สัญญาณอันตรายของ 'สัญญาประชาคม'

สัญญาณอันตรายของ 'สัญญาประชาคม'

ใกล้เต็มทีแล้วที่ประเทศไทยของเรานั้นจะได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง... ภายหลังการว่างเว้นไปกว่า 5 ปี...

และหากเป็นตามที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อ วันที่ 3 ก.ค. 2562 ภายหลังให้โอวาทคณะเยาวชนไทยและผู้เข้าร่วมโครงการเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาเยือนแผ่นดินแม่ ครั้งที่ 12... เราคนไทยจะมีรัฐบาลใหม่ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้

โดยภายหลังจากการนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ คณะรัฐมนตรีก็มีหน้าที่ต้อง “แถลงนโยบาย” ต่อรัฐสภา ภายใน 14 วัน หรือประมาณ ต้นเดือนสิงหาคม…

สัญญาณอันตรายของ \'สัญญาประชาคม\'

ตามทฤษฎีนั้นสาเหตุที่คณะรัฐมนตรีต้อง “แถลงนโยบาย” ต่อรัฐสภานั้น เนื่องมาจากว่า คณะรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ดังเช่นในกรณีของระบบประธานาธิบดี… แต่ คณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เพื่อเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ และ สส. เสียงข้างมากเลือกสมาชิกด้วยกันคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี เพื่อนำนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. มาใช้เป็นนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน

ซึ่งในกรณี “รัฐบาลประยุทธ์ 2” นี้... เป็นที่แน่ชัดว่ามีตัวแปรสำคัญอื่นๆ ที่อาจทำให้นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเป็นคนละแนวทางกับนโยบาย เช่น การจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” จากจำนวนพรรคการเมือง 18 พรรค... จึงต้องมีการผสมนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ

สาเหตุอีกประการที่ต้องมีการ “แถลงนโยบาย” คือ… รัฐสภามีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน จึงควรให้รัฐสภามีโอกาสเข้าตรวจสอบหรือควบคุมได้ตั้งแต่ในเบื้องต้น เพราะนโยบายของรัฐบาลอาจเป็นประเด็นที่เกี่ยวพัน หรืออาจนำไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในโอกาสต่อไป นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ด้วยเหตุนี้เชื่อว่าพี่น้องประชาชนคงใจจดจ่อกับการ “แถลงนโยบาย” ครั้งนี้ไม่ใช่น้อย เพราะข้อมูลที่จะปรากฏออกมา คือเหตุปัจจัยสำคัญสำหรับการวางแผนชีวิตความเป็นอยู่... การทำมาหากิน และเสถียรภาพของเราประชาชนคนไทยแน่นอน

ในมุมการเมือง... นโยบายที่จะแถลงเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความเคารพต่อ “สัญญาประชาคม” ที่พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆเคยให้ไว้กับพี่น้องประชาชน...

และนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่พรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนต่อการทำ “สัญญาประชาคม” อื่นๆ ในภายภาคหน้าต่อไปอีกด้วย

แต่อดใจหายไม่ได้จริงๆ เพราะ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา “นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล” โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในตอนหนึ่ง ได้กล่าวถึงเรื่อง “นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ” ที่พรรคพลังประชารัฐเคยประกาศไว้ว่าวันละ 425 บาท... แต่บัดนี้กลับเริ่มโยเย... และบอกว่าไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนซะอย่างงั้น...

2_70

ไม่รู้ “นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล” คิดว่ารัฐบาลจะอายุยืนยาวมากหรืออย่างไร จึงไม่รีบเร่งทำเรื่องนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่เช่นนี้

ที่ตอนไปปราศรัย ลงพื้นที่... ไปทำ “สัญญาประชาคม”... เมื่อ 4 เดือนก่อนไม่เห็นพูดแบบนี้...

นี้ยังไม่นับ “นโยบายเศรษฐกิจ” อื่นๆ ที่วันนี้เหมือนจะถูกลืมไปแล้ว เช่น

1. การลดภาษีบุคคล 10%”

2. เด็กจบใหม่เว้นภาษี 5 ปี

3. ยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี

หวังว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลคงไม่ลืม “สัญญาประชาคม” หรือคำพูดที่เคยให้ไว้...

ขอจงอย่าลืมว่าประชาชน (ผู้ถูกปกครอง) ยอมสละสิทธิ์ของตนเมื่อวันเลือกตั้งในการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนให้แก่ท่าน (ส.ส. และพรรคการเมือง) เพื่อให้ท่าน (ผู้ปกครอง) สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้น

ขออย่าให้ “สัญญาประชาคม” ของท่าน กลายเป็นลักษณะของการเร่ขายฝันจากตัวนโยบายของพรรคการเมือง หรือ ร้ายกว่านั้นก็คือเป็นการหลอกลวงเพื่อจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ตนเอง หรือ พรรคการเมืองของตนเองนะครับ.