กระบวนการสร้างและยอมรับนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
หรือธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี ก็คือ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ
แต่ปรากฏการณ์จริงที่ปรากฏขึ้นก็คือ จำนวนขององค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมที่จะสามารถนำมาเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาได้ ก็มีจำนวนไม่มากนัก และยากต่อการถอดบทเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจอื่นที่ไม่ได้อยู่ในประเภทธุรกิจเดียวกัน
ส่วนธุรกิจที่อยู่ในประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน ก็ไม่ปรากฏว่า จะมีบริษัทใดที่สามารถใช้บทเรียนจากบริษัทที่ประสบความสำเร็จ มาโค่นล้มบริษัทที่เป็นต้นแบบได้แต่อย่างใด
แสดงให้เห็นว่า การสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถถอดแบบหรือลอกเลียนแบบกันได้โดยง่าย
นักวิชาการที่สนใจติดตามศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการสร้างนวัตกรรมในองค์กรธุรกิจ ได้ให้คำอธิบายว่า นวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูงมากเรื่องหนึ่งสำหรับนักบริหารจัดการธุรกิจจนไม่สามารถนำตัวอย่างความสำเร็จจากที่อื่น มาประยุกต์ใช้กันในองค์กรของตนเองได้โดยง่าย
เริ่มต้นจากนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สามารถแยกแยะออกได้เป็นประเภทต่าง ๆ หลายมิติ เช่น นวัตกรรมในตัวสินค้าที่นำเสนอ (นวัตกรรมผลิตภัณฑ์) นวัตกรรมในวิธีการผลิต การเปลี่ยนวัตถุดิบหรือวัสดุอื่น ที่นำมาใช้เพื่อให้สินค้าเดิมมีคุณภาพ ต้นทุน หรือคุณสมบัติอื่นที่ดีขึ้น (นวัตกรรมกระบวนการ) นวัตกรรมในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการ ช่องทางการตลาด หรือวิธีการสื่อสารสื่อความที่รวดเร็วขึ้น (นวัตกรรมการบริการ) หรือ นวัตกรรมเกี่ยวกับการนำแนวคิดและวิธีการใหม่ ๆ ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจให้เกิดความแปลกใหม่ออกไป (นวัตกรรมรูปแบบหรือโมเดลธุรกิจ)
ซึ่งนวัตกรรมในแต่ละประเภทที่กล่าวมานี้ ก็จะมีลักษณะพิเศษเฉพาะด้าน ที่นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
ความซับซ้อนอีกประการหนึ่งของการสร้างนวัตกรรม ก็คือ เรื่องที่เป็นประเด็นหลักของความแปลกใหม่ที่องค์กรธุรกิจนำเสนอต่อตลาดและผู้บริโภค
เริ่มตั้งแต่การนำเสนอนวัตกรรมในระดับแนวคิดที่แตกต่างออกไปจากแนวคิดเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น การปรับเปลี่ยนธุรกิจจากเดิมที่ผู้บริโภคต้องใช้วิธีซื้อหามาเป็นเจ้าของ มาเป็นวิธีการที่ผู้บริโภคสามารถ “เช่า” ใช้ได้เฉพาะเวลาที่ต้องการเท่านั้น หรือแนวคิดของธุรกิจแบบแบ่งปัน การสร้างนวัตกรรมเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรหรือพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป การสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิตที่อาจเกิดอันตรายต่อแรงงานการผลิตด้วยหุ่นยนต์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งก็นำมาเปรียบเทียบกันได้ยากเช่นกัน
ดังนั้น การวัดผลสำเร็จของนวัตกรรมจึงอาจเปรียบเทียบกันไปที่การยอมรับนวัตกรรมโดยผู้บริโภคแทนการวัดจากกระบวนการต่าง ๆ ที่ผู้ผลิตนำมาใช้กล่าวอ้าง
กระบวนการยอมรับนวัตกรรมโดยผู้บริโภค เป็นกระบวนการหลายขั้นตอนเริ่มจากการที่ผู้บริโภครับทราบหรือมองเห็นถึงความโดดเด่นและความเป็นไปได้จริงของประเด็นความใหม่ที่ผู้ผลิตนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอรรถประโยชน์หรือประโยชน์ใช้สอยที่เหนือกว่า เช่น เร็วกว่า ถูกกว่า
การใช้งานที่ยังคุ้นเคยไม่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ในทำนองดีกว่าแต่ใช้งานยากเกินไป หรือในการใช้งานเกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น หรือผิดแผกไปจากความคุ้นเคย ประเพณีปฏิบัติ หรือวัฒนธรรมที่ยอมรับกันอยู่โดยทั่วไป
การเห็นว่านวัตกรรมที่ผู้ผลิตนำเสนอมีความโดดเด่นแท้จริง สัมผัสได้ชัดเจน หรือสามารถทดลองให้เห็นสรรพคุณได้ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือได้เห็นตัวอย่างจากผู้คนในสังคมยอมรับและได้หาซื้อมาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคคลที่เป็นที่ยอมรับในสังคมใกล้ตัว
การยอมรับนวัตกรรมของผู้บริโภค ยังขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและทัศนคติของผู้บริโภคที่มีต่อความเป็นนวัตกรรมอีกด้วย เช่น กลุ่มล้ำสมัย จะมีโอกาสในการยอมรับนวัตกรรมที่รวดเร็วกว่า กลุ่มนำสมัย และกลุ่มทันสมัย โดย กลุ่มตามสมัย และกลุ่มล้าสมัย จะยอมรับนวัตกรรมได้ช้าที่สุด
ทั้งนี้ กลุ่มทันสมัยและกลุ่มตามสมัย จะเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนจำนวนคนมากที่สุด
นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในทางธุรกิจ จึงอาจต้องหันมาสนใจพฤติกรรมการยอมรับ
นวัตกรรมของกลุ่มผู้บริโภค ให้มากกว่าความพยายามที่จะมุ่งสร้างนวัตกรรมตามที่ตนเองมีความชอบหรือความถนัดแต่เพียงฝ่ายเดียว
เพราะผู้บริโภค คือผู้ที่จะต้องยอมเสียเงินเพื่อซื้อหรือได้มาซึ่งนวัตกรรมที่เขายอมรับ ตามพฤติกรรมเฉพาะตัวของเขา นั่นเอง !