแขกรับเชิญมาจากทั่วทุกทวีปของโลกไม่ว่าจะเป็นตัวแทนฟินเทคและรัฐบาลของประเทศในยุโรป อเมริกา หลังจากผมกลับมาประเทศไทยแล้วยังมีนายกรัฐมนตรีแคานาดาคนดัง จัสติน ทรูโด เข้ามาร่วมงานอีกด้วย ไม่นับสเกลการจัดงานที่ใช้ถึง 4 ฮอลใหญ่ ซึ่งทำให้มีขนาดการจัดงานใหญ่กว่าฮ่องกงถึง 4 เท่า

เห็นฟินเทคและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอย่างสถาบันการเงินบริษัทเทคโนโลยี หน่วยงานกำกับดูแล ฯลฯ ที่มาออกบูธในงานทำให้ผมมั่นใจได้ว่าสิงคโปร์จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางฟินเทคของโลกได้ในอนาคต แม้ปัจจุบันสิงคโปร์จะติด 5 อันดับแรกของการจัดอันดับทุกสถาบันอยู่แล้ว แต่จุดเด่นของสิงคโปร์ที่มีดีกว่าชาติอื่นนั่นคือผู้เกี่ยวข้องใน Fintech Ecosystem ของเขาต่างดำเนินไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นระบบระเบียบตามสไตล์ของคนสิงคโปร์ 

เริ่มจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง MAS (หน่วยงานกำกับดูแลทั้งตลาดเงินและตลาดทุนของสิงคโปร์) เป็นหัวแรงใหญ่ในการจัดงานครั้งนี้ด้วยตัวเอง (แต่กลับมีบูธเป็นคีออสเล็กๆในงานเท่านั้น) และดึงธนาคารใหญ่ๆอย่าง DBS,UOB,OCBC เข้ามาออกบูธในงาน ซึ่งธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้ Aggressive ในเรื่องฟินเทคอย่างมาก ทั้งการลงทุนพัฒนาโปรดักต์เองและการทำงานร่วมกับฟินเทค 

แอคชั่นที่สะท้อนวิธีคิดและค่านิยมของ MAS ได้ชัดเจนที่สุดคือการตัดสินใจ (ยัง) ไม่ออกการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลออกมาเพราะเขาอยากจะประคองจุดสมดุลย์ระหว่างการกำกับดูแลและการส่งเสริมเทคโนโลยีในเวลาเดียวกัน หากมีการออกกฎหมายออกมาอาจทำให้อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของเขาต้องชะงัก (สิงคโปร์มีมูลค่าระดมทุนใน ICO สูงที่สุดในปี 2018 นี้) โดยเลือกที่จะใช้กฎหมายด้านป้องกันการฟอกเงินเข้ามาควบคุมดูแลการระดมทุน ICO แทน ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกงอย่าง SFC ได้เลือกแนวทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างใกล้ชิด

ถ้าจะพูดแบบบ้านๆคือ ทางการสิงคโปร์ “แกล้งไม่รู้ไม่ชี้” ว่ามีคนทั่วโลกเข้ามาระดมทุน ICO ในประเทศเขาจำนวนมาก เพราะต้องการให้ตัวเองก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็แอบชำเลืองมองอยู่ห่างๆ 

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) ยังเป็นผู้นำในการนำBlockchain มาใช้ในอุตสาหกรรมการลงทุน อย่างที่ผมไปเห็นมาคือตลาดซื้อขายตราสารหนี้โดยใช้  Blockchain เพื่อลดค่าธรรมเนียมและเปิดทางให้รายย่อยสามารถเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น

ขณะที่ฟินเทคที่มาออกบูธในงาน แม้จะมีสัญชาติสิงคโปร์แต่ประกอบไปด้วยบุคลากรที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งยุโรปและสหรัฐฯรวมถึงในเอเชียเองที่ตัดสินใจเข้ามาจดทะเบียนธุรกิจในเกาะเล็กๆแห่งนี้ด้วยเหตุผลที่คล้ายกันคือความยืดหยุ่น ความสะดวกสบาย และนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ อาจเป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐเป็นหลัก (โชคดีมากที่ข้าราชการของเขาหัวก้าวหน้า) แทบไม่เห็นการใช้อำนาจทางตลาดของผู้เล่นรายใหญ่เข้ามามีอิทธิพลควบคุมตลาดมากนัก (เห็นได้ชัดจากกรณีสั่งปรับ Grab ที่ไปรวมกิจการกับ Uber ทำให้เป็นผู้ครองตลาดเรียกรถออนไลน์เพียงรายเดียว) ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพไม่ถูกผู้เล่นรายใหญ่รบกวนมากนัก ต่างจากฮ่องกงที่ยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้เล่นรายใหญ่

เห็นศักยภาพของสิงคโปร์ในด้านการพัฒนาฟินเทคแล้ว อนาคตศูนย์กลางทางการเงินอันดับหนึ่งของโลกคงไม่ไกลจากเรามากนัก นั่งเครื่องบินไปสองชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว แล้วไทยเราจะมีจุดยืนในด้านไหนดี?