ทิศทางการเมืองสหรัฐฯหลังผลเลือกตั้งกลางเทอม

ทิศทางการเมืองสหรัฐฯหลังผลเลือกตั้งกลางเทอม

I. การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ:

มีขึ้นเมื่อวาระประธานาธิบดีแต่ละสมัยมาถึงครึ่งทางคือประมาณ2ปีจากวาระ4ปี โดยในปีนี้เป็นการชิงเก้าอี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งหมด 435 ที่นั่ง สมาชิกวุฒิสภา 35 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง และผู้ว่าการรัฐ 36 จากทั้งหมด 50 ตำแหน่ง โดยการครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาต้องได้51ที่นั่ง และสภาผู้แทนราษฎรต้องมี 218 ที่นั่ง

II. ผลการเลือกตั้งพฤศจิกายน:

พรรคเดโมแครตพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยคว้าเก้าอี้ ส.. ไป 233 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 38 ที่นั่ง และเพิ่มความสามารถในการผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ การตรวจสอบรวมถึงการถ่วงดุลอำนาจ รัฐบาลทรัมป์ได้มากขึ้น อีกชัยชนะของพรรคเดโมแครตมาจากการคว้าเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐ 23 ที่นั่ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 ที่นั่ง ส่วนพรรครีพับลิกันยังครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาโดยคว้าเก้าอี้ ส.. ไป 52 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 2 ที่นั่ง ถึงแม้ผลการนับคะแนนในบางพื้นที่ยังไม่สิ้นสุด แต่บทสรุปการเลือกตั้งพอมองออกผ่านข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้

1. พรรคเดโมแครตมีชัยชนะในเขตเมืองแต่ยังไม่สามารถเจาะไปยังเขตชนบท ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายังไม่สามารถซื้อใจ คนใช้แรงงานได้

2. พรรครีพับลิกันมีความเป็นพรรคของทรัมป์ (Trumpism) มากขึ้นด้วยการเกษียณอายุและการพ่ายแพ้ของ ส..และ ส..ที่มีความเป็นกลางหรือกล้าวิจารณ์ทรัมป์

3. กระแสต่อต้านฝ่ายซ้าย (Anti-left) ยังมีชัยชนะเหนือ กระแสต่อต้านทรัมป์ (Anti-trump)โดยการเมืองสหรัฐฯยังไม่พร้อมรับ นโยบายก้าวหน้า (Progressive agenda) ที่ไม่อิงกระแสพรรค ซึ่งพิจารณาได้ จากความพ่ายแพ้ของ ผู้สมัครหัวก้าวหน้าพรรคเดโมแครตเกือบทุกรายที่มีกระแสนิยมก่อนการเลือกตั้ง แต่ในทางกลับ ผู้สมัครพรรครีพับลิกันที่มีกระแสเชิงลบส่วนใหญ่ยังคงรักษาที่นั่งไว้ได้

4. ควันหลงการแต่งตั้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯของ เบรตต์ คาวานอห์ อาจเป็นสาเหตุที่พรรคเดโมแครตเสียที่นั่งในวุฒิสภา เพราะ ส.. เดโมแครต ที่ปฏิเสธการสนับสนุน นายคาวานอห์ และอยู่ในพื้นที่มีการแข่งขันสูง ต่างเสียที่นั่งให้กับผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันทั้งหมด

5. การเลือกตั้งกลางเทอมเป็นชัยชนะสำคัญสำหรับผู้หญิง ซึ่งจากเดิมรัฐสภาสหรัฐฯมีสมาชิกหญิงของทั้ง2สภารวมกัน 107 ที่นั่ง แต่ผลล่าสุดมีถึง 124 ที่นั่งซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่การเมืองสหรัฐฯ

6. ผลการเลือกตั้งกลางเทอมยังไม่สามารถชี้ชะตารัฐบาลทรัมป์ในปี 2563 ได้ แต่การใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึงเกือบ 50% แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นและน่าจะเป็นผลดีต่อพรรคเดโมแครตที่วางฐานเสียงกับคนรุ่นใหม่เพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป

III. ผลกระทบต่อนโยบายทรัมป์:

1. นโยบายต่างประเทศสหรัฐฯกับพันธมิตรตะวันตกน่าจะกลับมาใกล้เคียงกรอบเดิม แต่นโยบายการค้ากับจีนจะไม่แตกต่างมากนัก เพราะ โดยตำแหน่งประธานาธิบดี มีอำนาจบริหารด้านนโยบายการค้าโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ยิ่งไปกว่านั้น พรรครีพับลิกันและเดโมแครตมีมุมมองด้านการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาต่อจีนที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นความเสี่ยงของสงครามทางการค้าจะคงอยู่เช่นเดิม

2. การครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเดโมแครตอาจทำให้ทรัมป์ใช้กำลังทางการทหารแทรกแซงจุดเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกเพื่อสร้างภาพความเข้มแข็งและชดเชยอำนาจที่สูญเสียไป

3. ความแตกแยกในรัฐสภา จากการแบ่งอำนาจสภากับพรรคเดโมแครตอาจส่งผลให้รูปแบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯดูอ่อนแอลงไปในเวทีโลกเมื่อเทียบกับระบอบทุนนิยมโดยรัฐ ของจีน

4. ตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปตอบรับการคานอำนาจของพรรคเดโมแครต ส่วนเอเชียยังเห็นภาพไม่ชัด แต่หากมองย้อนอดีตจะพบว่า การคานอำนาจในสภาส่งผลบวกให้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะเมื่อพรรครัฐบาลไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ การเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ที่ตลาดมักมองเป็นความไม่แน่นอนจะทำได้ยาก

5. นโยบายการคลังและการเงินของสหรัฐฯจะไม่เปลี่ยนแปลง พรรครีพับลิกัน คงไม่สามารถลดเพดานภาษีเพิ่มได้ นโยบายทางการคลังที่จะดันอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯขึ้นคงจะไม่ผ่านง่ายๆเช่นกัน แต่หากการคานอำนาจนำไปสู่การติดขัดเชิงนโยบายจนหาทางออกไม่ได้ ก็จะสร้างความเสียหายเช่นกรณี การปรับเพดานหนี้สาธารณะ ปี 2554 ที่ทำให้ หลายส่วนงานภาครัฐต้องปิดการบริการซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯโดนปรับลำดับความน่าเชื่อถือลง

6. การเลือกตั้งครั้งนี้ชี้ให้เห็นแนวโน้มโครงสร้างประชากรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรวมถึงตัวผู้สมัครเองที่เปลี่ยนไปโดย คนรุ่นใหม่ ผู้หญิง และ คนกลุ่มน้อย มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งผมจะไม่แปลกใจหาก ทรัมป์ จะเปลี่ยน ผู้ร่วมหาเสียง (Running mate) ซึ่ง คือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ที่เป็นผู้หญิง แทน ไมก์ เพนซ์ ในการเลือกตั้งปี 2563

ข้อสังเกตข้างต้น แสดงให้เห็นว่าการเมืองสหรัฐฯมีผลกระทบโดยตรงกับภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก ซึ่งสถานการณ์จากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งปี 2563 จะเข้มข้นและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง