หลังงบผ่าน...ระวังงานเข้า!

หลังงบผ่าน...ระวังงานเข้า!

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หลังจากนี้ก็จะเข้าวุฒิสภา ใช้เวลาอีกแค่ 20 วัน ซึ่งคงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะผ่านแน่นอน

สถานการณ์นับจากนั้นต่างหากที่น่าห่วง เพราะเมื่องบลง ในฐานะที่งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของฝ่ายรัฐบาล หากยังฟื้นเศรษฐกิจไม่ได้ คงอยู่ในภาวะ “หนาวกลางแดด” แน่ๆ

ผมเพิ่งได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารแบงก์รัฐท่านหนึ่ง คุยกันแบบตรงๆ หลังไมค์ ได้ข้อมูลน่าตกใจว่าเศรษฐกิจแย่จริงๆ และทำท่าจะหนักกว่าวิกฤติปี 40

ผู้บริหารแบงก์รัฐท่านนี้อธิบายว่า ปี 40 นั้น คนที่ได้รับผลกระทบหลักจริงๆ คือคนรวย ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมาถึงคนชั้นกลางบางกลุ่ม แต่เศรษฐกิจฐานรากและภาคเกษตรยังดี ทำให้สามารถรองรับคนตกงานจากภาคธุรกิจได้

แต่วิกฤติหนนี้ กลุ่มที่กระทบหลักคือคนชั้นกลางไล่ลงไปถึงรากหญ้า เพราะทิศทางเศรษฐกิจของโลกเปลี่ยน แถมเทคโนโลยีก้าวกระโดด ทำให้แพลทฟอร์มของตลาดก็เปลี่ยน จึงเกิดปรากฏการณ์ที่โรงงานหลายๆ แห่ง จู่ๆ ก็ยุบเลิกสายการผลิต บางแห่งผลประกอบการก็ไม่ได้ขาดทุน แต่ภาคเอกชนเขารู้ว่าไปไม่ได้แล้ว

เมื่อโรงงานปิด คนก็ตกงาน แต่วิธีการช่วยเหลือของภาครัฐยังเป็นแบบเดิมๆ คือช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุนเพื่อทำกิจการขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี คนเหล่านี้ก็นำเงินก้อนที่ได้จากการเลิกจ้าง มาผสมกับเงินกู้ใหม่ แล้วเปิดกิจการ

แต่กิจการยังเป็นแบบเก่าๆ เช่น เปิดร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ ทำให้ร้านเหล่านี้โอเวอร์ซัพพลาย กลายเป็นหนี้เสียสูงที่สุดของแบงก์รัฐบางแห่งในขณะนี้

ปัญหาจึงย้อนกลับมาที่รัฐบาล ว่าการให้ความช่วยเหลือ เน้นช่วยแต่เงินทุน แต่ไม่ได้ช่วยเรื่องโนว์ฮาว ยิ่งช่วยก็ยิ่งเพิ่มหนี้ เพราะรัฐบาลอาจจะมองไม่ขาดว่าทิศทางเศรษฐกิจมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว

ดีมานด์ในประเทศของสินค้าหลายตัวนิ่งอยู่เท่าเดิม แต่ซัพพลายเพิ่ม จึงมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ทางออกจึงต้องแสวงหาดีมานด์อื่นๆ มาเป็นทางเลือก ซึ่งปัจจุบันก็คือตลาดออนไลน์ แต่วิธีการทำให้ประสบความสำเร็จก็ไม่ง่าย หรือการเชื่อมต่อกับตลาดผู้ซื้อและผู้ผลิตใหม่ๆ ก็ต้องมีองค์ความรู้

ผู้บริหารแบงก์รัฐสรุปว่า รัฐบาลยังอ่อนในเรื่องเหล่านี้ มีแต่ความจริงใจและตั้งใจที่จะช่วย แต่ยิ่งช่วยเหมือนยิ่งซ้ำเติม

ส่วนข้อความนี้ผู้บริหารแบงก์รัฐไม่ได้พูด แต่ผมต่อเองว่าถ้าปัญหาเศรษฐกิจซ้ำเติมมากๆ ระวังจะไปเพิ่มราคาให้ “วิ่งไล่ลุง”