เราจะผ่านมันไปด้วยกัน
ช่วงเดือนที่ผ่านมา บริโภคแต่ข่าว COVID-19 จนดิฉันเองก็แทบจะไม่กล้ากระดิกตัวไปไหน
แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อเพราะมีทั้งประชุม ทั้งนัด ทั้งงานอบรมที่ลงตารางไว้แล้ว ก็ต้องเช็คกับลูกค้าทุกนัดว่าต้องเลื่อนนัดหรือไม่ เพราะบางบริษัทมีนโยบายให้เปลี่ยนไปใช้การประชุมทางออนไลน์แทน บางบริษัทสามารถประชุมแบบเจอตัวได้ แต่มีนโยบายให้ใส่หน้ากากตลอดการประชุม บางบริษัทไม่ให้จัดอบรมสัมมนาหรือประชุมหากมีจำนวนผู้เข้าประชุมเกินจำนวนที่กำหนดไว้
สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ดิฉันมีงานสอน 4 วันติดต่อกัน และแน่นอนจำนวนคนเข้าอบรมต่อวัน ๆ ละ 30 คนจึงต้องเช็คกับลูกค้าก่อนว่าจะเลื่อนไหม ส่วนหนึ่งก็เผื่อใจไว้ว่าคงต้องเลื่อนแน่นอน เพราะข่าวที่ออกมาแต่ละวันก็เพิ่มความรุนแรงขึ้น และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็พีคมาก
สิ่งที่น่าแปลกใจคือลูกค้าไม่เลื่อนเลย เอาสิ เมื่อลูกค้าไม่หยุด ดิฉันก็ลุยต่อ เตรียมอุปกรณ์ หน้ากาก เครื่องวัดอุณหภูมิ สบู่ เจลล้างมือ ให้พร้อมในคลาสเรียน
การศึกษาเรื่องจิตวิทยาคนกับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง โดย ดร. Elisabeth Kübler-Ross ได้กล่าวถึงการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง 4 ระยะคือ
1. ปฏิเสธ (Denial) ช่วงแรกที่ได้ยินข่าว ปฏิเสธ ตกใจ (Shock) เห็นข่าวที่อู่ฮั่นครั้งแรกคิดเลยว่านี่มันจริงเหรอ ไม่อยากจะเชื่อ ติดไวรัสกันเกือบแสนคน มันจะมาถึงไทยจริงเหรอ ใจก็ปฏิเสธคงไม่มามั้ง รออีกหน่อยเดี๋ยวก็คงหายไปเอง เราอยู่บ้านเรา เขาอยู่บ้านเขา
2. ต่อต้าน (Resistance) เป็นช่วงที่การต่อต้านเกิดขึ้นในใจ อ้าว COVID-19 มาไทยแล้ว เริ่มโกรธ (Anger) แสดงอารมณ์ออกมา ไม่ว่าโทษตัวเอง โทษคนโน้นคนนี้ อยู่ดี ๆ ไปกินค้างคาวทำไม ทำไมบ้านเรายังไม่ออกกฎ ยังรับนักท่องเที่ยวเข้ามาอีก โกรธบริษัททัวร์ที่ยังออกโปรถูก ๆ พาคนไปเที่ยวประเทศกลุ่มเสี่ยง โกรธคนที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วไม่กักกันตัวเอง ต่อไปนี้จะออกไปไหนต่อไหนอย่างไร ทำให้เราต้องมาวุ่นวายปรับตัว อยากจะยกเลิกทุกงานที่จองมาเพราะกังวลกลัวติด COVID
3. สำรวจ (Exploration) เมื่ออารมณ์โกรธเริ่มหายไป ต้องเรียกสติกลับมา ใช่ยังไงชีวิตต้องเดินต่อ ไวรัสยังไม่หายไป และดูท่าจะอยู่ยาว จะยกเลิกงานได้ยังไง จะปล่อยให้เศรษฐกิจมันพังไปเลยเหรอ คิดหาทนทาง เริ่มหา option หาหน้ากาก หาเจล ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ล้างมือบ่อย ๆ ออกนโยบายป้องกันลดความเสี่ยงจากการติดไวรัสเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
4. มุ่งมั่น (Commitment) ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หยุดต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้น ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ ก็ดี ไม่ได้แย่อย่างที่คิด
มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนเราจะมองเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิต โดยเปรียบเทียบกับประสบการณ์อดีต หากสิ่งใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแตกต่างไปจากสิ่งที่ตนเองคุ้นชิน ก็ยากที่ยอมรับ
ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องปกติ เราต่างต้องต่อสู้กับการต้องยอมรับกับสิ่งที่เราไม่คุ้นชิน หากไม่เข้าใจธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงก็จะฝังตัวเองกับห้วงแห่งอารมณ์ ตกใจ เสียใจ โกรธ โทษโน่นโทษนี่ ยิ่งจมอยู่ในจุดนี้นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งก้าวไปข้างหน้าช้ากว่าคนอื่น
ในช่วงวิกฤติ อะไรที่เป็นอารมณ์ให้รีบตัดทิ้ง เพราะมันไม่ใช่ของจริง