หย่อนการ์ด...เปิดใจ
คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นกลุ่มคณะ 7 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกฯ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
โดยปฏิบัติงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ซึ่งมีภารกิจหลักคือสร้างให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่พฤติกรรมทางการค้าและโครงสร้างของตลาด ภายใต้ระบบนิเวศของเศรษฐกิจที่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย
เจตนารมณ์สำคัญของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ มิใช่เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง หากแต่เป็นเครื่องมือสำหรับคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับให้ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินธุรกิจ
และเมื่อการดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ที่สุดแล้วประโยชน์ย่อมตกแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ดังจะเห็นได้จาก 2 กรณีที่จะนำมาเป็นตัวอย่าง
กรณีที่หนึ่ง เป็นเรื่องการปรับขึ้นค่าบริการการจัดส่งอาหารจากการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น (Application) นาย ก. ร้องเรียนมายัง สขค.ว่าบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการระบบเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ขับขี่รับส่งอาหารจากการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นของนาย ก. ได้ขึ้นค่าบริการส่งอาหารอย่างไม่เป็นธรรม
โดยนาย ก.ได้ใช้บริการบริษัท A อยู่เป็นประจำ และจะสั่งอาหารจากร้านเดิมมาส่งยังจุดหมายเดิม แต่บริษัท A ขึ้นค่าบริการส่งอาหารตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เมื่อ สขค.ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงทำการตรวจสอบในเบื้องต้นก็พบว่าบริษัท A ได้ขึ้นค่าบริการส่งอาหารจริง ทั้งที่สั่งอาหารจากร้านเดิม และจัดส่งไปที่อยู่เดียวกันตามที่นาย ก. ร้องเรียน
แม้บริษัท A จะอ้างว่าค่าบริการส่งอาหารนั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะทางและร้านอาหารที่ลูกค้าสั่งนั้นได้ทำสัญญาเป็นคู่ค้าหรือพาร์ทเนอร์ (Partner) กับบริษัท A หรือไม่ ถ้าร้านอาหารใดเป็นคู่ค้ากับบริษัท A ค่าบริการส่งอาหารจะต่ำกว่าร้านอาหารที่ไม่เป็นคู่ค้า แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าบริษัท A คิดค่าบริการส่งอาหารแตกต่างกันทั้งที่ระยะทางจัดส่งเท่ากันระหว่างร้านอาหารที่เป็นคู่ค้ากับบริษัท A และระหว่างร้านอาหารที่ไม่เป็นคู่ค้ากับบริษัท A
สขค.จึงตรวจสอบต่อไปว่า บริษัท A เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ เพราะถ้าบริษัท A เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท A อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 50 แต่ถ้าบริษัท A ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด พฤติกรรมทางการค้าของบริษัท A อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ
ผลปรากฏว่าบริษัท A ไม่เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 57 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น” สำหรับกรณีนี้ นาย ก.เป็นผู้ใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น กล่าวคือ นาย ก.อยู่ในฐานะผู้บริโภค มิใช่เป็นผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ตามมาตรา 57 ประกอบมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ทาง สขค.จึงเสนอต่อ กขค.ให้พิจารณายุติเรื่องร้องเรียน เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ และมิได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กขค.
กรณีที่สอง เป็นเรื่องความไม่สะดวกในการรับบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ นาย ก.ได้ร้องเรียนมายัง สขค.ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือจากร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์ (Franchise) หนึ่ง ดังนั้น สขค.จึงตรวจสอบข้อเท็จจริงและพบว่าร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์นั้นจะให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือที่เคาน์เตอร์เพียงสองเครือข่าย คือ เครือข่าย A และเครือข่าย B
แต่นาย ก.ต้องการซื้อบริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือเครือข่าย C ซึ่งสามารถซื้อบริการได้ผ่านตู้เติมเงินที่ตั้งอยู่หน้าร้าน เหตุที่ไม่สามารถให้บริการภายในร้านได้ เพราะอยู่ในช่วงการเจรจาต่อรองอัตราส่วนแบ่งรายได้ระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย C และร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์นี้
เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย C ต้องการให้ทางร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์คิดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต่ำกว่าอีกสองบริษัทที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ทางร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์นี้ไม่ยินยอม เพราะเกรงว่าหากคิดอัตราส่วนแบ่งรายได้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย C ต่ำกว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเครือข่าย A และ B ซึ่งได้รับอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่เท่ากัน
พฤติกรรมทางการค้าในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้ ที่สุดแล้ว สขค.จึงเสนอเรื่องต่อ กขค.ให้พิจารณายุติเรื่องร้องเรียน เพราะเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ
แม้เรื่องร้องเรียนทั้งสองกรณีตัวอย่างข้างต้นอาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ แต่ก็เป็นหน้าที่ของ สขค.ที่จะต้องแจ้ง อธิบาย สร้างความเข้าใจ พร้อมทั้งแนะนำหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กลับไปยังผู้ร้องทุกกรณี
กล่าวได้ว่า พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบธุรกิจ ในทุกระดับ จึงมิอาจปฏิเสธที่จะสรุปว่าผู้ประกอบธุรกิจทุกรายควรเปิดใจเพื่อเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 อย่างเต็มที่