“ไทยพีบีเอส” สื่อสาธารณะที่เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์
จากกรณีที่มีการตั้งคำถามในเว็บไซต์bangkokbiznews.com จากบทความ “ปัญหาธรรมาภิบาล ใน 3 องค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการ” เขียนโดย ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร
ไทยพีบีเอสในฐานะสื่อสาธารณะตาม พ.ร.บ.แห่งแรกของประเทศไทย ขอขอบคุณเสียงสะท้อนดังกล่าว และขอยืนยันในบทบาทและผลงานที่ผ่านมาตลอด 13 ปี ว่าได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมคุณภาพ คุณธรรม และสร้างความยอมรับในมาตรฐานของสื่อสาธารณะได้สูง
ผลการประเมินล่าสุด จากกลุ่มประชาชน 3,200 คน ที่ศึกษาโดยหน่วยงานประเมินอิสระภายนอก ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนให้คะแนนไทยพีบีเอสสูงสุด ในด้านการนำเสนอข่าวเป็นกลาง ไม่ลำเอียง ตรงไปตรงมา 33% และนำเสนอข่าวไม่บิดเบือนความจริง 21% ในขณะที่ 98% มีความเห็นว่าไทยพีบีเอสทำหน้าที่สื่อสาธารณะได้ดีแล้ว ซึ่งผลสำรวจนี้ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่สรุปว่าไทยพีบีเอสเป็นที่ยอมรับอย่างสูง ด้านความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูล
ตัวอย่างเชิงประจักษ์หลายกรณีที่ยืนยันผลสำรวจข้างต้น เช่น กรณีถ้ำหลวง ที่ไทยพีบีเอสนำเสนอมากกว่าแค่การรายงานสถานการณ์ แต่วิเคราะห์เหตุการณ์ล่วงหน้าร่วมกับเครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป้าหมายช่วยเหลือให้ 13 ชีวิตหมูป่าอะคาเดมีต้องรอดปลอดภัย จนได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวางและได้รับการโหวตจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เป็นสื่อที่รายงานปฏิบัติการถ้ำหลวงได้ดีที่สุด
กรณีเหตุกราดยิงที่โคราช ท่ามกลางบรรยากาศอันบีบคั้นและเปราะบาง ไทยพีบีเอสรายงานข่าวอย่างรับผิดชอบต่อผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ ไม่รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น จากกรณีนี้เองไทยพีบีเอสได้รับเสียงสะท้อนการทำหน้าที่ผ่านกระแสผู้ชมในสื่อสังคมออนไลน์ และในคอลัมน์สื่อต่างๆ ว่าสามารถสะท้อนบทบาทสื่อสาธารณะที่มีความโดดเด่นเรื่องจริยธรรม ความถูกต้องของข้อมูล และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด
เช่นเดียวกับกรณีวิกฤติโควิด-19 ขณะนี้ที่มีกระแสสังคมชื่นชมการนำเสนอข่าวสารของไทยพีบีเอสที่ให้ประชาชนรับทราบทั้งสถานการณ์ มาตรการสาธารณสุข และครอบคลุมทุกมิติ ตลอดจนนำเสนอแนวทางการปรับตัวหลังภาวะวิกฤติโควิด-19 หรือแม้แต่เหตุการณ์ใหญ่ๆ ระดับชาติ เช่น การเลือกตั้ง 2562 ซึ่งไทยพีบีเอสมิได้รายงานเพียงเหตุการณ์เลือกตั้ง แต่ได้เปิดพื้นที่รับฟังเสียงและข้อเสนอจากประชาชนอย่างรอบด้านมากกว่า 30 เวที เพื่อประมวลข้อเสนอเหล่านี้ไปยังพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งจากพรรคการเมือง ภาคีเครือข่าย ภาควิชาการ ภาคประชาชนและผู้รับชม ในทางชื่นชมว่า เป็นการจัดเวทีที่แตกต่าง แสดงถึงความตั้งใจในการให้น้ำหนักต่อเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
รวมไปจนถึงกรณีขับเคลื่อนยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่ไทยพีบีเอสเกาะติด เสนอข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบจากทุกด้าน จนเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายให้ความเชื่อถือว่าปลอดจากการแทรกแซง และมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและความยั่งยืนของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง
ด้วยพันธกิจของสื่อสาธารณะที่ต้องรับใช้ประชาชนทุกภาคส่วน ไทยพีบีเอสจึงยึดมั่นในหลักการของความเป็นธรรม และการนำเสนอที่ปราศจากอคติ ไม่แบ่งฝักฝ่าย โดยพยายามนำเอาเสียงและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกฝ่ายมานำเสนอบนพื้นที่สาธารณะ และมุ่งนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ดังผลประเมินที่โดดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของไทยพีบีเอส ในปี 2561 คือเป็นสื่อที่ไม่สร้างความขัดแย้งให้สังคม
นอกจากหลักความเป็นธรรมแล้ว ไทยพีบีเอสยังคำนึงถึงการให้บริการและการสะท้อนเรื่องราวของกลุ่มคนที่เปราะบาง ซึ่งอาจไม่มีมูลค่าทางการตลาด และมักถูกละเลย ไทยพีบีเอสจึงลงทุนกับการให้บริการการเข้าถึงเนื้อหาสาระของผู้พิการ ทั้งด้านการมองเห็นและได้ยิน โดยการจัดบริการล่ามภาษามือคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption : CC) และเสียงบรรยายภาพ (Audio Description : AD) เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์มากกว่า 220 นาทีต่อวัน ซึ่งมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ กสทช.กำหนดไว้ (ไม่น้อยกว่าวันละ 60 นาที) และได้พัฒนาเนื้อหารายการเพื่อเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่องโดยได้ตั้งศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและครอบครัวขึ้นมา เพื่อผลิตเนื้อหาและสร้าง Community ในกลุ่มผู้ปกครองผ่านเว็บไซต์เด็กของไทยพีบีเอสอีกด้วย
ตามเป้าหมายของ พ.ร.บ. หากจะวัดความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องดูที่บทบาทตามภารกิจหน้าที่บนความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะที่เป็นสื่อสาธารณะจึงมีมาตรฐานสูงสุดของการทำหน้าที่ “สื่อ” ในสังคมประชาธิปไตย โดยการทำรายการที่มีคุณภาพ เป็นอิสระ ยึดจริยธรรม เป็นที่พึ่งของสังคม เป็นสื่อของประชาชนอย่างแท้จริง และผลลัพธ์จากการสร้างความเปลี่ยนแปลงในวาระทางสังคมต่างๆ มิใช่ดูเพียงแค่ตัวเลขเรทติ้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ใช้จัดลำดับจำนวนผู้ชมเพื่อการขายโฆษณา
อย่างไรก็ตาม หากดูเฉพาะเรทติ้ง ไทยพีบีเอสมีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยทั้งวัน ครึ่งเดือนแรกของ เม.ย.2563 อยู่ที่ 85,000-123,000 คน เป็นอันดับที่ 12-13 และสูงถึงอันดับ 2 ในกรณีรายงานสถานการณ์ถ้ำหลวง และรายงานพิเศษต้อนรับกลับบ้าน ผู้ชมเฉลี่ย 1,339,000 คน กรณีรายงานเหตุการณ์กราดยิงโคราชวันที่ 9 ก.พ.2563 ไทยพีบีเอสขึ้นเป็นอันดับที่ 5 ในช่วงเวลา 05.00-08.50 น. ผู้ชม 381,000 คน และช่วงสถานการณ์โควิด-19 ครึ่งเดือนแรกของ เม.ย.2563 ไทยพีบีเอสขึ้นเป็นอันดับ 7 ในข่าวเที่ยง ผู้ชม 386,000 คน และข่าวค่ำอยู่ที่อันดับ 9 ผู้ชม 640,000 คน
การปรับผังเกือบ 100% ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นสถานีที่พร้อมนำพาสังคมไทยรับมือและผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด-19 นั้น ย่อมพิสูจน์ให้เห็นถึงภารกิจที่มิใช่เพียงแค่หวังผลยอดเรทติ้งเท่านั้น แต่ไทยพีบีเอสได้ออกแบบ ดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ระดมทีมข่าวทั่วประเทศ ผลิตรายการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการเตรียมพร้อมเข้าสู่วิถีปกติใหม่ (New Normal) ของทุกคนในสังคม
ดังที่ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ได้กล่าวไว้เมื่อปลายปี 2561 ในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยสื่อสาธารณะว่า ไทยพีบีเอสคือความจำเป็นของสังคมไทย เพราะสื่อสาธารณะเป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับการทำหน้าที่ “สื่อ”
โดย... สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส