ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน

ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน

สวีเดนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ(รธน.)ในปี ค.ศ. 1809

จากการยึดอำนาจของข้าราชการทหารและพลเรือนที่ไม่พอใจในการปกครองของกษัตริย์ขณะนั้น นั่นคือ Gustav IV การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดนไม่มีการนองเลือดเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด แต่เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้ รธน.ของเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 จะพบว่าของสวีเดนมิได้ราบรื่นเหมือนของเดนมาร์ก เพราะแม้นว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดนจะไม่มีการเสียเลือดเนื้อ แต่มีการใช้ความรุนแรงในระดับหนึ่ง มีการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจและมีการจับกุมตัว Gustav IV รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และคณะรัฐประหารสวีเดนที่ต่อมาได้รับเรียกขานในประวัติศาสตร์การเมืองสวีเดนว่า “คณะบุคคล ค.ศ. 1809” (“the men of 1809”) ได้กดดันและบังคับให้พระองค์สละราชสมบัติ ซึ่งในแง่นี้ มีความคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 ที่เกิดขึ้นโดยคณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการพลเรือนและทหารที่ไม่พอใจการปกครองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และใช้กำลังในการยึดอำนาจทำรัฐประหารโดยมิได้มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด และแม้นว่าไม่ได้จับกุมตัวพระมหากษัตริย์ แต่ก็ได้จับกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์ไว้ และในอีกสองปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติโดยมีสาเหตุจากความขัดแย้งเกี่ยวกับคณะราษฎรในประเด็นสำคัญใน รธน.และน่าสนใจว่าทั้ง “คณะบุคคล ค.ศ. 1809” และ “คณะราษฎร พ.ศ. 2475” มิได้ต้องการยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ขณะเดียวกัน การเมืองสวีเดนก็มีลักษณะพิเศษที่ควรรู้และเข้าใจ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้ รธน. ของสวีเดน ค.ศ.1809 ก็หาใช่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือเป็นจุดเริ่มต้นที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนและถูกจำกัด เพราะในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1718-1772 สถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนก็เคยตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เป็นเพียงแต่ตรายางหรือประธานในที่ประชุมแบบพิธีกรรมเท่านั้น โดยการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถูกขนานนามว่าเป็น ยุคแห่งเสรีภาพ” (the Age of Liberty) ซึ่งในยุคแห่งเสรีภาพนี้ สวีเดนได้ออก รธน. ค.ศ. 1720 มาบังคับใช้ แต่ระบอบการปกครองในยุคแห่งเสรีภาพก็มีอายุขัยเพียง 54 ปีและไม่สามารถลงหลักปักฐานได้สำเร็จและต้องสิ้นสุดลงด้วยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารโดยพระมหากษัตริย์ Gustav III ในปี ค.ศ. 1772 และที่น่าสนใจขึ้นไปอีกก็คือ การทำรัฐประหารดังกล่าวไม่เกิดการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด แต่แน่นอนว่ามีการใช้กองกำลังทหารที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เข้ายึดอำนาจจากนักการเมืองหรือฝ่ายรัฐสภา อีกทั้งการทำรัฐประหาร ค.ศ. 1772 ยังได้รับความนิยมและการสนับสนุนอย่างมากมายจากประชาชนทั่วไปด้วย และจากการทำรัฐประหารดังกล่าว Gustav III ได้ทรงออก รธน. ฉบับใหม่ ค.ศ. 1772 ที่พระองค์ทรงร่างเองมาบังคับใช้แทน รธน. ค.ศ. 1718 ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับมามีพระราชอำนาจมากขึ้น แต่ระบอบการปกครองภายใต้ รธน. ค.ศ. 1772 ก็มีอายุขัยเพียง 37 ปี 

 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสวีเดนในแต่ละครั้งก็มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อนข้างสุดโต่งและฉับพลัน อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงจากระบอบการปกครองภายใต้ รธน.ปี 1720 ในยุคแห่งเสรีภาพที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงในนามแต่ไม่มีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติใดๆมาเป็นระบอบภายใต้ รธน.ปี 1772 ที่แม้นว่าจะไม่ได้กลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็กลับไปเป็นระบอบที่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ และเมื่อถึง ค.ศ. 1809 ก็เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้ รธน. อย่างฉับพลันทันที ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองทั้งสองครั้งนี้ นั่นคือ ค.ศ. 1772 และค.ศ. 1809 เกิดขึ้นจากการทำรัฐประหาร แต่เป็นการทำรัฐประหารที่ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด  

ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจเช่นกันก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบภายใต้ รธน.  ปี  1720 ในยุคแห่งเสรีภาพที่สวีเดนมีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่เพียงในนามแต่ไม่มีพระราชอำนาจในทางปฏิบัติใดๆ ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สุดโต่งและฉับพลัน กลับมิได้เกิดจากการทำรัฐประหาร แต่ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในหลายประการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็คือ ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา จึงทำให้ไม่มีผู้ที่จะขึ้นครองราชย์ในทันที แต่เมื่อมีการสืบราชสันตติวงศ์ ผู้ที่ขึ้นมาครองราชย์ได้ไม่นานก็เสด็จสวรรคต กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้อภิชนฝ่ายรัฐสภาสามารถขึ้นสู่อำนาจและขยายอำนาจอยู่เป็นเวลา 54 ปี และเมื่อเกิดรัฐประหาร ค.ศ. 1772 โดยกษัตริย์ Gustav III การเมืองการปกครองของสวีเดนก็เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ถอยหลังเข้าคลองจากมุมมองที่เชื่อว่าพัฒนาการความก้าวหน้าของระบอบการเมืองการปกครองคือการลดทอนหรือจำกัดพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ 

 ความไร้เสถียรภาพในการเมืองการปกครองสวีเดนไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในยุคแห่งเสรีภาพที่มีอายุ 54 ปี หรือในช่วงการปกครองภายใต้ รธน. ของ Gustav III (ที่นักวิชาการมักจะเรียกว่า “the Gustavian constitution”) ที่มีอายุ 37 ปี แต่รวมถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยที่มีอายุ 38 ปีและก็ไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ไม่ต่างจากระบอบการปกครองในยุคแห่งเสรีภาพ และที่น่าสังเกตก็คือ เมื่อเปรียบเทียบกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศอื่นๆ ในยุโรปรวมทั้งประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันกับสวีเดนแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดนมีอายุขัยที่สั้นมาก ดังที่ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด นักรัฐศาสตร์ไทยที่ศึกษา “วิวัฒนาการรัฐอังกฤษ ฝรั่งเศส ในกระแสเศรษฐกิจโลกจากระบบฟิวดัลถึงการปฏิวัติ” ได้ให้สัมภาษณ์ล่าสุดไว้ว่า “...สมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุโรปใช้เวลามากกว่าสองศตวรรษถึงจะเกิดการปฏิวัติ..” (26 Apr 2019 -https://waymagazine.org/interview-kullada-kesboonchoo-mead-absolutism/) ดังนั้น สวีเดนจึงเป็นกรณียกเว้นและไม่ใช่แค่ยกเว้นในเฉพาะยุโรป แต่ยกเว้นเมื่อเทียบกับของไทยด้วย เพราะสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยมีอายุน้อยมาก (ถ้านับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 คือ 64 ปี) ดังที่กุลลดาได้กล่าวถึงไว้ว่า “แต่ของเราเพิ่งเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อไม่นานมานี้ และสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาอันสั้น” 

 สำหรับสวีเดน หลังจากการเปลี่ยนแปลง ค.ศ. 1809 แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า การเมืองสวีเดนจะลงตัวในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และก็ไม่มีการถอยหลังเข้าคลองอย่างหนักมือเหมือนในอดีต และก็ไม่ได้มีการใช้กำลังความรุนแรงแก่งแย่งชิงอำนาจกันเหมือนก่อนศตวรรษที่สิบหก ทั้งนี้ ลักษณะเด่นสำคัญของการเมืองสวีเดนยุคใหม่คือการประนีประนอม และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชนส่วนใหญ่ที่ดำเนินมาตั้งแต่โบราณกาล (แต่แน่นอนว่า คำกล่าวนี้จะต้องได้รับการขยายความมากกว่าพื้นที่ในบทความนี้จะอำนวย !) อย่างไรก็ตาม นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันด้วยว่า หลัง ค.ศ. 1809 สวีเดนใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย” แต่หลังจากเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ก็กลับพัฒนาไปอย่างรวดเร็วโดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มั่นคงเข้มแข็งและเป็นประเทศที่ติดอันดับสูงสุดในการจัดอันดับต่างๆ ไม่ว่าในเรื่องคุณภาพการเมืองหรือคุณภาพชีวิต  

(ส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: ศึกษากรณีสหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรภูฏาน” ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีงบประมาณ 2560)