จะสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่กันอย่างไร
“เราไม่อาจจะแก้ปัญหาปัจจุบันโดยใช้วิธีคิด วิธีเดียวกับที่เราใช้ตอนที่เราสร้างปัญหานั้นๆ ได้” อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
โรคระบาดโควิด-19 สร้างปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคมชนิดใหม่ ที่เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเก่า-แนวทุนนิยมอุตสาหกรรมข้ามชาติที่เน้นความเติบโตเชิงปริมาณของการผลิต/การบริโภคสินค้าและบริการ เพราะวิธีคิดแบบเก่านี้คือ ตัวการที่สำคัญที่สร้างปัญหาตั้งแต่ต้น
ปัญหาโรคระบาดจากไวรัสชนิดต่างๆ ซึ่งเกิดมาแล้วหลายครั้ง เชื่อมโยงกับปัญหาการรุกรานทำลายระบบธรรมชาติเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของมนุษย์ เช่น ไวรัสโรคเอดส์ที่สงบนิ่งอยู่ในป่าลึกแอฟริกาเผยแพร่มาสู่คนได้ เพราะมนุษย์ทำลายป่ามาก ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์โควิด-19 สันนิษฐานว่ามาจากการที่มนุษย์บริโภคทั้งสัตว์ป่าบางชนิด การหากำไรจากธุรกิจนี้ทำให้มีการเอาทั้งสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง มาขังรวมกัน การเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งกำไรสูงสุดของเอกชนก็ใช้อาหารสัตว์ที่มีความสกปรก มีความเสี่ยงต่อการแพร่ของเชื้อโรคชนิดต่างๆ มาก
โรคโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกเร็วมาก กว้างขวางมาก เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติหรือโลกาภิวัฒน์ที่เน้นการหากําไรของธุรกิจเอกชน ได้พัฒนาระบบการขนส่งที่ทำให้คน สินค้า เดินทางกันไปประเทศต่างๆ อย่างกว้างขว้างรวดเร็ว เมืองที่โรคระบาดโควิด-19 เกิดก่อน และระบาดมากคือเมืองใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางการเดินทาง การค้ากับประเทศต่างๆ ประชากรเข้ามาอยู่กันมาก อยู่กันอย่างแออัด ติดต่อสัมพันธ์กันมาก ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมเน้นการผลิต การค้า แบบรวมศูนย์ที่เมืองใหญ่
ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ ที่มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง และติดต่อกับประเทศอื่นน้อย (ชุมชนชนบทขนาดเล็กด้วย) จะได้รับผลกระทบจากโรคระบาดน้อยกว่า
การพัฒนาแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ทำลายระบบนิเวศ ทำลายสุขภาพประชาชน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาคนจนเพิ่มขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้คน โดยเฉพาะคนยากจน ป่วยด้วยโรคอื่น มีภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากโรคระบาดเพิ่มขึ้น
ถึงแม้ว่าไวรัสโควิด-19 อาจจะสงบลงได้ในระดับหนึ่งในปลายปีนนี้หรือปีหน้า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะหายไปโดยสิ้นเชิง โควิด-19 และหรือไวรัสชนิดอื่นๆ อาจจะกลับมาระบาดได้อีกในอนาคต ถ้าประเทศส่วนใหญ่ คนส่วนใหญ่ ยังพัฒนาเศรษฐกิจและใช้วิถีชีวิตการผลิตการบริโภคแนวทุนนิยมอุตสากรรมที่เน้นการหากำไรสูงสุด บริโภคสูงสุดแบบเดิม
ดังนั้นเราจึงควรสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคระบาดและภัยจากธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อมให้กับมนุษย์และสังคมได้ดีขึ้นกว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
1.นำแนวคิดการพัฒนาทางเลือกของเศรษฐศาสตร์เชิงระบบนิเวศ การพัฒนาแนวหยุดการเติบโต (Degrowth) ที่เน้นการเจริญงอกงามของคุณภาพชีวิตและสังคม ความเป็นธรรม ความยั่งยืนมาใช้แทนเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเติบโตเชิงปริมาณการผลิต/บริโภคสินค้าและบริการ(จีดีพี) ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้จะลดความเสี่ยงจากเรื่องโรคระบาดและภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน มลภาวะได้ดีขึ้น รวมทั้งเวลาเกิดปัญหาก็จะมีความยืดหยุ่น ปรับตัว ฟื้นตัวได้ดีกว่า
2.ปฏิรูประบบการคลัง การเงิน งบประมาณ แบบเก็บภาษีคนรวยสูง เพื่อกระจายทรัพย์สิน ทรัพยากร รายได้ การศึกษา การสาธารณสุข การมีงานทำ ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศอย่างเป็นธรรม ลดขนาดเมืองใหญ่และการผลิตแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่ลง ทำให้ชุมชนขนาดเล็กพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจสังคมได้มากขึ้นผลิต/บริโภคอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้เอง หรือค้าขายแลกเปลี่ยนในเขตใกล้ๆ ลดการขนส่งระยะยาว จะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลภาวะ และสดการเสี่ยงเรื่องการแพร่เชื้อจากการผลิต ค้าขาย ติดต่อกันของคนจำนวนมากในเมืองใหญ่
3.สร้างเศรษฐกิจภาคเพื่อส่วนรวม สำหรับทรัพยากรและกิจการที่จำเป็นสำคัญต่อส่วนรวมในหลายรูปแบบ เช่น รัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการปฏิรูปการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพแบบเอกชน (ตัวอย่างในสิงคโปร์ ยุโรปเหนือ) ระบบโรงงานและธุรกิจที่คนงานถือหุ้น ร่วมบริหาร (เยอรมัน และ ฯลฯ) ระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค (เสปน ญี่ปุ่น ฯลฯ) เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรมมากกว่ากำไรของนายทุนเอกชน
4.ภาคการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่มีส่วนดีในแง่ส่งเสริมการแข่งขัน การสร้างแรงจูงใจ ความมีประสิทธิภาพควรรักษาไว้ แต่ต้องเน้นการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ใช่การแข่งขันเสรีแบบทุนใหญ่กินทุนเล็กซึ่งนำไปสู่การผูกขาด/กึ่งผูกขาด กิจการบางอย่างที่ต้องลงทุนสูง หรือทำเป็นขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพดี ต้องทำเป็นระบบสหกรณ์หรือ บริษัทมหาชนที่ประชาชนถือหุ้นใหญ่ หรือรัฐวิสาหกิจ.วิสาหกิจชุมชน ที่เน้นบริหารแบบเอกชน บริษัทใหญ่ที่มีอยู่แล้วดำเนินการต่อได้ แต่ต้องป้องกันการผูกขาด ป้องกันการเอาเปรียบแรงงาน ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และควรต้องเสียภาษีในอัตราสูง เพราะได้กำไรมากจากขนาดและความได้เปรียบอื่นๆ
5.สร้างระบบสังคมสวัสดิการที่ดีภาครัฐควรลงทุนด้านการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาทางสังคม ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าถึง เพราะถ้าปล่อยตามกลไกตลาดทุนนิยม คนจนส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึง และเสียเปรียบ
6.การประกันรายได้ขั้นต่ำ (Universal basic Income) โดยการคืนภาษีให้ประชาชนทุกคน หรือเฉพาะคนด้อยโอกาส รายได้ต่ำ (negative income tax)ให้มีรายได้ขั้นต่ำพอยังชีพอยู่ได้โดยรัฐจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำให้ เพราะรัฐสามารถระดมทรัพยากร งบประมาณได้มากกว่าประชาชน และระบบเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างงานที่ให้รายได้อย่างเหมาะสมได้อย่างทั่วถึง ในอนาคต เมื่อเศรษฐกิจสามารถนำหุ่นยนต์มาใช้งานแทนแรงงานคนได้มากขึ้น ต้องทำให้หุ่นยนต์เป็นของส่วนรวม หรือเก็บภาษีจากเจ้าของหุ่นยนต์ ที่ทำกำไรได้ มาจ่ายเลี้ยงดูประชาชนที่ไม่มีงานทำหรือมีงานลดลง มีรายได้ไม่พอยังชีพ
7.พัฒนาการศึกษา สื่อสารมวลชน สื่อทางสังคม การเมือง การบริหาร ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ให้เป็นประชาธิปไตย(ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม)แบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ฝึกฝนให้เด็กเยาวชน ประชาชนมีจิตสำนึกของพลเมืองที่ความรับผิดชอบเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้น มีจิตใจประชาธิปไตยแบบใจกว้าง เคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ รักสันติ ความเป็นธรรม ความโปร่งใส ไม่คิดโกง/เอาเปรียบคนอื่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันและกัน มีสุขภาพจิตที่ดี มีวุฒิภาวะทางความคิดจิตใจและอารมณ์