“เรื่องเล่า” ช่วยการท่องเที่ยว
ผู้คนเหยียบแสนๆ คนต่อปีแห่กันไปโรงแรมSnotra House ในเมืองThykkvibaer ทางตอนใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ เพื่อชมสิ่งหนึ่ง
สิ่งนี้ซึ่งหากเล่าไปแล้วจะเป็นเรื่องน่าขบขันสำหรับคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เดินทางไปชม สิ่งนี้ซื้อมาด้วยราคาต่ำมาก แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นสมบัติอันมีค่าของท้องถิ่นสำหรับนักท่องเที่ยวไปแล้วสิ่งนี้ก็คือแฮมเบอร์เกอร์ที่มีอายุ 10 ปี
ในยุคของการท่องเที่ยวที่ประชากรในโลกจำนวนมากมีฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้นโดยเฉพาะมีสายการบินราคาถูก ผู้คนในแต่ละประเทศรู้จักสนองตอบความต้องการท่องเที่ยว มีที่พัก อาหารและบริการต่างๆ ประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการพัฒนาสิ่งที่เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยว ภาคท่องเที่ยวจึงเป็นตัวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศต่างๆ อย่างสำคัญ
ประเทศไทยเรามีนักท่องเที่ยวประมาณ 38.3 ล้านคนในปี 2018 เป็นอันดับ 9 ของโลก นำรายได้มาสู่ประเทศเกือบ 20% ของGDP ภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างงานและรายได้ที่สำคัญยิ่งของประเทศไปแล้ว เรามีสถานที่ท่องเที่ยว บริการอาหาร สถานที่และสินค้าสำหรับช้อปปิ้งถูกใจนักท่องเที่ยว แต่กระนั้นก็ยังไม่พอ จำเป็นต้องพัฒนาปริมาณและคุณภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้ไปยังเมืองรองอื่นๆ ของประเทศ
มนุษย์นั้นมีสัญชาตญาณอย่างหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในตัวมานานนับ 1.5 - 2 แสนปี หรือประมาณ 7,500-8,000 ชั่วคน นับตั้งแต่มีร่างกายหน้าตาการเดินเหมือนมนุษย์ปัจจุบัน นั่นก็คือชอบฟัง เรื่องเล่าซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์คนอื่นๆ
แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวก็เพราะมันมีเรื่องเล่าประกอบ กล่าวคือเมื่อสิบปีก่อนในค.ศ. 2009 ตอนที่ร้านMc Donald’s จำนวน 3 สาขาถูกปิดไปเนื่องจากวิกฤตเงินในไอซ์แลนด์ ซึ่งติดเชื้อลามมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐในปี2008 จนทำให้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศเดียวในโลกตะวันตกที่ไม่มีร้านMc Donald’s ในวันที่ 31 ต.ค.ของปีนั้นก่อนที่ร้านจะปิด Hjortur Smarason ชาวไอซ์แลนด์ซื้อแฮมเบอร์เกอร์มาชิ้นหนึ่งเพื่อเป็นที่ระลึกทางประวัติศาสตร์
เขาได้ยินร้านโฆษณาว่า แฮมเบอร์เกอร์ของเขาไม่เน่าเปื่อยย่อยสลายเป็นปุ๋ย เขาจึงซื้อมาพิสูจน์ ในตอนแรกเขาเก็บไว้ในโรงรถและเห็นว่า ไม่เน่าเปื่อยจริงจึงมอบให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของไอซ์แลนด์ จนเป็นข่าวใหญ่และต่อมาก็ย้ายไปอยู่ที่โรงแรมดังกล่าว
แฮมเบอร์เกอร์ถูกเก็บไว้ในกล่องพลาสติกอย่างดี ราวกับเป็นวัตถุศิลปะอันล้ำค่าเพื่อให้เห็นว่ามันแห้งเหี่ยวลงไปแต่ไม่เน่าเปื่อย(ไม่แน่ใจว่ามีการใช้สารเคมีใดเพิ่มเติมหรือไม่ แต่บริษัทระบุว่าที่ไม่เน่าเปื่อยเพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมคือมีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม)เพียงแค่นั้นก็มีคนจากทั่วโลกเดินทางไปเยี่ยมชมจนทำให้ชาวบ้านของเมืองนี้ยิ้มผ่องใสไปตาม ๆกัน
ทำไมผู้คนนับแสนเดินทางไปดูแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นนี้? คำตอบก็คือเพราะมันมี “เรื่องเล่า” อยู่เบื้องหลังว่ามาจากวันสุดท้ายที่ร้านปิดตอนวิกฤตเศรษฐกิจและไม่เน่าเปื่อยการประโคมข่าวและการตลาดที่มีประสิทธิภาพทำให้แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากกว่าราคาเดิมของมันหลายล้านเท่า
“เรื่องเล่า” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวและการค้าในยุคปัจจุบัน ยาหรือสินค้าโบราณของไทยฟื้นตัวขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นยาหม่อง ยาสมุนไพร ยาดม ฯลฯ ในปัจจุบันก็มาจาก “เรื่องเล่า” ของความเก่าแก่ประสิทธิภาพและรสนิยมของนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนต่อปี
สมมุติว่าเราไปเที่ยวหมู่บ้านแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ที่ปลูกดอกไม้สวย ใครๆ ก็ว่าสวยแต่ก็จบแค่นั้น แต่ถ้ามีเรื่องเล่าว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นบ้านเกิดของยามาดะ หรือออกญาเสนาภิมุข ซามูไรเจ้ากรมอาสาของชาวบ้านญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา เมื่อ 450 ปีก่อนแล้วรับรองได้ว่าหมู่บ้านนี้จะสร้งความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในใจของคนไทยที่ไปท่องเที่ยวหมู่บ้านนี้อีกมากมายและสิ่งที่ตามมาคือการค้าขาย
คนไทยอาจดื่มเหล้าขาวที่มีชื่อว่า “อะวาโมริ” เมื่อไปเที่ยวเกาะโอกินาวา โดยอาจเห็นว่ามีคุณภาพดีแต่ก็ไม่รู้สึกผูกพันแต่อย่างใด แต่ถ้ารู้ว่าเป็นเหล้าที่สืบทอดมาจากโบราณกว่า 400 ปีในสมัยยังเป็นอาณาจักรริวกิว โดยนำเข้าข้าวจากอยุธยา มาผลิตตามหลักฐานประวัติศาสตร์และตลอดมาก็นำข้าวจากบ้านเราไปผลิตรับรองได้ว่า “เรื่องเล่า” นี้จะทำให้มองขวดเหล้าเดิมด้วยสายตาที่แตกต่างจากเก่า
ในบ้านเราก็มีเรื่องเล่าอยู่มากในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อ ผีสางนางไม้ ชีวิตของพระที่น่านับถือ ประวัติวัดและพระพุทธรูป ฯลฯ จนทำให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมและกราบไหว้จนเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี “เรื่องเล่า” เหล่านี้มักขาดการศึกษาวิจัย ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ หลายสถานที่เป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมา หากจะให้“เรื่องเล่า”เหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวในทุกระดับอย่างแท้จริงแล้ว การค้นคว้าหาความจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประกอบเป็นสิ่งที่จำเป็น
เศรษฐกิจสร้างสรรค์สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมูลค่าของสินค้าบริการผ่านการใช้สติปัญญาโดยใช้วัฒนธรรมประเพณี ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ประกอบการผลิตและการออกแบบแพ็กเกจอย่างมีศิลปะพร้อม "เรื่องเล่า” จะยิ่งทำให้สามารถทำมาหากินกันภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้น
การท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่ขาดเรื่องเล่าที่น่าเชื่อถือประกอบโดยทั่วไปจะไม่สามารถต่อยอดการท่องเที่ยวได้ในระยะยาว ดังนั้นผู้รับผิดชอบการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ จำเป็นต้องให้ความสนใจกับการค้นหา “เรื่องเล่า” ที่มีคุณค่าเชิงวิชาการ
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน แฮมเบอร์เกอร์เพียงชิ้นเดียวจากร้านที่ปิดตัวเองวันสุดท้ายและไม่เน่าเปื่อย สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นแสนคนต่อปี บ้านเรามีวัตถุดิบให้ “เล่น” มากมาย ในอนาคตเราจะเห็นกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำนองนี้อีกเป็นอันมากตราบที่เราส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในสังคม และระบบการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียนอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง
การท่องเที่ยวคือการศึกษา เพราะทำให้ใจเปิดกว้างยอมรับวัฒนธรรมและความคิดอื่นที่แตกต่างจากเราและเห็นตัวอย่างต่างๆ มากมายการใช้เวลาท่องเที่ยวที่ไม่หมกมุ่นกับการชอปปิ้งแต่เพียงอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องน่าคิดสำหรับคนไทยที่ออกไปเที่ยวนอกประเทศกันถึงกว่าปีละ 10 ล้านคนในปัจจุบัน