Checklist ธุรกิจ รับมือ COVID-19

Checklist ธุรกิจ รับมือ COVID-19

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว

และกว้างขวางสู่หลายประเทศทั่วโลก โดยมีความรุนแรงและยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงในระยะเวลาอันใกล้ องค์กรในภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีแผนเผชิญเหตุไว้ดูแลกิจการของตนให้ผ่านพ้นสถานการณ์ และดูแลผลกระทบให้อยู่ในวงจำกัด

สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งเน้นงานส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ ได้จัดทำแนวทางรับมือของภาคธุรกิจต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เผยแพร่สำหรับให้องค์กรได้นำไปใช้ดูแลกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญของกิจการในช่วงสถานการณ์

เอกสาร Business Response Guidance on COVID-19 สำหรับองค์กร ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานซึ่งครอบคลุมกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องหลัก 6 กลุ่ม และ Checklist สิ่งที่ควรดำเนินการ 15 รายการ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ได้อย่างรอบด้าน ดังนี้

ด้านพนักงาน ประกอบด้วย (1) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2) จัดให้มีช่องทางการติดต่อสื่อสารสองทางกับพนักงาน และมาตรการรองรับที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน (3) จัดให้มีการตรวจคัดกรองพนักงานและผู้มาติดต่อ พิจารณาจัดตั้งทีมเผชิญเหตุในกรณีฉุกเฉิน (สำหรับองค์กรที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น หรือมีการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มเสี่ยง)

ด้านลูกค้า ประกอบด้วย (4) ศึกษาและดำเนินการตามคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ประกอบการ (โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว นวดหรือสปา) คำแนะนำ การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับการจัดการประชุม สัมมนา หรือกิจกรรมอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคำแนะนำของหน่วยงานผู้กำกับดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือหมวดธุรกิจที่ตนสังกัด (ถ้ามี) (5) สื่อสารให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ บริการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทางตามที่ลูกค้าต้องการ และการทำธุรกรรมระยะไกลกับลูกค้า หรือ ณ สถานที่ที่ลูกค้าสะดวก

ด้านคู่ค้า ประกอบด้วย (6) ประเมินผลกระทบในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะผู้ส่งมอบหลักที่เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบป้อนสายการผลิตหลัก พร้อมจัดทำแนวทางและมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) (7) ปรับปรุงข้อตกลงหรือทุเลาบางข้อสัญญากับผู้ส่งมอบ รวมทั้งการพิจารณาชำระเงินคงค้างหรือเงินล่วงหน้าที่ช่วยให้ธุรกิจของผู้ส่งมอบฟื้นตัวในระยะสั้น (8) ดำเนินการประเมินอุปสงค์ใหม่หลังสถานการณ์สิ้นสุด เพื่อใช้วางแผนการบริหารจัดการอุปทานบนข้อสันนิษฐานสภาพตลาดและรูปแบบหรือพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ด้านหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย (9) ศึกษาและปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ในส่วนที่องค์กรมีความเกี่ยวข้อง (10) ติดตามรายงานสถานการณ์รายวัน รวมทั้งคำถามที่พบบ่อย (FAQs) โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ด้านชุมชน ประกอบด้วย (11) พิจารณาโอกาสและความเป็นไปได้ในการนำ Core Business ขององค์กร มาใช้ในการช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์ นอกเหนือจากกิจกรรมการบริจาคหรือการอาสาสมัคร (12) ใช้ประโยชน์จากระบบโลจิสติกส์ที่องค์กรมีอยู่ ในการเข้าถึงหรือกระจายสินค้าที่จำเป็นและขาดแคลนให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์

ด้านผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย (13) ทบทวนแผนการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการรักษาสภาพคล่องทางการเงินในช่วงสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูง รวมทั้งมาตรการทางการเงินต่างๆ ที่จำเป็นในระยะสั้น (14) ดำเนินการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) เพื่อตรวจยืนยันความเข้มแข็งทางการเงิน และพิจารณาจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ (Contingency Plan) ให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว (15) มีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบถึงแนวทางการจัดการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสาร “Business Response Guidance on COVID-19” (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org