'ท่องเที่ยว-คมนาคม-รีเทล' กระทบก่อนใครในสถานการณ์ 'โควิด-19'
ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ โควิด-19 ท่องเที่ยว คมนาคม และรีเทล กระทบก่อน
หลังจากที่รายงานยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ทั่วโลกเพิ่มแซงหน้ายอดผู้ติดเชื้อ 8,096 ราย จากการระบาดของโรคซาร์ส เมื่อปี 2545-2546 องค์การอนามัยโลก จึงออกมาประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563
การระบาดของโรคซาร์สเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2545 และสามารถควบคุมได้ภายใน 6 เดือน แต่ในกรณีของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ยังใม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสามารถควบคุมได้รวดเร็วเพียงใด อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดคาดว่าการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนานี้ จะเข้าขั้นร้ายแรงที่สุดในช่วงกลางเดือน ก.พ. ไปจนถึงเดือน เม.ย. 2563
การระบาดของไวรัสโคโรนาในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะกินระยะเวลา 6 เดือน อาจส่งผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของเอเชียในลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับการระบาดของโรคซาร์ส หลังจากจีนและนานาประเทศได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค นั่นหมายความว่าในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะได้รับผลกระทบ และจะกลับมาเติบโตอีกครั้งในครึ่งปีหลัง คล้ายกับสถานการณ์การระบาดของโรคซาร์ส
กิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกประเทศจีนคาดว่ายังจะดำเนินไปอย่างปกติ แต่อาจจะชะลอตัวลงเพราะผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีความระมัดระวังมากขึ้น ต้องการหลี่กเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคระบาด ทั้งในเรื่องการหลีกเลี่ยงไปในที่แออัด การกักกันผู้ที่เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง จึงทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว คมนาคม รีเทล จะได้รับผลกระทบก่อนและได้รับผลกระทบมากที่สุด
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนคือปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังจากที่เกิดการระบาดขึ้นในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การออกกฎจำกัดการเดินทางของคนจีนภายในประเทศ โดยรวมแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดกับ ภาคบริการ ภาคการค้าและการผลิต รวมถึงการลงทุนระหว่างประเทศ
- ภาคธุรกิจบริการ
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงกฎเกณฑ์ด้านการเดินทางระหว่างประเทศ จะส่งผลให้กิจกรรมการอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวลดลง
- ภาคการผลิตและการค้าระหว่างประเทศ
ห่วงโซ่การผลิตของโลกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อในวงกว้างในเอเชียและทั่วโลก
- กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ
จากการที่จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย การไหลเวียนของเม็ดเงินลงทุนจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากการจำกัดการเดินทาง การชะลอของการดำเนินธุรกิจ
ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงนี้ ธนาคารยูโอบี คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยใช้กรณีศึกษาจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของ SARS และพิจารณาภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบก่อน ซึ่งหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนากินระยะเวลายาวนานถึง 6 เดือน จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศในภูมิภาคที่ประมาณ 0.5-1.50% จากค่าจีดีพีที่ประเมินไว้
โดยฮ่องกงและประเทศไทยคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น เนื่องจากพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก และนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน แต่หากการแพร่ระบาดยืดระยะเวลาออกไปเกิน 6 เดือน ผลกระทบระลอกที่สองจะเกิดขึ้นกับการค้า ห่วงโซ่การผลิต รวมถึงชะลอการลงทุนระหว่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเติบโตช้าลง เนื่องจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลักซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 27.6% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทย ทั้งนี้ 11.5% ของจีดีพีของประเทศไทยนั้นมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เติบโตขึ้นจาก 5.2% ในปี 2552 และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 16%
หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจะลดลงเหลือ 9 ล้านคนในปีนี้ หรือลดลง 20% จากนักท่องเที่ยวจากจีนจำนวน 11 ล้านคน ในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจำกัดการเดินทางท่องเที่ยวแบบคณะทัวร์จากประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 98,000 ล้านบาท หรือ 0.6% ของจีดีพีของประเทศ
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานี้ เมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดกับการจ้างงาน รายได้ และระดับความเชื่อมั่นแล้ว ยูโอบีคาดว่าจีดีพีของไทยจะลดลง 0.5-1.0% จากเดิมที่ตั้งไว้ 2.8% ตามประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ที่ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลง 0.5% เหลือ 2.8%