อย่าให้จบแค่“ลัลบาเบล”
วันนี้ (30 ก.ย.) ตามข่าวบอกว่าตำรวจบุคคโลจะได้รับรายงานผลตรวจชันสูตรศพ “ลัลลาเบล” แบบละเอียดและเป็นทางการ
โดยเฉพาะผลตรวจสารคัดหลั่ง และร่องรอยฉีกขาดบริเวณอวัยวะเพศ
คุณแม่และครอบครัวของ “ลัลลาเบล” บอกว่า ถ้าผลออกมาตรงกับที่คิด ก็อาจจะหยุดแค่นี้ในทางคดี ปล่อยให้เป็นไปตามครรลองที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับนายน้ำอุ่น แต่หากผลที่ออกมาไม่ตรงกับที่คิดเอาไว้ ก็อาจตัดสินใจให้แพทย์ผ่าศพ “ลัลลาเบล” เพื่อตรวจพิสูจน์อีกครั้ง
คำถามก็คือ ทำไมครอบครัวของผู้เสียหายต้องรอนานขนาดนี้กว่าจะทราบสาเหตุการตายและหลักฐานที่ควรรู้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ได้รับรู้ในวันนี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะหากมีข้อสงสัยก็ต้องส่งศพไปผ่าซ้ำอีก ทำไมถึงทำให้จบในขั้นตอนเดียวไม่ได้
ในบ้านเรา “การชันสูตรศพ” กับ “การผ่าศพ” เป็นคนละส่วนกัน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) บังคับให้มีการชันสูตรพลิกศพเมื่อมีการตายผิดธรรมชาติเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องผ่าศพ เพราะการผ่าศพเป็นดุลยพินิจพนักงานสอบสวน จะผ่าก็ต่อเมื่อต้องการค้นหาสาเหตุการตาย เมื่อการชันสูตรทั่วไปยังหาสาเหตุไม่ได้
ขณะที่ในต่างประเทศ กฎหมายจะระบุเลยว่า กลุ่มเสี่ยงที่จะถูกทำร้าย เช่น ผู้หญิง เด็ก คนชรา เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ต้องผ่าชันสูตรทุกกรณี นอกจากนั้นยังขยายผลไปที่รายละเอียดเกี่ยวกับการตาย เช่น สถานที่ตายด้วย อย่างถ้าตายบนทางเท้า ตายในโรงแรม ตามตามโรงเลี้ยงเด็ก ตายนอกเคหะสถาน ตายจากความรุนแรง ฯลฯ เหล่านี้ต้องผ่าชันสูตรศพเท่านั้น ไม่ต้องรอดุลยพินิจของตำรวจ
อีกเรื่องคือการเก็บหลักฐานที่ติดอยู่กับตัวผู้ตาย เป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ในคดี “ลัลลาเบล” ทีแรกก็มีข่าวว่าชุดเดรสสีขาวที่สวมตอนไปงานปาร์ตี้หายไป หรืออย่างคดี “น้องหญิงตกรถเทรลเลอร์” เมื่อปีที่แล้ว ก็มีข่าว “กางเกงชั้นใน” สูญหาย เพราะพยาบาลเอาไปทิ้ง (คดีน้องหญิงศาลยกฟ้อง)
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา เพราะ ป.วิอาญา ระบุให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน กฎหมายไม่ได้กำหนดให้โรงพยาบาล หรือแพทย์ พยาบาล ต้องเก็บหลักฐานหรือสิ่งของของคนไข้เพื่อประโยชน์ในทางคดี เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าคนไข้แต่ละคนที่เข้ามารับการรักษาจะมีความเกี่ยวข้องกับคดีอาญาหรือไม่
ได้เวลาที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องข้างเคียงต้องร่วมกันวางมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรมสูงสุดให้ประชาชน