สู่ ... นครตักศิลา แคว้นคันธาระ !!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เนื่องจากอยู่ในระหว่างเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญต่อเพื่อนมนุษยชาติ ในชมพูทวีป ณ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ตามกำหนดการระหว่าง 30 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562 จึงขอนำบันทึกประวัติศาสตร์วันลั่นระฆังสันติภาพ (Bell of Peace) เพื่อสันติสุขของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยตักศิลาโบราณ (พิพิธภัณฑ์ตักศิลา) ในรัฐปัญจาบ ปากีสถาน มานำเสนอ ดังนี้
“เวลาประมาณ 10.00 น. พระอาจารย์อารยวังโส เดินทางถึงนครตักศิลา แคว้นคันธาระ ชมพูทวีป ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของชมพูทวีป เป็น 1 ใน 16 มหาชนบท ที่มีความสำคัญยิ่งสืบเนื่องมายาวนาน ก่อนพุทธศาสนาอุบัติเกิดขึ้นในโลก ...
เรื่องราวของนครตักศิลา มีอ้างถึงอยู่ในพระไตรปิฎก ที่เล่าเรื่องราวชาดกมากมายที่เกี่ยวข้อง ดังเช่น ตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรสร้างบารมี ในฐานะพราหมณ์มหาโพธิสัตว์ ก็เคยมาสร้างบารมีอยู่ในนครตักศิลาแห่งนี้ ... ไม่ว่าจะเป็นครั้งที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ดังมีเรื่องราวเล่าอยู่ในชาดกว่า ได้ทรงประทานพระเศียรของพระองค์ให้กับชายคนหนึ่ง โดยครั้งนั้นเสวยพระชาติบังเกิดเป็นพราหมณ์ อยู่ในชนบท ทลิททิ ... จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ราชอาณาจักรแห่งนี้จึงได้นามว่า “ตักศิลา” แปลตามความในหนังสือของหลวงจีนภิกษุฟาเหียน แปลว่า ศีรษะที่ถูกตัดออกแล้ว
และในแว่นแคว้นดังกล่าวนี้ ยังสืบเนื่องสมัยที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์อีกสมัยหนึ่ง ที่ได้ทรงยอมทอดพระสรีระของพระองค์ ประทานให้เป็นอาหารแก่นางเสือที่กำลังอดอยาก หิวโหยอยู่ หรือที่ปรากฏในชาดกที่ได้เคยอ่านเจอในอดีตชาติของพระองค์ เคยเป็นบุรุษที่เกิดในวรรณะจัณฑาล แต่เป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาด ได้เคยเดินทางมาศึกษาในนครตักศิลาแห่งนี้ ร่วมสำนักกับพวกวรรณะพราหมณ์ทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ เป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น ... แต่ต่อมาเมื่อถูกจับได้ว่าเป็นวรรณะต่ำ จึงถูกรังเกียจให้ออกไป ... ในชาดกมีธรรมะสอนใจหลายประการ ที่คงจะไม่ขอเล่า ณ ที่นี้ ...
แต่ที่ยกขึ้นมากล่าวนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า นครตักศิลา สืบเนื่องเรื่องราวอันควรแก่การศึกษามายาวนาน ก่อนการอุบัติเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา ด้วยความเป็นมหาวิทยาลัยของโลกที่สำคัญที่สุด ครบถ้วนการสั่งสอนศาสตร์ศิลป์ทุกวิชาที่นิยมในยุคนั้นๆ ... แม้เรื่องราวในสมัยของพระพุทธศาสนาอุบัติเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าปเสนทิโกสล แห่งแคว้นโกสล .. พันธุละเสนาบดี แห่งแคว้นมัลละ .. เจ้ามหานาม แห่งแคว้นวัชชี .. หมอชีวก แห่งแคว้นมคธ .. ต่างเคยเดินทางไปศึกษา ณ นครตักศิลาแห่งนี้
โดยเฉพาะเรื่องราวที่ปรากฏในพระสูตร ที่ชื่อว่า วิภังคสูตร ซึ่งเป็นพระธรรมคำสั่งสอนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรม อันเป็นไปเพื่อการบรรลุถึงซึ่งพระนิพพานจากพระสูตรดังกล่าว ที่ตั้งขึ้นโดยพระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาสั่งสอนพระภิกษุนามว่า ปุกกุสาติ ซึ่งมีชาติภูมิมาจากแคว้นคันธาระ โดยเป็นจอมกษัตริย์ผู้ครองนครตักศิลา ที่ได้มีพระราชศรัทธา สละราชสมบัติการปกครองแว่นแคว้นดังกล่าวออกบวช ด้วยศรัทธาพระพุทธเจ้า ชอบใจในธรรมของพระพุทธเจ้า ซึ่งต่อมาได้มีโอกาสรับการสั่งสอนจากพระพุทธเจ้า ที่บ้านช่างปั้นหม้อ นอกเมืองพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ และเข้าถึงธรรมชั้นพระอนาคามี ก่อนที่จะละสังขารด้วยผลกรรมเก่า
วันนี้แห่งการเดินทางมาเยือนนครตักศิลา แคว้นคันธาระในอดีต เป็นครั้งแรกของหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส จึงมีความลึกซึ้งในทางจิตวิญญาณ อันสัมพันธ์กับอดีตกาลที่เกี่ยวข้องกับแว่นแคว้นแห่งนี้ จึงตั้งใจที่จะได้ถวายการสักการะบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บนแผ่นดินอารยธรรมโบราณดังกล่าว ดังที่เคยระลึกมายาวนาน
การเดินทางมาเยือนนครตักศิลาในครั้งนี้ จึงได้กำหนดศาสนกิจอันสำคัญยิ่ง เพื่อการประกาศอำนาจแห่งธรรมของพระพุทธศาสนาให้แผ่กว้างไปทั่วทุกภพภูมิ โดยการประดิษฐานระฆังสันติภาพขึ้น บนแผ่นดินนครตักศิลา ณ พิพิธภัณฑ์ ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยตักศิลาโบราณ ท่ามกลางทูตานุทูตนานาชาติ เช่น จากประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชน การกีฬา และโบราณสถาน แห่งรัฐปัญจาบ เป็นประธานการจัดงานในครั้งนี้ ท่ามกลางสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจมากมายกับข่าวสารการเดินทางมาเยือนเพื่อลั่นระฆังสันติภาพของพระอาจารย์อารยวังโส”
เจริญพร