ตลาดกาสิโนอาเซียนแข่งเดือด 'ไทย-ฟิลิปปินส์' ท้าชน 'สิงคโปร์'

ตลาดกาสิโนอาเซียนแข่งเดือด 'ไทย-ฟิลิปปินส์' ท้าชน 'สิงคโปร์'

จับตาตลาดกาสิโนอาเซียนแข่งเดือดหลัง 'ไทย-ฟิลิปปินส์' เตรียมเดินหน้าเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ท้าชน 'สิงคโปร์' ซิตี้กรุ๊ปเชื่อไทยมีศักยภาพขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของโลก เพราะมีโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยวแน่น และมีประชาชนที่ชื่นชอบการพนันเป็นทุนเดิม

KEY

POINTS

  • สื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ตลาดกาสิโนในอาเซียนเดือด หลังประเทศไทยเดินเครื่องอนุมัติหลักการร่างพรบ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร
  • ซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์หากเปิดได้เต็มศักยภาพ ไทยอาจสร้างรายได้แซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของโลก
  • นักวิเคราะห์เตือนเสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบาย คือความเสียงสำคัญของไทย

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า เมื่อรีสอร์ตคอมเพล็กซ์แบบครบวงจร "มารีนา เบย์ แซนด์ส" (Marina Bay Sands) ของสิงคโปร์ ปิดให้บริการเกือบทั้งหมดในช่วงล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 การที่ไม่มีแขกเข้าพักในอาคารทั้งสามหลังที่พรั่งพร้อมด้วย กาสิโน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่จัดงานประชุมหรืองานแสดง ก็เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศที่หยุดชะงักไปด้วย และทำให้แผนการขยายกิจการครั้งใหญ่ของมารีน่า เบย์ และคาสิโนคู่แข่งอย่าง "รีสอร์ต เวิลด์ เซ็นโตซา" (Resort World Sentosa) ในเครือเก็นติ้งของมาเลเซีย ต้องหยุดชะงักลง 

แต่ในวันนี้ที่เศรษฐกิจของสิงคโปร์ฟื้นตัวได้เกือบเต็มที่ และผ่านไปเกือบ 15 ปีแล้วนับตั้งแต่เปิดตัวรีสอร์ต บริษัททั้งสองรายจึงเพิ่มเดิมพันเป็นสองเท่าว่าประเทศนี้จะยังคงเป็นศูนย์กลางการพนันระดับโลกต่อไป โดยตั้งเป้าจะขยายการลงทุนอีก 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบสองเท่าของประมาณการการลงทุนเดิมก่อนการระบาด

แพทริก ดูมอนต์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทลาสเวกัส แซนด์ส (LVS) ซึ่งเป็นเจ้าของมารีน่า เบย์ กล่าวถึงแผนการสร้าง "ตึกมารีน่าหลังที่สี่" ในการประชุมผลประกอบการเมื่อเดือนต.ค.ว่า "จะเป็นอาคารสำหรับกาสิโนและธุรกิจบริการต้อนรับที่สำคัญที่สุดในโลก"

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับเกมพนันที่การการันตีชัยชนะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเมื่อกำลังจะมีคู่แข่งหน้าใหม่เพิ่มเข้ามา หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง "ไทย" และ "ฟิลิปปินส์" กำลังจะนำโมเดลรีสอร์ตแบบครบวงจรนี้มาปรับใช้เป็นพิมพ์เขียวต้นแบบ โดยมีแผนที่จะสร้างและขยาย "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์" ในรูปแบบของตนเอง

โจชัว โหลว ประธานหลักสูตรประกาศนียบัตรการท่องเที่ยวและการจัดการรีสอร์ทที่วิทยาลัย หงีอัน โพลีเทคนิค กล่าวว่า นักท่องเที่ยวสามารถแยกแยะได้ดีมาก "ถ้าพวกเขารู้สึกว่าได้เห็นทุกอย่างแล้ว พวกเขาก็จะกระโดดไปยังจุดหมายอื่นที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ"

ขณะที่ทีมนักวิเคราะห์ของธนาคารซิตี้กรุ๊ปประเมินว่า "ประเทศไทย" อาจกลายเป็นศูนย์กลางการพนันที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก รองจากมาเก๊าและลาสเวกัส เพราะมีปัจจัยสนับสนุนตั้งแต่ประชากรที่คลั่งไคล้เรื่องการพนัน โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่พัฒนาแล้ว และรัฐบาลกำลังที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะงักงัน

ร็อบ โกลด์สตีน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของแซนด์ส เคยกล่าวถึงมุมมองต่อประเทศไทยในการรายงานผลประกอบการเมื่อปีที่แล้วว่า “เป็นตลาดที่น่าตื่นเต้นมากในหลายๆ ระดับ และด้วยจำนวนประชากร การเข้าถึงได้ และความเต็มใจของผู้คนที่จะเดินทางมาประเทศไทย เห็นได้ชัดเจนเลย ผมคิดว่านี่คือจุดหมายปลายทางด้านรีสอร์ตอันดับหนึ่งในเอเชีย"

“ดังนั้นเราจึงให้ความสนใจ รับฟัง และกำลังดำเนินการเพื่อดูว่าเราจะทำอะไรที่นั่นได้บ้าง” ซีอีโอของแซนด์ส กล่าว

บรรดาผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมยังคงคาดหวังว่า สิงคโปร์จะยังครองส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงความท้าทายต่างๆ เช่น กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่จาก "จีน" มีจำนวนลดลง ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งเร่งปราบปรามเงินพนัน

แดเนียล เฉิง ที่ปรึกษารีสอร์ตครบวงจรและอดีตผู้บริหารของฮาร์ด ร็อค อินเตอร์แนชันนัล และเก็นติ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นชาวจีนระดับวีไอพีจำนวนมากที่ "ถูกตัดขาด" เนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามปราบปรามการทุจริตในประเทศ ผู้ประกอบการรีสอร์ต "จึงต้องพยายามมากขึ้นในการดึงคนรวยที่ถูกต้องตามกฎหมายให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจตัวจริงหรือมหาเศรษฐี" 

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2553 ธุรกิจรีสอร์ตครบวงจรของสิงคโปร์ก็กลายเป็นอัญมณีล้ำค่าของผู้ประกอบการ โดย "มารีน่า เบย์ แซนด์ส" มีรายได้ถึง 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ในจำนวนนี้คิดเป็นรายได้จากกาสิโนถึง 69.7% หรือราว 2.6 พันล้านดอลลาร์ และมารีน่า เบย์ ยังมีสัดส่วนรายได้ถึง 37% ของยอดขายทั้งหมดในเครือของแซนด์ส 

ส่วนทาง "รีสอร์ต เวิลด์ เซ็นโตซา" ของค่ายเก็นติ้งนั้นจะเน้นไปในทางครอบครัวมากกว่า เพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างสวนสนุก ยูนิเวอร์แซล สตูดิโอ รวมอยู่ด้วย โดยจะมีการขยายโปรเจกต์ต่างๆ ที่รวมถึงโรงแรมระดับพรีเมียมแห่งใหม่ และคาดว่าจะทำให้มีพื้นที่ในส่วนของจุดท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก 50%   

ตลาดกาสิโนอาเซียนแข่งเดือด \'ไทย-ฟิลิปปินส์\' ท้าชน \'สิงคโปร์\'

ความสำเร็จของรีสอร์ตเหล่านี้เองที่อาจช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมประเทศอื่นๆ ถึงสนใจที่จะเสี่ยงและลงทุนในธุรกิจนี้ แม้แต่สิงคโปร์เองก็ได้คำตอบมาจากมาเก๊าและลาสเวกัสเช่นกัน โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเป็น 19.1 ล้านคนจาก 9.7 ล้านคนในปี 2552 ในขณะที่จำนวนผู้มาเยือนในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 85% ของระดับก่อนเกิดโควิด ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวคาดว่าจะสูงถึงระหว่าง 27,500 - 29,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และอาจเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่

"รีสอร์ตกาสิโนจะยังคงเป็นแม่เหล็กของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ต่อไป" เทอร์เรนซ์ โฮ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาคปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์สิงคโปร์กล่าว

"ไทย" อาจทำเงินขึ้นเบอร์ 3 ของโลก

สำหรับ "ประเทศไทย" ที่จะมีการพัฒนาเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์นั้น ธนาคารซิตี้กรุ๊ปเคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไทยจะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจนี้สูงถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2574 หากมีการเปิดใบอนุญาตอย่างเต็มรูปแบบทั้งในกรุงเทพฯ 2 แห่ง และในพัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ หรือจะทำรายได้แซงหน้าสิงคโปร์ซึ่งจะอยู่ที่ราว 8.3 พันล้านดอลลาร์ 

ตลาดกาสิโนอาเซียนแข่งเดือด \'ไทย-ฟิลิปปินส์\' ท้าชน \'สิงคโปร์\'

แผนดังกล่าวซึ่งดึงดูดความสนใจจากผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศรวมถึงเครือแซนด์ส อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 17% ต่อปี ตามข้อมูลของบริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ขณะที่ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวไปแล้ว 32 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับสถิติทั้งปี 2562 ที่ 39 ล้านคน

อัตราภาษีจากการพนันที่เสนอโดยประเทศไทยอยู่ที่ 17% ซึ่งถือเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในเอเชียเมื่อเทียบกับมาเก๊าที่ 40% ญี่ปุ่น 30% และสิงคโปร์ 18% และ 22% ขึ้นอยู่กับรายได้ประจำปีของผู้ประกอบการ ในขณะที่รายได้จากผู้เล่นวีไอพีจะถูกเรียกเก็บภาษีที่ 8% และ 12% ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่รับ

"ในมุมมองของเรา รัฐบาลไทยแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างแรงกระตุ้นครั้งสำคัญให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านการทำให้การพนันถูกกฎหมาย" ซิตี้กรุ๊ประบุในรายงานเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา "และความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของกระบวนการจนถึงขณะนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี"

ส่วนการพนันใน "ฟิลิปปินส์" นั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว รีสอร์ตแบบครบวงจรแห่งแรกเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2552 และรายรับจากการพนันรวมของประเทศอยู่ที่ประมาณ 280,000 ล้านเปโซ (4,820 ล้านดอลลาร์) ในปี 2566 ตามข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาล PAGCOR

แต่เนื่องจากการแข่งขันในระดับภูมิภาคทวีความรุนแรงขึ้น ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ จึงกำลังพิจารณาให้มีการเปิดรีสอร์ตคาสิโนได้มากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และวางแผนออกใบอนุญาตเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 ใบ เพื่อสร้างรีสอร์ตใหม่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในภาคส่วนนี้ประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

บ่อนชายแดนกัมพูชาเสี่ยงหนักสุด

เบน ลี หุ้นส่วนผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาด้านการพนัน ไอเกมมิกซ์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยเข้าสู่ตลาดกาสิโนนั้นถือเป็นความเสี่ยงอย่างแท้จริงสำหรับกาสิโนบริเวณชายแดน "กัมพูชา" ที่มีอยู่ถึงราว 30-40 แห่ง ซึ่งต้องพึ่งพาลูกค้าจากนักพนันชาวไทย 

ลีเสนอว่า กัมพูชาอาจจำเป็นต้องทำลายการผูกขาดที่ถือครองโดย Nagaworld ซึ่งเป็นบริษัทมาเลเซียที่จดทะเบียนในฮ่องกงและมีใบอนุญาตพิเศษเฉพาะสำหรับกัมพูชา หรืออาจจะต้องเสนออัตราที่แข่งขันได้มากขึ้นเพื่อความอยู่รอด

“เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ แค่เมื่อไรเท่านั้น เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อกัมพูชาอย่างมาก” ลีกล่าว โดยอ้างอิงถึงกาสิโน 30- 40 แห่งที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา "และเมื่อกาสิโนของไทยขยายออกไปยังจังหวัดต่างๆ คนไทยจะไม่ออกนอกประเทศไปยังกัมพูชา”

สำหรับ "เวียดนาม" นั้นมีการอนุญาตให้เปิดกาสิโนได้เพียงจำนวนจำกัด โดยส่วนใหญ่เปิดให้บริการเฉพาะชาวต่างชาติในเมืองริมทะเล ตั้งแต่ไฮฟองทางตอนเหนือไปจนถึงหวุงเต่าใกล้กับนครโฮจิมินห์ แต่เวียดนามก็กำลังพิจารณาหาวิธีที่จะขยายเซ็กเตอร์นี้เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในท้องถิ่นที่ออกไปเล่นการพนันในต่างประเทศ

กระทรวงการคลังเวียดนามได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยอุตสาหกรรมนี้ โดยระบุในเดือนมี.ค.ว่าควรศึกษามาเก๊าและสิงคโปร์เป็นต้นแบบ เนื่องจากกาสิโนของเวียดนามมีขนาดเล็กและ "อ่อนแอกว่ากาสิโนในภูมิภาคนี้มาก แม้กระทั่งเมื่อเทียบกับกัมพูชา"

'เสถียรภาพการเมือง' คือความเสี่ยงของไทย

นักวิจารณ์หลายคนมองว่า "ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ" เป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการต่างชาติในประเทศไทย 

"ประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง" เฉิงซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรีสอร์ตแบบครบวงจรกล่าว "กระบวนการออกใบอนุญาตที่ไม่ชัดเจนอาจนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ"

เฉิงยังกล่าวอีกว่า ผู้ประกอบการในสหรัฐต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบ้านเกิดของตนจึงจะกล้าเสี่ยงลงทุนต่างประเทศได้ และจุดหมายปลายทางใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินหรือถูกดำเนินคดีอาญา อาจส่งผลต่อใบอนุญาตของพวกเขาที่สหรัฐ "นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่มีผู้ประกอบการรายใหญ่สัญชาติอเมริกันอยู่ในฟิลิปปินส์" 

ทั้งนี้ กาสิโนกลายเป็นจุดสนใจของการตรวจสอบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากหน่วยงาน Financial Action Task Force ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบการกระทำผิดทางการเงินระดับโลกที่มีฐานอยู่ในกรุงปารีส ทำให้สิงคโปร์ซึ่งเผชิญกับคดีฟอกเงินครั้งใหญ่ในปี 2566 ได้ผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับเมื่อปีที่แล้วเพื่อลดเกณฑ์การขอตรวจสอบทางการเงินของธุรกรรมเงินสดต่างๆ และอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งสองแห่งแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่มีความเสี่ยงได้

สำหรับในระยะยาว นักวิเคราะห์มองว่าธุรกิจกาสิโนในรูปแบบดั้งเดิมจะเผชิญความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอน โดยดูได้จากในลาสเวกัส รายได้ที่ไม่ใช่กาสิโนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับ MGM Resorts International ซึ่งเป็นผู้ประกอบการคาสิโนที่ใหญ่ที่สุดในโลก รายได้จากกาสิโนใน Las Vegas Strip Resorts ซึ่งรวมถึงคาสิโนอย่าง Bellagio และ MGM Grand Las Vegas มีมูลค่ารวม 2.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 คิดเป็นเพียง 24% ของรายได้ทั้งหมดในสหรัฐ

"เราพูดเสมอว่าสาระสำคัญอยู่ในซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ของคุณอาจจะดี แต่ถ้าไม่มีซอฟต์แวร์ที่ดี ผู้คนก็จะมาเยี่ยมชมเพียงครั้งเดียวเพื่อถ่ายรูป" เฉิงกล่าวและเสริมว่า "เรายังไม่เห็นสูตรที่ใช่ในเอเชีย"