วอลุ่มตลาดเบาบาง รอจัดตั้งรัฐบาลใหม่
หลังพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค มองว่าพรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยจะขาดแนวร่วมการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่ออ้างอิงกับเนชั่นโพลล์ ที่เสนอมาว่าพรรคเพื่อไทยคาดว่าจะได้ ส.ส.136 เขต ส่วนพรรคพลังประชารัฐคาดว่าจะได้ 62 เขต และประชาธิปัตย์คาดจะได้ ส.ส. 88 เขตซึ่งเราประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งนี้และเรามองว่าว่าประชาธิปัตย์น่าจะมีจริตที่เข้ากันกับพรรคพลังประชารัฐมากกว่า
ด้านผลกระทบต่อตลาดทุน fund flow ล่าสุดต่างชาติขายสุทธิไป 1.35 หมื่นล้านบาท YTD เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นลดความเสี่ยงไปบ้างแล้วขณะที่ก่อนถึงวันเลือกตั้งเราประเมินว่านักลงทุนในกลุ่มนี้จะยังคงชะลอการลงุนเพื่อรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลส่วน SET เมื่อวานหลังมีข่าวยุบพรรคไปตลาดบวกขึ้นมาเล็กน้อยเป็นไปตามที่ตลาดคาดโดยเราเชื่อว่าตลาดเอนเอียงให้น้ำหนักกับทางคุณประยุทธ์มากกว่าเพื่อให้สานต่อโครงการจากภาครัฐที่มีการดำเนินการค่อนข้างเร็วเช่นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าต่างๆ
และล่าสุด 14 มี.ค. มีการแถลงนโยบายจากพรรคพลังประชารัฐที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ในแง่ความเป็นประชานิยมจากการผลักดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท เงินเดือนเด็กจบใหม่ 20,000 บาท และยกเว้นภาษี 5 ปี ขณะที่ลดภาษี 10% บุคคลธรรมดารายได้ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อปี โดยดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคมองว่า “เมื่อรายได้ประชาชนเพิ่มรายได้ประเทศก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย โดยรายได้ประเทศจะสร้างเศรษฐกิจในทุกด้านอย่างยั่งยืน”
แน่นอนผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นปัจจัยลบในทุกภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่ม SME ทั้งขนาดกลางและเล็ก ที่เราอาจจะเห็นมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเช่น การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอย่าง โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า หรือสาขาอาชีพภาคบริการ นอกจากนี้แนวโน้มแผนการย้ายฐานการผลิตที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ชะลอตัวลงและอาจจะไปตั้งการผลิตที่เวียดนามแทนเนื่องจากค่าแรงยังถูกและขนส่งไปจีนได้ง่ายกว่าไทย
เมื่ออิงกับผลวิจัยจาก TDRI หลังขึ้นค่าแรง 300 บาทสมัยคุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่าผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเกษตรกรรมและกลุ่มก่อสร้าง และส่งผลกระทบเชิงลต่อความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของประเทศ รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แรงงานไทยเสี่ยงตกงาน และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่มีมติกนง. ที่เอกฉันท์ 7-0 เสียงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ surprise ตลาดเรื่องมติเอกฉันท์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากมติครั้งก่อน (6 กุมภาพันธ์) ที่สำคัญคือการไม่ได้กล่าวถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรองรบัวิกฤตครั้งต่อไป (Policy space) ต่างจากท่าทีตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน 2018 เป็นต้นมาที่จะมีกรรมการบางท่านให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ และความเห็นต่อพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น (Search-for-yield behavior) เปลี่ยนไป โดยมีการมองว่าระบบการเงินที่ดำเนินการอยู่และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ ยนโยบายที่ผ่านมาจะลดพฤติกรรมดังกล่าวไปได้บ้างแล้ว
ขณะที่กนง. แถลงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 ลงเหลือ 3.8% จาก 4.0% ในครั้งก่อน โดยปรับลดคาดการณ์ของทุกภาคส่วนลงทั้งหมด แม้จะเห็นว่าอุปสงค์ในประเทศขยายตัวในดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นก็ตาม และลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลงมาที่ 0.8% จาก 0.9% ในประมาณการ อีกทั้งเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจในปี 63 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่3.9% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.9%
มุมมองของเรามองว่าท่าทีของ กนง. มีแนวโน้มที่คงอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม และมาตรการ macro prudential ที่ดำเนินการอยู่จะช่วยลดการพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น (Search-for-yield behavior) และ กนง.ไม่ได้กล่าวถึงความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรองรับวิกฤตครั้งต่อไป (Policy space) เช่นทุกครั้งที่ผ่านมา สำหรับการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาที่เหลือ เรามองว่าปัจจัยสำคัญคือนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลหลังมีการเลือกตั้ง หากยังคงเป็นรัฐบาลชุดเดิมได้เสียงข้างมากไปเราคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนตลอดปี
ด้านกลยุทธ์การลงทุน ระยะสั้นคาดว่า SET จะมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง ไปจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยด้านเทคนิคให้เล่นรอบกรอบแนวรับ1,623-1,620 ไม่ควรต่ำกว่า แนวต้าน 1,632 / 1,640-1,643แนะนำเลือกลงทุนกลุ่มธนาคารที่ยัง laggard ตลาด เราชอบ KBANK BBL KTB ส่วนหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการสานต่อของโครงการภาครัฐในปัจจุบันเราชอบ STEC AMATA WHA BJC
ส่วนระยะกลาง (ช่วงหลังเลือกตั้ง24 มี.ค. –การจัดรัฐบาล 23 พ.ค.) มองว่า SET จะมีความผันผวนสูงอย่างมาก ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนยังชะลอเพราะรอดูความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ในช่วงรอยต่อที่เหลือก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศซึ่งอาจต้องใช้เวลาจากนี้อีกอย่างน้อย 2-3 เดือนนั้นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจึงมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศอย่าง ปตท. การบินไทย รฟม. การรถไฟ เป็นต้น กลยุทธ์การลงทุนให้ถือเงินสดมากขึ้น และส่วนหนึ่งให้เน้นในกลุ่ม defensive stock อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงพยาบาล และกลุ่มที่ต้องเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนก่อนจัดตั้งรัฐบาลอย่างเครือ PTT AOT กลุ่มขนส่งเป็นต้น