พัฒนาประเทศแบบญี่ปุ่น เริ่มต้นที่โรงเรียน (จบ)
วันนี้ผมจะมาเฉลยและอรรถาธิบายต่อจากสัปดาห์ก่อนว่า เหตุใดระบบการศึกษาของญี่ปุ่นและไทยที่ใกล้เคียงกัน กลับออกดอกออกผลที่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ฉบับที่แล้วผมได้เล่าให้ฟังถึงระบบการศึกษาญี่ปุ่นเทียบกับของไทยที่มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งการแบ่งช่วงนั้นการศึกษา เป็นระดับอนุบาล ประถม มัธยมและอุดมศึกษา จำนวนปี การแบ่งแยกสายสามัญและสายอาชีพ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวให้ฟังคือความคล้ายคลึงกัน วันนี้ผมจะพูดถึงความแตกต่าง
คุณภาพการศึกษาในระดับอนุบาล ประถมและมัธยมต้นของญี่ปุ่นมีมาตรฐานที่ไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งต่างจากเมืองไทยที่นิยมส่งบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนชั้นดีตั้งแต่อนุบาล เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าโรงเรียนชั้นดีต่อในระดับประถมและมัธยมศึกษา นักเรียนอนุบาล ประถมและมัธยมต้นของญี่ปุ่นจะถูกจัดสรรให้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้าน รัฐเน้นการควบคุมคุณภาพให้โรงเรียนมีความเท่าเทียมกันมากที่สุดเพราะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคือเหตุผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้อัตราการรู้หนังสือของคนญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่สูงมากถึง 99%
การแข่งขันที่แท้จริงเริ่มขึ้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยเหตุผล 2 ประการ 1.เป็นการศึกษานอกภาคบังคับ นักเรียนญี่ปุ่นสามารถเลือกเรียนสายสามัญในโรงเรียนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้บ้านเหมือนเช่นการศึกษาภาคบังคับอีกต่อไป และ 2. เพื่อเตรียมพร้อมสู่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคุ้นชินกันอย่างดี
หลักสูตรของญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญอย่างมากต่อคณิตศาสตร์และการคำนวณ เป็นแรงผลักดันให้นักเรียนญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ เมื่อปี 2558 โปรแกรมการวัดมาตรฐานการศึกษา PISA (Program for International Student Assessment) มีการสอบนักเรียนอายุ 15 ปีจำนวนกว่า 500,000 คนใน 72 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ เพื่อเป็นตัวแทนของนักเรียนจำนวน 28 ล้านคนในกลุ่มนี้ ผลปรากฏว่านักเรียนญี่ปุ่นได้ที่ 2 ในด้านวิทยาศาสตร์ ได้ที่ 5 ด้านคณิตศาสตร์ ได้ที่ 8 ด้านการอ่าน และทักษะอื่น ๆ อาทิ การแก้ปัญหา ความรู้ทางการเงิน ก็ล้วนอยู่ในระดับดีมาก เช่นเดียวกับฮ่องกงและเกาหลีใต้ เทียบเคียงกับประเทศตะวันตก
ครูญี่ปุ่นนั้นมีความรับผิดชอบสูงมาก และทำงานเฉลี่ยกว่า 63 ชั่วโมง 18 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงกว่าค่าเฉลี่ยครูทั่วโลก หน้าที่ของครูญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่รับนักเรียนตอนเช้า สอนช่วงกลางวันในลักษณะสหวิชา สอนตอนเย็นต่อหรือ coaching ในกลุ่มย่อย และยังมีการเยี่ยมเยียนนักเรียนและผู้ปกครองถึงบ้าน ถือว่าเป็นภาระหน้าที่อันหนักหน่วงสมควรได้รับการชื่นชมอย่างยิ่ง
เด็กไทยถูกสอนว่า “บ้านเราโชคดีในน้ำมีปลาในนามีข้าว” แต่เด็กญี่ปุ่นกลับถูกสอนให้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาความยากลำบาก รู้จักเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งก็มีหลักสูตรและการซ้อมอพยพอยู่ตลอดเวลา สภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะก็ทำให้เด็กต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความสามัคคี ยอมลดละเลิกความเป็นตัวตนเมื่อยู่ในหมู่คณะ สังเกตได้จากเครื่องแบบนักเรียน สิ่งละอันพันละน้อยตรงนี้ที่แตกต่างกับเมืองไทยของเรา
ญี่ปุ่นมีคติเรื่องของ “การทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด” เพราะอาชีพทุกอาชีพล้วนมีเกียรติ ไม่มีการดูถูกเหยียดหยามอาชีพใดหนึ่งว่าต้อยต่ำ ทุกอาชีพต่างเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่สำคัญในการพัฒนาสังคม นอกจากนี้ สิ่งที่เด็กญี่ปุ่นถูกปลูกฝังคือ ต้องมีวินัย อดทน ซึ่งถือเป็นคติที่เด็กไทยยังขาด
นอกเหนือจากตัวละครทั้งภาครัฐ โรงเรียน ครู ผู้ปกครองและนักเรียนที่เป็นผู้เล่นสำคัญในการพัฒนาความก้าวหน้าของญี่ปุ่น “ทัศนคติ” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นนั้นพัฒนาเพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยพลเมืองคุณภาพอันถูกฝึกฝนทั้งสติปัญญาและทัศนคติตั้งแต่วัยเด็กนั่นเอง