ผู้นำ 2019
“สวัสดีปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง”
สุขภาพแข็งแรงกับพรปีใหม่ เป็นสิ่งที่เราได้ยินมาช้านาน กล่าวคือ ของขวัญอันแสนพิเศษไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนคือการมีสุขภาพดี
William Fanter ผู้บริหารจาก US Bank ได้โพสต์ข้อความลงใน LinkedIn ส่วนตัวของเขาเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมาว่า “แทนที่จะมานั่งตั้งปณิธานปีใหม่ เราลองเปลี่ยนมามุ่งมั่นที่จะทำให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้น ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 10 ปี ที่ผมตัดสินใจมุ่งมั่น ใส่ใจกับสุขภาพตัวเองก่อนสิ่งอื่นใด เพราะผมเชื่อว่าการที่ผมมีสุขภาพที่ดีมันจะช่วยให้ผมสามารถดูแลคนอื่นรอบตัวทั้ง เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้ดีขึ้น ผ่านมา 10 ปี ผมพบว่าผมสามารถให้การสนับสนุนคนอื่นได้มากขึ้นถึง 10 เท่า คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อผม แต่ผมอยากให้คุณลองพิสูจน์ด้วยตัวคุณเอง…สวัสดีปีใหม่ครับ”
การศึกษาพบว่า ผู้นำองค์กรในโลกปัจจุบันเครียดมากกว่าผู้นำองค์กรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีจึงยิ่งทวีความสำคัญสำหรับผู้นำทุกรุ่นทุกวัยในยุคนี้
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ก็เป็นตัวเร่งให้ผู้นำทุกรุ่นทุกวัยให้ความสนใจกับสุขภาพ การเติบโตของธุรกิจสมาร์ทวอทช์ นาฬิกาข้อมือที่เป็นมากกว่าบอกเวลา มาพร้อมฟังก์ชัน เก็บข้อมูล วัดการเต้นของหัวใจ วัดกิจกรรมการออกกำลังกายต่าง ๆ ได้ ออกแบบมาเพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องง่ายและสนุก
ทุกวันนี้บอกเลย ดิฉันเจอลูกค้าที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในงานวิ่งและใน Strava แอพออกกำลังกายบ่อยกว่านัดประชุมอย่างเป็นทางการเสียอีก
ยิ่งกว่านั้น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออกมาเผยว่า องค์กรใดให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและนำเรื่องสุขภาพมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์และวัฒนธรรมองค์กร (Culture of Health) ถือได้ว่าองค์กรนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบทางธุรกิจในยุคนี้
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นสุขภาพ จึงเป็นเทรนด์ที่ผู้นำ 2019 ไม่ควรพลาด จะสร้างองค์กรที่มีสุขภาพดี ผู้นำต้องมีสุขภาพดีก่อนในฐานะต้นแบบ เพราะผู้นำที่แข็งแรงจะนำพาองค์กรให้แข็งแรง สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
ผู้นำ 2019 จึงเป็นผู้นำที่ใส่ใจต่อการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่ได้แปลว่าผู้บริหารจะต้องมาอดทนอยู่บนลู่วิ่งเป็นชั่วโมง หรือยกเลิกปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อน แต่หมายถึงการสร้างความสมดุลของงานและสุขภาพ ใช้ชีวิตให้ช้าลง กินอาหารขยะให้น้อยลง ออกกำลังกายมากขึ้น กินให้ดีขึ้น
5 ขั้นตอนง่าย ๆ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้นำ 2019
1. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ท้าทายตัวเองสักนิดว่าปีนี้ต้องจบงานวิ่งสักงานเริ่มจาก 10 กม. หรือฮาล์ฟมาราธอน 21 กม.แรกในชีวิต
2. ลงมือทำ ลงทะเบียนสมัครลงรายการวิ่ง สมัครอย่างเดียวไม่พอ อย่าลืมก้าวขาออกมาซ้อมวิ่ง วันละ 3 กม. 5 กม. เริ่มจากวิ่งในหมู่บ้านก่อน เพราะถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ทำได้ง่ายที่สุด แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง
3. หมั่นทบทวน การใช้แอพติดตามการวิ่งช่วยให้เราทบทวนตัวเองได้ง่ายขึ้น วิ่งเร็วไปหรือช้าไป หัวใจฟิตไหม คราวหน้าจะวิ่งอย่างไร วางแผนการกินอย่างไรให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้คุณอาจหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านหนังสือหรือติดตามแฟนเพจวิ่งต่าง ๆ
4. ทำจนเป็นนิสัย ในแต่ละวันมีข้อแม้มากมายที่ทำให้เราหยุดซ้อม เช่น งานยุ่ง ฝนตก ติดประชุม อย่าปล่อยให้ข้ออ้างเหล่านี้มาทำให้เราไม่พร้อมที่จะทำพฤติกรรมใหม่ หากมุ่งมั่นผ่านจุดนี้ไปได้ วันใดก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่าหากวันนี้ไม่ได้ออกไปซ้อมวิ่ง มันจะหงุดหงิดเหมือนชีวิตขาดอะไรไป และเริ่มสนุกกับการวิ่ง เมื่อนั้นแปลว่าพฤติกรรมใหม่นี้กลายเป็นนิสัยใหม่ของคุณไปแล้ว
5. ขยายความสำเร็จ เมื่อจบระยะฮาล์ฟมาราธอนได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ก็ขยายไปตั้งเป้าที่ท้าทายขึ้นในปีหน้า เช่นรายการฟูลมาราธอน 42 กม. ต่อไป