โควิดกับจุดแข็งด้านบริการทางการแพทย์ของไทย
นอกจากวิกฤติโควิดที่ยังแพร่ระบาดทั่วโลก หลายประเทศก็ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่ทำให้มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
ประเทศไทย แม้ว่าจะโชคดีที่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้เป็นผลดีและทันเวลาจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกก็ตาม แต่เราก็ไม่ได้โชคดีนักในเรื่องเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิดแล้ว และมาตรการล็อกดาวน์กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ก็น่าจะแก้ไขได้ยากกว่าเมื่อครั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เพราะเราคงไม่สามารถหวังให้ภาคส่งออกมาช่วยให้เราหลุดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ได้เหมือนครั้งก่อน
ในยามนี้ ภาคเศรษฐกิจไทยยังคงมีจุดแข็งอื่นหลงเหลืออยู่หรือไม่
ผลงานของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือกับโควิดที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ นอกเหนือไปจากบริการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมากก่อนหน้านี้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub)” ของภูมิภาคนี้ และมีศักยภาพที่อาจจะขยายเชื่อมต่อกับเรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” ได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในไทยก็มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้มีการขยายสาขาและสร้างพันธมิตรเพื่อเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรซึ่งแม้แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐเองบางแห่ง ก็ได้มีการลงทุนเพื่อขยายศักยภาพการให้บริการรักษาพยาบาลเพื่อแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนกันแล้วเป็นต้น
ปัจจัยหนุนสำคัญที่มีต่อการขยายตัวของบริการด้านสุขภาพไทยที่นอกเหนือไปจากชื่อเสียงการรับมือโควิดแล้ว เราก็ยังมีจุดแข็งอีกหลายประการ เช่นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ได้ทำให้ความต้องการใช้บริการโรงพยาบาลมีมากขึ้น และเรื่องการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อสูงเป็นต้น
ทั้งนี้ ปริมาณลูกค้าเกือบ 90% ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นลูกค้าในประเทศ ที่เหลือคือลูกค้าจากต่างประเทศที่แต่เดิมมาจากประเทศในตะวันออกกลางที่มีอำนาจซื้อสูง แต่ก็เริ่มมีสัดส่วนที่ลดลงเพราะผลจากการปรับลดราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนไทยจึงหันมาหาลูกค้าจากประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และรัสเซีย เป็นต้น และประเทศที่มีโรงพยาบาลเอกชนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในภูมิภาคนี้ก็คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย
ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมภาคบริการสุขภาพไทยได้อย่างไรทั้งในระยะสั้นและยาว
ก่อนหน้านี้ รัฐส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการแพทย์ไปลงทุนในเขตพื้นที่ EEC โดยให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่นักลงทุน แต่ผลกระทบของโควิดได้ทำให้นักลงทุนบางส่วนต้องกลับมาทบทวนเรื่องการลงทุนในพื้นที่ EEC กันใหม่ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่มีโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และภาคกลางเป็นหลักนั้นได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่ที่ “ศูนย์กลางทางการแพทย์” ของภูมิภาคที่แท้จริงก็คือกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงแทนที่จะเป็นพื้นที่ EEC ตามที่เคยคาดหวังกันไว้
ภาครัฐจึงควรใช้จุดแข็งในเรื่องนี้มาใช้ฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ด้วยการบริหารจัดการระบบป้องกันเชื้อให้รัดกุมโดยเรียนรู้จากช่องโหว่ที่เกิดขึ้นจนเป็นข่าวครึกโครมเมื่อไม่กี่วันนี้ เพื่อเราจะได้สามารถเปิดรับลูกค้าชาวต่างชาติที่มีอำนาจซื้อสูงที่กำลังรอเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ของไทยได้อย่างปลอดภัยต่อไปโดยเร็ว
ในส่วนของปัญหาระยะยาวนั้นเรายังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ เพราะประเทศไทยมีสัดส่วนจำนวนแพทย์ต่อประชากรที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งปัญหานี้จำเป็นที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันลงทุนเรื่องโรงเรียนผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งอาจเริ่มจากการขยายความร่วมมือและสร้างเครือข่ายระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐในเรื่องต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมที่ปฏิบัติได้จริงมากขึ้น
จุดอ่อนที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งของระบบบริการสุขภาพไทยก็คือ ปัญหาเรื่องความมั่นคงทางการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ท้าทายของประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สังคมผู้สูงอายุจะเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องจำนวนผู้ใช้บริการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่จำกัด ซึ่งความหวังเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ของประชากรให้ใส่ใจดูแลสุขภาพเพื่อไม่ให้ป่วยนั้นจะทำได้ในขอบเขตที่จำกัดเท่านั้น เพราะยากที่ใครจะฝืนกฎธรรมชาติของคนสูงอายุที่มักจะเจ็บป่วยกันได้มากกว่าคนปกติทั่วไปที่อายุน้อยกว่า
ดังนั้นทางออกคงหนีไม่พ้นที่ภาครัฐจะต้องสนับสนุนให้มีการออกแบบระบบในระยะยาวให้ผู้ที่มีความสามารถในการจ่ายนั้นต้องรับภาระการร่วมจ่ายในบางส่วนให้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีความเป็นธรรมและเกิดประสิทธิภาพไปพร้อมกัน
ประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความยั่งยืนของระบบบริการสุขภาพไทยในระยะยาว และเป็นกุญแจสำคัญของระบบสาธารณสุขไทยที่จะใช้ไขสู่ทางออกของประเทศเพื่อให้ผ่านพ้นจากทั้งโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจได้ในอนาคต
โดย...
ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา
กนิษฐา หลิน