เด็กสมัยนี้

เด็กสมัยนี้

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2020 ถือเป็นปีแห่งความวุ่นวาย ทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และประเด็นร้อนแรงทางการเมือง

เป็นความแตกต่างทางความคิดของคนต่างเจนเนอเรชั่น นำไปสู่ความวิตกกังวลและความไม่ไว้ใจ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายคนให้ความสนใจกับแนวความคิด ทัศนคติและพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ว่า เด็กสมัยนี้เขาคิดอย่างไร

วันนี้ขอพักประเด็นการเมืองไว้ก่อน และเล่าสู่กันฟังในมุมมองของสังคมและองค์กรโดยอ้างอิงการศึกษาจากบริษัท BridgeWork ผู้เชี่ยวชาญด้านเจนเนอเรชั่นในประเทศสหรัฐ

หากพูดถึงเด็กสมัยนี้เรามักคิดถึงคนเจน Y ซึ่งเอาจริง คนที่อายุมากที่สุดในเจน Y ตอนนี้ก็อายุ 40 ปีเข้าไปแล้ว จะเรียกเป็นเด็กก็คงไม่ใช่

เด็กสมัยนี้ที่เราพูดถึงกัน คงเป็นคนเจน Z (เกิดระหว่างปี .. 2539 – .. 2553) ซึ่งตอนนี้เพิ่งเริ่มเข้าทำงานในองค์กร แต่ถือเป็นการเริ่มต้นสายอาชีพในช่วงที่โอกาสไม่เอื้ออำนวยที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

การทำความเข้าใจว่าเด็กเหล่านี้เติบโตมาอย่างไร อะไรคือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญ และต่างจากเจนอื่น อย่างไรนั้น จะช่วยให้องค์กรสามารถสรรหาและสร้างคนเก่งและคนดีในอนาคตให้กับองค์กรและสังคมได้

สถาบัน BridgeWork ผู้เชี่ยวชาญด้าน Generation ศึกษาพบว่า สิ่งที่เด็กสมัยนี้หรือเจน Z ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วม (Diversity and Inclusion) นั่นหมายถึง พวกเขาให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ความแตกต่างทั้งเรื่องเพศ อายุ สัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา รวมไปถึงความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ความชอบ ประสบการณ์ ในขณะเดียวกันส่งเสริมด้านการยอมรับในความแตกต่าง การมีส่วนร่วมและยอมรับซึ่งกันและกัน

การศึกษาโดย Pew Research Center พบว่า Gen Z เป็นเจนที่มีความหลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์ และพบว่า 83% ของเจน Z จะเลือกร่วมงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วม

ลองมาทำความเข้าใจเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของโลกที่ผ่านมาที่ส่งผลกระทบต่อมุมมองของคนเจน Z ว่าทำไมพวกเขาจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

Oในสหรัฐ พวกเขาเป็นเจนแรกที่เติบโตมากับยุคประธานาธิบดี คนแรกที่เป็นคนผิวดำ

Oพวกเขาเป็นเจนแรกที่เห็นสิทธิการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Oเด็กเหล่านี้เกิดมาในยุคที่บางครอบครัวมีแม่ 2 คน บางครอบครัวมีพ่อ 2 คน ยิ่งในประเทศฝั่งตะวันตก บางครอบครัวมีพ่อแม่ที่มาจากต่างชาติต่างศาสนาด้วยซ้ำ  บริษัท Deloitte ทำการศึกษาพบว่า 83% ของเจน Z จะผูกพันกับองค์กรเป็นอย่างยิ่ง หากองค์กรมุ่งมั่น สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมและความหลากหลาย                                                                                        

ในวันนี้ พวกเขาจึงอยากทำงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมและต่อสู้เพื่อเรื่องเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เด็กเจน Z ลุกขึ้นมาประท้วงและปลุกระดมเรียกร้อง “Black Lives Matter” กับเหตุการณ์เมื่อชาวผิดดำถูกตำรวจทำร้ายด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนเสียชีวิต ทำให้ผู้คนต่างลุกฮือขึ้นมาประท้วง

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าองค์กรที่กำลังแข่งขันในสนามที่ยากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกตอนนี้ โอกาสเดียวที่จะรอดคือการคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะความสำเร็จในอดีตไม่อาจการันตรีความสำเร็จในอนาคตได้อีกต่อไป การมีทีมที่ความหลากหลาย ไม่ว่าจะความคิด ความเชื่อ ประสบการณ์ อายุ นำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป

กล่าวคือ เป็นองค์กรที่สามารถนำความหลากหลายเหล่านี้มาคุยกันอย่างเปิดเผยบนโต๊ะว่าเราจะปรับปรุง พัฒนาเรื่องอะไร จะทำอย่างไร เมื่อไหร่ มากกว่าเพียงบอกว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรถูกบ้าง

แม้เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้จะเกิดขึ้นในโลกตะวันตก แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเชื่อมถึงกัน สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งกระทบต่อความคิด พฤติกรรม การเรียนรู้ และการแสดงออกของเด็กสมัยนี้ในโลกตะวันออก รวมถึงเด็กสมัยนี้ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน