สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นคุณภาพชีวิต/ความยั่งยืน
ระบบเศรษฐกิจไทยก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-๑๙ และการปิดเมือง ปิดธุรกิจต่างๆ มีปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาด
ที่ไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม สร้างความขัดแย้ง ทำลายธรรมชาติและสุขภาพของประชาชนอยู่แล้ว วิกฤติโรคระบาด มาซ้ำเติมให้เห็นปัญหาชัดมากขึ้น
ดัชนี GDP -ผลิตภัณฑ์ประชาชาติของไทยโดยรวม (ตามทางบัญชี) อยู่ลำดับที่ 22 ของโลก(IMF, ปี 2019) เพราะไทยเป็นประเทศขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่ มีประชากร ที่ดิน และทรัพยากรมาก แต่ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI)ที่วัดเรื่องการศึกษา สาธารณสุขและการพัฒนาทางสังคมด้านอื่นๆด้วยอยู่ลำดับที่ 77 ของโลก ไทยจึงควรเน้นการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม และการพัฒนาทางสังคม ที่เน้นคุณภาพชีวิตประชาชน มากกว่าแค่การเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์กับคนรวยคนชั้นกลางส่วนน้อยมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่
UNDP –โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ผู้ทำรายงานเปรียบเทียบดัชนีการพัฒนามนุษย์ของประเทศต่างๆเห็นว่า การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อกระจายรายได้และการบริโภคสินค้าที่จําเป็นขั้นพื้นฐานไปสู่คนจนอย่างเป็นธรรม ทั่วถึง เป็นเงื่อนไขอันดับแรก ที่จะช่วยให้นโยบายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน(ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม อยุ่ได้ถึงชั่วลูกชั่วหลาน)ได้ผล
ปัญหาประชากรเพิ่มขึ้น บริโภคมากขึ้น ประชาชนบุกล้างถางป่าเพื่อใช้ทำการเกษตร จับปลาในทะเลมากขึ้น เมืองขยายตัว สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเพิ่มการผลิต การบริโภค ทั้งหมดคือตัวการที่ทำทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงในอัตราสูงเกินกว่าที่ทรัพยากรหลายอย่างจะฟื้นตัวได้ตามธรรมชาติ
การจะพัฒนาอย่างยั่งยืนในทางระบบนิเวศสังคม จะต้องกระจายทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การให้บริการทางการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ สวัสดิการสังคมในระดับพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ต้องยึดถือหลักการ 4 ข้อ คือ
1.การอนุรักษ์ทุนทางธรรมชาติ (แหล่งน้ำ แร่ธาตุ ป่า สัตว์น้ำ แนวประการัง ฯลฯ) เพื่อการผลิตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการสร้างความเป็นธรรมระหว่างคนรุ่นต่างๆ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรม ทําให้ทุนทางธรรมชาติเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ต้องมีการแทรกแซงจากรัฐและชุมชน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนรวมมากขึ้นและหรือมีระบบจัดการที่เหมาะสม
2.ควบคุมการเพิ่มขนาดประชากร และความต้องการการบริโภคทรัพยากร(ที่ฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะของคนรวย คนชั้นกลาง) เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
3.แก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมและปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกทําลาย โดยเน้นการช่วยให้คนส่วนใหญ่มีปัจจัยดำรงชีพที่จำเป็นอย่างพอเพียง(เช่นที่ดินขนาดเล็กที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน มีทุน มีความรู้) ควบคุมด้านนโยบายและการเก็บภาษีให้มีการลดการผลิตและการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นของคนรวย คนชั้นกลาง เช่นสหภาพยุโรปประกาศแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด ด้วยการเก็บภาษีสินค้าและบริการที่เพิ่มคาร์บอนและการทำลายสิ่งแวดล้อม ในอัตราสูงขึ้น
4.สนองตอบความต้องการ พื้นฐานทางสุขภาพ และการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และการสร้างประชาธิปไตยแบบโปร่งใสที่พลเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน รวมถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และการให้ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการตนเองได้เพิ่มขึ้น
จากหลักการทั้ง 4 ข้อ ชี้ว่าเราต้องการแนวทาง และเป้าหมายสําหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่ ซึ่งควรจะรวม เรื่องดังต่อไปนี้ คือ
นโยบายการวางแผนครอบครัวเพื่อจํากัดจํานวนประชากรให้คงที่ หรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยเฉพาะหมู่ประชาชนที่ยากจน มีการศึกษาต่ำมักจะมีอัตราการเพิ่มประชากรสูง
การเกษตร เปลี่ยนแปลงจากการผลิตแบบอุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง สิ้นเปลืองทรัพยากรพลังงานและปัจจัยการผลิตมาก ใช้ดิน, น้ำ, สารเคมี ฯลฯ มาก เป็นการเกษตรแบบอินทรีย์ที่เน้นการบํารุงการจัดการพืชและระบบน้ำด้วยวิธีทางธรรมชาติ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม วิจัยและประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาความรู้ดั้งเดิม และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรเองเพิ่มขึ้น
ในด้านการบริโภค ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้กระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ส่งเสริมการบริโภคอาหารโปรตีนและสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ จากพืชและปลา ซึ่งผลิตได้โดยใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการผลิตและบริโภคอาหารประเภทปศุสัตว์
ปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกที่ผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ เช่น พลังงานจากลม มวลชีวภาพ แสงอาทิตย์ ความร้อนจากใต้โลก จากน้ำ (ฝายขนาดเล็ก) จากคลื่นในทะเล ฯลฯ แทนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ที่สร้างปัญหาการสะสมก๊าซเรือนกระจก ทําให้เกิดภาวะโลกร้อนมากที่สุด ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ก็มีปัญหาเรื่องภาวะความเสี่ยง และมลภาวะจากกากขยะนิวเคลียร์
พลังงานทางเลือกเหล่านี้มีข้อดีในแง่ลดการปล่อยมลภาวะ ลดการทําลายระบบนิเวศและการกระจาย แหล่งการผลิต และปรับระบบการผลิตให้เข้ากับสถานการณ์ของท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ช่วยกระจายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
ออกแบบการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่หมด เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและการใช้พลังงานให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ใช้วัสดุลดลง มีเศษของเหลือใช้ที่กลายเป็นขยะลดลง ใช้วัสดุอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ผลิตสินค้าที่มีความคงทนใช้งานได้นาน โดยไม่ต้องทิ้งเป็นขยะแล้วไปซื้อของใหม่
ออกแบบกระบวนการใช้สินค้าตลอดอายุการใช้งานให้มีการใช้พลังงานน้อยลงด้วย เช่น การผลิตวัสดุก่อสร้างที่เป็นฉนวนกันความร้อนกับ ความเย็นได้ดี ลดการใช้เครื่องทําความเย็นในฤดูร้อนในเขตเมืองร้อน หรือทําความอุ่นในฤดูหนาวในเขตเมืองหนาว ใช้ยานพาหนะที่ประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทางเลือก เช่น ไฟฟ้า ไฮโดรเจน ฯลฯ
ระบบทรัพยากรธรรมชาติที่ผลิตทดแทนใหม่ได้ เช่น ปลาในทะเล ป่าไม้ ระบบน้ำจืด ถูกระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมใช้ไปมากและรวดเร็วจนธรรมชาติผลิตทดแทนใหม่ได้ไม่ทัน ดังนั้นจึงจะต้องมีการปฏิรูปการบริหารจัดการด้านสถาบัน เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เช่น จะต้องมีการกําหนดกฎเกณฑ์ที่จะลดการจับปลา การตัดไม้ การใช้น้ำบาดาล (ใต้ดิน) และการใช้น้ำจืดอื่นๆ รวมทั้งมีกองทุนที่จะช่วยดูแลอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรเหล่านี้
การจะพัฒนาอย่างยั่งยืน จําเป็นต้องมีการปฏิรูปทางสถาบันทุกประเภท ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลกลาง บริษัท องค์กรต่างๆ
การปฏิรูปทางการเมืองและการศึกษา ให้ประชาชนมีความรู้/ตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ความรู้/ทักษะที่ใช้งานได้ คิดวิเคราะห์เป็น เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ จะช่วยนำไปสู่การปกครองและการบริหารอย่างโปร่งใส เป็นประชาธิปไตยแบบสมาชิกมีส่วนร่วม และการสนองตอบความต้องการพื้นฐานที่จําเป็นของประชาชนได้อย่างทั่วถึง ตามแนวทางการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่เน้นความเป็นธรรม ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เนและการพึ่งตนเองได้ในระดับชุมชน/ระดับประเทศ เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น