“บุกรุกป่า” เมื่อไม้แข็งไม่ใช่ทางเลือกเพื่อจัดการป่ายั่งยืน

“บุกรุกป่า” เมื่อไม้แข็งไม่ใช่ทางเลือกเพื่อจัดการป่ายั่งยืน

“คนไม่ควรอยู่ในป่า” เป็นฐานคิดของรัฐไทยที่นำมาสู่การตั้งกฎระเบียบและจัดการประชาชนด้วยไม้แข็ง อย่างการจับกุมโทษฐาน “บุกรุกป่า”

โดยที่หลายคดีเป็นพื้นที่ทับซ้อนและประชาชนอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเป็นเขตป่า

ฐานคิดลักษณะนี้นำมาสู่มาตรการและกฎหมายที่กระทบประชาชน เช่นเดียวกับการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รัฐบาลกำหนดให้ทุกคนต้องอยู่ในบ้านตามช่วงเวลาที่กำหนด บนฐานคิดว่าทุกคนมีบ้านให้กลับ นำไปสู่การจับกุมคนไร้บ้านตามที่ปรากฏเป็นข่าว ทั้งสองกรณีสะท้อนให้เห็นถึงการออกมาตรการทางกฎหมายที่ไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคม

คดีบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย แม้บางกรณีจะเป็นการบุกรุกใหม่แต่หลายกรณีเป็นกรณีที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนมีการประกาศเป็นเขตป่า เช่น การประกาศอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ เมื่อพ.ศ. 2535 มีแนวเขตทับซ้อนกับหมู่บ้านซับหวายและหมู่บ้านหินรู ซึ่งจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามกฎหมายปกครองท้องที่ใน พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2518 ตามลำดับ จากกรณีดังกล่าว มีชาวบ้านในพื้นที่ถูกดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 14 คน จาก 19 คดี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 เดือน – 1 ปี โทษปรับตั้งแต่ 40,000 – 900,000 บาท ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าชุมชนที่อาศัยในพื้นที่มีมากกว่าสองร้อยครัวเรือน แต่กลับมีการดำเนินคดี 19 คดี เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมได้หมด

อีกกรณีในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีการตั้งหมู่บ้านตามกฎหมายในปี พ.ศ. 2518 ก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานใน พ.ศ. 2524 และอพยพชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ซึ่งพื้นที่ใหม่ศักยภาพไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพเช่นเดิม ทำให้ชาวบ้านอพยพกลับและถูกเจ้าหน้าที่ไล่รื้อ เผาที่อยู่อาศัย

ทั้งสองกรณีประชาชนมีหลักฐานการอาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนรัฐประกาศเป็นเขตป่า ทั้งที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผังครอบครัวของชุมชน อายุของต้นไม้ที่ปลูก ร่องรอยการทำเกษตร พิธีกรรมที่ผูกติดกับพื้นที่ และหลักฐานที่เป็นทางการ เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านตามกฎหมาย แต่รัฐกลับมองข้ามและถามหา เอกสารสิทธิเป็นหลักฐานเพียงอย่างเดียว ทั้งที่การอยู่อาศัยของประชาชนไม่อยู่ในการรับรู้ของรัฐแต่แรก จึงย่อมไม่มีเอกสารสิทธิ และนำไปสู่การจับกุมลงโทษ

การทำเช่นนี้ย่อมเป็นการพรากการเข้าถึงอาหาร ที่อยู่อาศัย อาชีพ และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ถึงแม้จะมีการแก้ปัญหาโดยการผ่อนผัน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นรับรองสิทธิประชาชน โดยประชาชนยังคงมีความผิดตามกฎหมายอาญา ปัญหานี้จึงยังเรื้อรังและรัฐยังคงหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่รุนแรงเด็ดขาดมากขึ้น เช่น มาตรการทวงคืนผืนป่า

การใช้ไม้แข็งลักษณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ (Overcriminalisation) คือการใช้โทษทางอาญาที่ขัดกับหลักการของกฎหมาย คือ ใช้กับการกระทำที่ไม่ได้ละเมิดศีลธรรมหรือก่ออันตรายต่อสังคม และมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมได้หมดทุกคน การบังคับใช้กฎหมายอาญาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งการใช้โทษทางอาญายังเป็นการเลือกจัดการปัญหาด้วยวิธีรุนแรงที่สุด ซึ่งควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย

ความผิดฐานบุกรุกที่ป่าตามกฎหมายอุทยานนั้น ครอบคลุมตั้งแต่การเก็บหาหรือนำทรัพยากรธรรมชาติออกไป จนถึงการยึดถือหรือครอบครองที่ดิน แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ยอมให้มีการใช้พื้นที่อุทยานนอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวและวิจัย ซึ่งเป็นการมองข้ามคนในพื้นที่ที่อาจเข้าถึงการใช้ประโยชน์ด้วยวิถีที่เกื้อกูลธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กระทำความผิดฐานนี้อาจฝ่าฝืนเพื่อการดำรงชีพตามความจำเป็นหรือมุ่งทำกำไรก็ได้ แต่ถ้อยคำในกฎหมายทำให้เกิดการเหมารวมกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและอยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่ากลายเป็นผู้บุกรุกป่าไปด้วย

การจับกุม ไล่รื้อที่อยู่อาศัยของคนที่อยู่ในป่ามาก่อนรัฐประกาศเป็นเขตป่า จึงไม่ต่างอะไรกับการลงโทษคนเพียงเพราะเขาอยู่ในบ้านตัวเอง ซ้ำยังไม่ทำให้ป่าได้รับการฟื้นฟู เช่นเดียวกับการลงโทษคนไร้บ้านเพราะไม่อยู่บ้านในช่วงเคอร์ฟิว ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโรคระบาดแต่อย่างใด

 “คนอยู่กับป่า” เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานนั้น ซึ่งมีทั้งงานวิจัยและตัวอย่างในประเทศที่พบว่าคนอยู่กับป่าได้ และยังช่วยฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่ง Elinor Ostrom นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเป็นผู้เสนอว่าการจัดการทรัพยากรร่วมอย่างยั่งยืน เช่น ป่า นั้นทำได้โดยการกำหนดกลุ่มคนและขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน โดยผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางกติกาการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับชุมชนและพื้นที่ และมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบ มีกลไกขจัดความขัดแย้งที่ไม่ยุ่งยาก สามารถลงโทษกันเองด้วยโทษสถานเบา โดยอยู่ในความรับรู้ของรัฐ ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดนี้ จะทำให้ชุมชนเกิดพฤติกรรมการร่วมมือกัน (cooperative behavior) และลดการใช้ทรัพยากรเกินสมควร (overexploitation)

ดังนั้น การจัดการกับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติจนถึงโรคระบาด รัฐต้องปรับฐานคิดในการกำหนดมาตรการหรือนโยบาย โดยให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนแต่ละกลุ่ม และคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตเป็นอันดับแรก ยิ่งไปกว่านั้น รัฐต้องเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับสภาพปัญหา ซึ่งอาจจะเป็นการช่วยเหลือ การให้ความรู้ การขอความร่วมมือ จนถึงการลงโทษสถานเบาก่อน และกำหนดความผิดสถานหนักให้จำกัดและชัดเจน

เมื่อรัฐมีความเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชน เลือกใช้ไม้อ่อนไม้แข็งได้ตรงปัญหานอกจากจะไม่ซ้ำเติมกลุ่มเปราะบางของสังคมแล้วยังเป็นการลดภาระเจ้าหน้าที่ในการใช้ไม้แข็ง ตลอดจนลดความขัดแย้งและสามารถสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

โดย... สิรนันท์ เดชะคุปต์