Professor of Practice
“Dr.Thun, I have good news for you” โรด้า COO ของ Asia School of Business (ASB) บอกกับผมมาทางโทรศัพท์
“The MIT Board has approved your appointment as… Professor of Practice” เสียงกล่าวอย่างยินดี
“Professor of Practice? What is that?” ผมคิดในใจ
ASB เป็น Business School ซึ่งตั้งขึ้นบนความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและ Sloan School of Management ของ Massachusetts Institute of Technology ซึ่งคนเรียกย่อ ๆ ว่า MIT
ณ วันที่ 1 ม.ค. 2563 สถาบันผู้นำ Iclif ที่ผมทำงานอยู่ จะรวมเป็นองค์กรเดียวกันกับ ASB โดยเราจะกลายเป็นส่วน Executive Education ทำหลักสูตรสำหรับผู้บริหารในองค์กร คู่กับฝั่งหลักสูตร MBA
ความสนุกคือมันจะเป็นการเชื่อมต่อจุดแข็งของกันและกัน จำนวนอาจารย์จะพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 20 คนมาจาก 10 กว่าประเทศ หลักสูตรจะครอบคลุมทั้งต้นน้ำปลายน้ำของการบริหารจัดการ และการให้บริการจะตอบโจทย์ความท้าทายขององค์กรทั้งในและนอกเอเชียได้อย่างครบวงจร
การนำ ASB และ Iclif มารวมกันจะเกิด Synergy ที่ทำให้ 1+1 > 2
ASB มีองค์ความรู้จาก MIT มีคณาจารย์ประสิทธิภาพชั้นเลิศ มีผู้เข้าโครงการปริญญาโทด้านบริหารจัดการธุรกิจจากหลากหลายประเทศทั่วโลก และผู้เรียนจะได้เข้าไปร่วมทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ผ่านโครงการ Action Learning ส่วน Iclif มีผลงานด้านการพัฒนาผู้นำเกือบ 2 ทศวรรษในประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชีย ด้วยเนื้อหาที่ผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างตะวันตกกับตะวันออก
เริ่มตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป เราจะสามารถดึงความผสมผสานดังกล่าวมามอบเป็นบริการด้านการพัฒนาผู้นำให้กับองค์กรในระดับสากล
ส่วนตัวนั้น ผมเตรียมตัวเรียนรู้ด้านวิชาการหลากหลายแขนงของ MIT ซึ่งจะมีทั้งอาจารย์ที่บินมาให้ความรู้เป็นหลักสูตร ทั้งมาประจำระหว่างภาคเรียน MBA รวมถึงการเข้าประชุม Faculty เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ อีกด้วยและหนึ่งในสิทธิ์ของการเป็น Professor คือได้เดินทางไป MIT ระหว่างซัมเมอร์ เพื่อเป็น International Fellow ทำงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
โอกาสดี ๆ มีเต็มไปหมด แต่ปัญหาตอนนี้คือ จะแปลตำแหน่งตัวเองว่าอย่างไรดี?
ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
1. Professor แปลตรงตัวคือ ศาสตราจารย์ ในกรณีนี้ผมไม่ได้ตำแหน่งเพราะผลงานด้านวิชาการ แต่ได้เพราะผลการทำงานด้าน Leadership and Management มาเกือบ 20 ปี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ถ้าเทียบเป็นปริญญาก็น่าจะหลายใบอยู่ เรื่องหลัก ๆ ที่ดูแลก็มีทั้ง Leading Change, Innovation, Mindset, Managing in the Open Source Era และด้าน Management ภายใต้สาขา Brain-Based Leadership มีโมเดล BASE เป็นของตนเอง ทำงานกับองค์กรต่าง ๆ มาร่วม 200 แห่ง แม้ไม่ได้ทำวิจัยโดยตรง แต่หากจะพูดถึงความรู้ด้านวิชาการ ก็น่าจะไม่เป็นรองชาติไหน พอกล้อมแกล้มเอาตัวรอดได้
2. Practice อันนี้อธิบายยากกว่า ไม่ได้แปลว่า ฝึกซ้อม แต่ควรจะอิงกับคำว่า Practical แปลว่าสิ่งที่นำไปใช้ได้จริงมากกว่า หากดูจากคำแนะนำผมในเว็บไซด์ของ Iclif เขาเขียนว่า “Dr Thun is one of the foremost experts on dissecting complex management and business models and cascading them for easy implementation by companies across different industries.” คือการทำเรื่องที่ยากให้ง่าย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นนิยามประจำตัวผมไปเสียแล้วที่นี่ ในการบริหารจัดการ สิ่งที่สำคัญกว่าความถูกผิดทางตำรา คือประเด็นว่ามันเวิร์คหรือไม่ ต่อให้ทฤษฎีบอกว่าถูก แต่ในทางปฏิบัตินำไปใช้แล้วไม่เกิดประโยชน์ มันก็เท่านั้น I only do what I think will be useful, and that is all (King Rama IV)
3. Professor of Practice เอา 2 อย่างมารวมกัน แปลเอาเองแบบลูกทุ่ง ๆ คือ เป็นนักวิชาการที่นำไปใช้ได้จริง “What I like about your programme Dr Thun, is its design: The continuity, the connectivity, and the variety of learning. We have content; we have experiences, we have inspirations, and we have learning-by-doing. I told my boss that in the future, it must be Dr Thun only. I don’t want anyone else to do our programmes.” ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกผมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในฐานะคนไทยที่ออกมาทำงานนอกประเทศแบบเสื่อผืนหมอนใบ ฟังแล้วภูมิใจชะมัดเลยครับ
จากบ้านมา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเดินออกจากประเทศ เพื่อมาพิสูจน์ว่า คนไทยก็ทำได้แน่ไม่แพ้ใคร แม้จะเป็นเรื่องที่คนอื่นมองว่าเราไม่เก่ง เช่น การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาภาวะผู้นำ
เริ่มต้นที่องค์กรเล็ก ๆ อย่าง The Iclif Leadership and Governance Centre ซึ่งพอยื่นนามบัตรก็ต้องอธิบายว่าตัวเองเป็นใคร ชื่ออะไร มาทำอะไร มาถึงตอนนี้โผล่ไปไหนคนก็ทักทาย อยากจะเข้ามาคุยด้วย มีลูกศิษย์ระดับผู้บริหารที่ไม่ใช่คนไทยหลายร้อยคน ก้าวต่อไปคือ Asia School of Business, in collaboration with MIT Sloan
มาดูกันนะครับ ว่า Leading-Out-of-Thailand ของเราจะไปได้ไกลแค่ไหน