“คนไทย”...อ่านน้อย “คนจีน”...ยิ่งอ่าน...ยิ่งสำเร็จ
สำนักข่าว South China Morning Post สำนักข่าวชื่อดังของฮ่องกงได้ลงบทความเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคนจีน ที่เปลี่ยนไป
ในช่วงปี 2008 ถึงปี 2018 โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจและควรนำมาปรับใช้กับบ้านเรา ผมจึงได้นำเอาข้อมูลจากกระทรวงดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ของคนไทยมาเปรียบเทียบ โดยมีมุมมองและแง่คิดดังนี้ครับ
หนึ่ง คนจีนดูทีวีน้อยลง ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น
ข้อมูลระหว่างปี 2008 – 2018 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนพบว่า คนจีนทำงานยาวขึ้น โดยในปี 2008 ผู้ชายจีนทำงาน 6 ชั่วโมง 26 นาที พอมาปี 2018 ผู้ชายจีนทำงาน 7 ชั่วโมง 52 นาที คิดเป็นทำงานเพิ่มขึ้นถึง 1 ชั่วโมง 26 นาที ในขณะที่ผู้หญิงทำงานเพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง 20 นาที ตัวเลขแสดงให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วงในปี 2018 โดยเฉพาะจากสงครามการค้าอเมริกา-จีนที่ยืดเยื้อ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก สิ่งเหล่านี้จึงน่าจะเป็นสาเหตุให้คนจีนต้องขยันขึ้นดังภาพด้านล่าง
ในขณะเดียวกันพบว่า คนจีนดูทีวีลดลงโดยในปี 2008 เวลาในการดูทีวีอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 6 นาที แต่ในปี 2018 กลับเหลือเพียง 1 ชั่วโมง 40 นาที หรือลดลงถึง 26 นาที แต่สิ่งที่น่าแปลกใจมากไปกว่านั้นก็คือ เวลาที่ใช้กับใช้อินเทอร์เน็ตกลับเพิ่มขึ้นอย่างสูงลิ่ว โดยพบว่าในปี 2008 เวลาใช้อินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์เฉลี่ยอยู่ที่ 14 นาที พอมาปี 2018 พบว่าอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 28 นาที หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นสูงถึง 2 ชั่วโมง 14 นาที หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นสูงถึงเกือบ 1,000% ทีเดียว สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่างจีน ประชาชนกำลังใช้เวลาไปกับออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในขณะที่การดูทีวีกำลังจะกลายเป็นสื่อล้าสมัยที่นับวันจะถดถอยลง
สอง คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าจีน...แบบไม่เห็นฝุ่น
ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพบว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยถึงวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที คิดเป็น 42% ของชีวิตในแต่ละวันเลยทีเดียว (คนจีนใช้แค่ 2 ชั่วโมง 14 นาที) โดยแบ่งออกเป็นช่วงวัย ดังนี้ Gen Z (อายุน้อยกว่า 18 ปี) ใช้ 10 ชั่วโมง 22 นาที Gen Y (อายุ 18-37 ปี) ใช้ 10 ชั่วโมง 22 นาที Gen X (38-53 ปี) ใช้ 8 ชั่วโมง 25 นาที และ Baby Boomer (54-72 ปี) ใช้ 8 ชั่วโมง 21 นาที เท่านี้ยังไม่พอในช่วงวันหยุดยังมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากเดิมไปอีก 5 นาทีจนถึง 90 นาที คิดแล้วคนไทยใช้เวลาเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์
โดยแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่คนไทยใช้มากที่สุดสามารถจำแนกคร่าวๆได้ดังนี้ครับ ถ้าเป็นคนไทยที่อายุมากหน่อย (40 – 70ปี) มักจะชอบใช้แพลตฟอร์มตามลำดับดังนี้ 1.Line, 2.YouTube, 3.Facebook, 4.Messenger และ 5.Pantip แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นไทยถึงระดับคนทำงานบางส่วนโดยมีช่วงอายุประมาณ 10 – 40 ปี แพลตฟอร์มที่ใช้ตามลำดับจะเป็นดังนี้ 1.YouTube, 2.Line, 3.Facebook, 4.Messenger และ 5.Instagram
สาม “คนไทย”...อ่านน้อย “คนจีน”...ยิ่งอ่าน...ยิ่งสำเร็จ
เนื่องจากผมไม่สามารถหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการอ่านหนังสือของคนไทยได้ ผมจึงขออนุญาตวิเคราะห์ผ่านประเภทการใช้สื่อออนไลน์ของคนไทย เพื่อดูว่า... “คนไทยอ่านหนังสือมากไหม?”
จากข้อมูลข้างต้น เราสามารถวิเคราะห์จากพฤติกรรมออนไลน์ได้ไม่ยากนัก เช่น ผู้สูงอายุในหลายๆบ้าน ชอบส่งรูป “วันนี้...วันพระ” หรือ “วันอาทิตย์...วันดี” ส่งผ่านไลน์ไปให้ญาติมิตรอยู่เป็นเนืองนิจ โดยคนแก่ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเหงาและต้องการเพื่อนออนไลน์ ดังนั้นไลน์จึงตอบโจทย์ในข้อนี้ ในขณะที่สื่อออนไลน์อย่าง Pantip ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ของไทยที่มีอิทธิพลมากที่สุด และทำให้คนไทยได้อ่านหนังสือกันมากขึ้น ยังคงเฟื่องฟูกับคนไทยในยุคอายุ 40 ปีขึ้นไป
ในขณะที่คนไทยวัยรุ่นและวัยทำงานที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี YouTube มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย Line, Facebook และ Instagram จากสื่อออนไลน์เหล่านี้ทำให้พอวิเคราะห์ได้ว่า นอกเหนือจากการติดต่อกับผู้คนภายนอกผ่านสื่อออนไลน์แล้ว การหาความสุขของคนกลุ่มนี้จะมาจากการดูคลิปวีดี...การดูรูปภาพ...ซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความสนใจมากกว่าการอ่าน ในขณะที่ Pantip หนึ่งในสื่อออนไลน์ที่ทำให้คนไทยได้อ่านหนังสือมากที่สุด กลับไม่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้เลย พร้อมๆกับ...การมองเห็นภาพการอ่านหนังสือที่ลดลงของ...คนรุ่นใหม่
ในขณะที่จีนแตกต่างกัน ในปี 2018 คนจีนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 8 นาทีเมื่อเทียบกับปี 2018 ที่น่าแปลกใจมากไปกว่านั้นคือ คนจีนที่มีนิสัยการอ่านเฉลี่ย 20 นาทีต่อวัน พบว่าสามารถหารายได้ได้มากกว่า 10,000 หยวน (ประมาณ 46,000 บาท) ต่อเดือน ในขณะที่คนจีนที่มีนิสัยการอ่านเฉลี่ย 6 นาทีต่อเดือน พบว่าสามารถหารายได้ได้น้อยกว่า 2,000 หยวน (9,200 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น สิ่งเหล่านี้...อาจจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า ประเทศไทยอาจจะต้องส่งเสริมการอ่านให้แพร่หลายมากกว่าทุกวันนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว...ประเทศไทยอาจจะตกอันดับจากหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งไปเลยก็เป็นได้
หาอ่านบทความ และความรู้ด้านการลงทุนของผู้เขียนได้เพิ่มเติมได้ที่ www.doctorwe.com