เมื่อรู้จักสิทธิของตัวเองดี ย่อมต่อรองและรักษาผลประโยชน์ทั้งของตัวเองและองค์กรได้เช่นเดียวกัน
ไม่มีช่วงไหนอีกแล้ว ที่เราจะเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศมากเท่านี้ อาจเป็นเพราะความใจจดใจจ่อต่อสถานการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ หรือหน้าที่การงานของคนในยุคดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ในโลกเป็นปกติ
ประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองสมัยที่ทำงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เห็นว่าคนแต่ละเชื้อชาติที่ทำงานร่วมกันนั้น แม้จะมีความรู้ความสามารถไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ความแตกต่างภายในบุคลิกลักษณะทำให้คนแต่ละชาตินั้นมีความโดดเด่นไม่เท่ากัน
โดยชาติที่ผมเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนคือ “อินเดีย” ซึ่งข้อสังเกตนี้มีแนวโน้มเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลกที่แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นชาวอินเดียหลายบริษัทเช่นกูเกิลที่มี Sundar Pichai กุมบังเหียนมาตั้งแต่ปี 2015 Satya Nadella แห่งไมโครซอฟท์ และล่าสุด Arvind Krishna แห่งไอบีเอ็ม ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นบุคลิกลักษณะบางอย่างของชาวอินเดียที่โดดเด่นจนทำให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของบริษัทชั้นนำระดับโลก
หากเปรียบเทียบมันสมองที่สะท้อนผ่านผลการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว อินเดียไม่ได้เหนือกว่าชนชาติที่มีเชื้อสายจีนแต่อย่างใด แต่เมื่อดูจากการเติบโตในการทำงานร่วมกับบริษัทข้ามชาติแล้วเราจะเห็นสัดส่วนของคนอินเดียเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตำแหน่งบริหารระดับสูง
ความแตกต่างประการสำคัญที่ทำให้ชาวอินเดียโดดเด่นในแวดวงการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกนั้น จึงไม่ได้อยู่ที่ความเก่งกาจเฉพาะตัว หรือไอคิวที่สูงกว่าชนชาติอื่น แต่ผมเชื่อว่าบุคลิกประการสำคัญคือ ”ความแน่วแน่” ที่จะแสดงความสามารถให้คนรอบข้างยอมรับ
อย่างที่ทราบกันดีว่าในแวดวงการศึกษา จีนได้รับเหรียญรางวัลโอลิมปิกวิชาการเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับไทย แต่เมื่อคนเหล่านี้เข้าสู่แวดวงการทำงานแล้ว ค่านิยมหรือวัฒนธรรมของคนเชื้อสายจีนหรือแม้แต่คนไทยเราเอง ถูกสอนให้ไม่อวดตัว ถ่อมตน ไม่แสดงความคิดมากนักในการประชุมโดยเฉพาะหากมีผู้อาวุโสในที่ประชุม
ค่านิยมเหล่านี้อาจใช้ได้ผลดีในประเทศแถบบ้านเรา แต่กับประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างสหรัฐอเมริกานั้นอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะท่ามกลางคนเก่งระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกมารวมตัวกันอยู่นั้น การสงบเสงี่ยม เจียมเนื้อเจียมตัวอาจทำให้ถูกมองข้าม และไม่มีใครมองเห็นความ สามารถ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราไม่ค่อยเห็นคนเชื้อสายจีนหรือคนเอเชียในประเทศแถบบ้านเรา ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดในองค์กรระดับโลกเหล่านี้ ยกเว้นจะก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่แล้วเชื่อว่าค่อย ๆ ทำงาน ค่อย ๆ สะสมผลงานไปเรื่อย ๆ แล้วจะเติบโตได้เอง ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว เจ้านายกลับมองไม่เห็นตัวตนของเราแม้แต่น้อย
ผมเชื่อว่าความแน่วแน่หรือ Assertive เป็นความแตกต่างสำคัญที่ทำให้คนอินเดียมีความโดดเด่นในเวทีระดับโลก ซึ่งคนเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะมีค่านิยมที่แตกต่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นในการใช้ชีวิตทุกขั้นตอนโดยเฉพาะการทำงาน
เพราะความ “เกรงใจ” ทำให้เราไม่กล้าพูดตรง ๆ กับคนอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการพูดตรง ๆ จะทำให้เกิดความชัดเจนมากกว่า เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นในตัวเองซึ่งเรามีน้อยกว่าคนอินเดียและคนตะวันตกอยู่มากอันมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง อย่างเช่นชั่วโมงการทำงานที่หลาย ๆ คนไม่กล้ากลับบ้านแม้จะเลยเวลาทำงานแล้วเพราะกลัวจะถูกมองว่าไม่ทุ่มเทจนทำให้พลาดโอกาสที่จะทำกิจกรรมกับครอบครัว ทั้งที่เป็นสิทธิของตัวเองในการใช้วันลาตามกติกาของบริษัท
เรื่องเหล่านี้อาจเป็นเรื่องพื้นฐานแต่สะท้อนให้เห็นว่าความแน่วแน่ของแต่ละคนนั้นจะสร้างความแตกต่างได้มากมาย เพราะเมื่อรู้จักสิทธิของตัวเอง ก็ย่อมรู้จักที่จะเจรจาต่อรองและรักษาผลประโยชน์ทั้งของตัวเองและองค์กรได้เช่นเดียวกัน