เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ ถ้าโควิดไม่นิ่ง
บทความ “อย่าประมาทสถานการณ์โควิด-19” ที่ผมเขียนวันจันทร์ที่แล้วเตือนให้ระวังความเสี่ยงของโควิด-19 รอบสอง
โดยเฉพาะจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลงพิมพ์ได้ไม่ถึงครึ่งวัน ก็มีข่าวทหารอียิปต์และเด็กลูกทูตซูดาน ที่สร้างความหวั่นวิตกและความผิดหวังให้กับคนทั้งประเทศในระบบกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศของทางการที่มีช่องโหว่ ชี้ให้เห็นถึงความหละหลวมในการทำหน้าที่จนทางการต้องออกมาขอโทษ จุดอ่อนเหล่านี้ถ้าไม่แก้ไข ก็คือความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศมีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง และถ้าเกิดขึ้น โอกาสที่กิจกรรมเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังก็จะหมดลงทันที เพราะประมาณการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าจากทุกสำนัก ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า จะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง ในประเทศ นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในบทความอาทิตย์ที่แล้ว ผมชี้ว่า การระบาดของโควิด-19 รอบสองขณะนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ล่าสุด ก็ออสเตเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ดีในรอบแรก ทำให้ชัดเจนว่า การระบาดรอบสองเกิดขึ้นได้ และจะเกิดได้ง่ายถ้าระบบป้องกันในประเทศมีช่องโหว่ ซึ่งจากเหตุการณ์ในประเทศอื่นที่เกิดขึ้น จุดเสี่ยงที่เห็นชัดเจน ก็คือ การเดินทางเข้าประเทศของบุคคลจากต่างประเทศ ที่นำเชื้อไวรัสติดตัวมาด้วย จึงสำคัญมากที่ประเทศจะต้องมีระบบการคัดกรอง และการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศที่รัดกุม ไม่มีช่องโหว่ และทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อนำเข้าเหล่านี้มาระบาดในประเทศ
ในเรื่องนี้ อย่างที่เป็นข่าว จุดเปราะบางสำคัญอยู่ที่ความเข้มงวดของระบบกักตัว โดยเฉพาะการให้สิทธิพิเศษแก่บุคคลต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาระยะสั้น ที่ทำให้ระบบกักตัวมีช่องโหว่ จนสร้างปัญหากับคนในประเทศ นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังมากในกรณีของแรงงานต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศ ที่ต้องมีการกักตัวอย่างจริงจัง รวมถึง การลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีการตรวจหรือกักตัว ที่สร้างความเสี่ยงต่อคนในประเทศ
นี่คือ 3 จุดเปราะบางหลักที่ผมเขียนถึงอาทิตย์ที่แล้ว
อุทาหรณ์สำคัญจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ใน จ.ระยอง คือประชาชนรับไม่ได้ถ้าการระบาดประทุขึ้นอีก เพราะประเทศได้ปลอดจากการระบาดภายในประเทศมาเกือบ 50 วัน บนความอ่อนล้าของประชาชน ประชาชนต้องการความปลอดภัยทางสาธารณสุขให้มีต่อไป เพื่อเป็นฐานของการกลับคืนสู่ภาวะปรกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีรายได้ ข่าวการไม่ปฏิบัติตามกฎของทหารอียิปต์ ทำให้หลายกิจการต้องปิดโรงเรียนต้องหยุด ซึ่งสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนอย่างมากให้กับคนในพื้นที่ ความรู้สึกของประชาชนที่แสดงออกมาจึงสำคัญ ทำให้ยากที่เราจะเห็นประชาชนยอมรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นการทั่วไปอย่างในอดีต ในภาวะที่การระบาดทั่วโลกยังไม่หยุด และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ตรงกันข้าม ประชาชนพร้อมที่จะทำมาหากินตามวิสัยตามอัตภาพในโลกเศรษฐกิจที่ไม่เต็มร้อย แต่ปลอดภัยเพราะไม่มีการระบาดของโควิดภายในประเทศ นี่คือ สิ่งที่ประชาชนเลือกและคงเป็นความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ การรักษาสถานภาพของการไม่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศ จึงสำคัญมาก ทั้งต่อสุขภาพของประชาขนและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยถึงวันนี้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ตัวอย่างเช่นข้อมูลจากเว็บไซต์อิสระ Endcoronavirus.org ระบุว่า ณ วันที่ 15 ก.ค. มีเพียง 44 ประเทศใน 134 ประเทศทั่วโลก ที่อยู่ในโซนสีเขียว คือ ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้(Winning) ซึ่งไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ มี 16 ประเทศอยู่ในโซนสีเหลือง คือกลุ่มใกล้ทำได้สำเร็จ (Nearly There) ซึ่งมีหลายประเทศอยู่ในกลุ่มนี้เพราะการระบาดรอบสอง เช่น จีน เกาหลีใต้ และมี 72 ประเทศอยู่ในกลุ่มสีแดง หรือ ยังเอาไม่อยู่ (Need Action) ซึ่งก็มีหลายประเทศที่ทำได้ดีในรอบแรก แต่กลับมาอยู่ในกลุ่มนี้เพราะการระบาดรอบสอง เช่น ญี่ปุ่น และออสเตเลีย
ข้อมูลนี้ชี้ว่า การระบาดรอบสอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และถ้าเกิดขึ้นสถานการณ์อาจบานปลายจนการควบคุมทำได้ยาก ใช้เวลา และอาจนำไปสู่การล็อคดาวน์อีกรอบ เช่น กรณีออสเตรเลีย ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นต้องหยุดชะงัก หรือกลับไปสู่การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีก
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มประเทศทรงพลังทางเศรษฐกิจมากที่สุด 20 ประเทศของโลก หรือ กลุ่ม G20 ขณะนี้มากกว่าครึ่งของประเทศ G20 อยู่ในกลุ่มสีแดง คือยังควบคุมสถานการณ์การระบาดไม่ได้ เช่น อาร์เจนติน่า ออสเตเลีย บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย อัฟริกาใต้ ตรุกี และสหรัฐอเมริกา รายได้ประชาชาติของประเทศ G20 ที่อยู่ในกลุ่มสีแดงนี้ รวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีโลก จึงชัดเจนว่า ถ้าประเทศเหล่านี้ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ โดยเฉพาะใน 3 เดือนข้างหน้า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปีหน้าคงแทบเป็นศูนย์ และปีนี้เศรษฐกิจโลกจะยิ่งหดตัวมากขึ้นไปอีก ทำให้เศรษฐกิจโลกจะไม่ฟื้นตัวเช่นกัน ถ้าสถานการณ์โควิดยังไม่นิ่ง
ด้วยข้อมูลนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักในกรณีเศรษฐกิจไทยจากนี้ไป คือ
1.เศรษฐกิจโลกคงจะหดตัวต่อเนื่องเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้การส่งออกและการท่องเที่ยวจะไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเราได้ อย่างน้อยปีนี้และปีหน้า
2.การฟื้นตัวจะมาจากพลังของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ ทำให้การรักษาให้ประเทศไม่มีการระบาดของโควิดภายในประเทศ จึงสำคัญมากต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ
3.ประชาชนต้องช่วยกันลดความเสี่ยงไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นด้วยการอยู่ในสังคมร่วมกันอย่างมีวินัย คือ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และปฏิบัติตนตามแนวปฏิบัติของทางการในที่สาธารณะ ที่สำคัญภาครัฐต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง อย่าสั่งอย่างเดียว แต่ต้องทำตนให้เป็นตัวอย่าง เพราะเราไม่มีทรัพยากรอีกแล้วที่จะปิดเมือง หรือเยียวยา ถ้าการระบาดเกิดขึ้น