‘ดิจิทัล ดิสรัปชั่น’ ชี้ชะตา ธุรกิจ ‘รอด-ไม่รอด’
เรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบจากการเกิดวิกฤตินี้ ทุกธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยน
ก่อนเกิดวิกฤติโควิดมีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นแล้วว่า โลกกำลังเปลี่ยนจากเทคโนโลยีดิจิทัล ร้านค้าและห้างบางแห่งค่อนข้างเงียบเหงา ธุรกิจทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างขาดทุนและหลายแห่งปิดตัว ธุรกิจการเงินการธนาคารเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง จากสิ่งที่เราเรียกว่าเกิด ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หรือคือความหมายของ The Fourth Industrial Revolution
วิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำเหมือนการเกิด Great Depression ในปี 1929 หลายหน่วยงานคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจประเทศไทยปีนี้น่าจะติดลบระหว่าง -8% ถึง -11% จำนวนนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาปีที่แล้ว 39 ล้านคน คาดการณ์ว่าปีนี้ทั้งปีประมาณ 6 ล้านคน ปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมากที่สุดจากปีนี้ราว 2-3% จำนวนนักท่องเที่ยวอย่างมากก็ราว 8 ล้านคน หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นบ้าง และในปี 2022 อาจดีขึ้นอีก แต่กว่าจีดีพีของประเทศจะกลับมาเท่าปี 2019 ก็น่าจะกลางปี 2023
วิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งทำการเกิด ดิจิทัล ดิสรัปชั่นเร็วขึ้น ธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยนไป ไม่มีทางที่จะกลับมาเหมือนเดิม หลายคนหวังว่าจะมีกระแสเงินสดมาหล่อเลี้ยงธุรกิจช่วงนี้ และคิดว่าหลังพ้นวิกฤติจะดีขึ้น ผมเชื่อว่า แม้ธุรกิจยังอยู่รอด แต่ธุรกิจส่วนใหญ่จะไม่เหมือนเดิม หากพ้นวิกฤติไป การดำเนินธุรกิจฟื้นกลับมาแล้วมีรายได้ 70-80% เมื่อเทียบก่อนวิกฤตินับว่าดีมากแล้ว เพราะโลกได้เปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศถูกเปลี่ยนจากการเข้ามาของเทคโนโลยี “เรากำลังเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจากการเกิดวิกฤตินี้ ทุกธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง”
หลายคนอาจยังจับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงและกระแส ดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่มีมาก่อนโควิดไม่ได้ ทั้งที่เราสามารถมองสัญญาณเตือนหลายด้าน ได้แก่ 1. กระบวนการการทำงานขององค์กรมีสัญญาณต่างๆ เชิงลบ เช่น รายได้ จำนวนลูกค้าเริ่มลด ต้นทุนดำเนินงานที่สูง ใช้บุคลากรจำนวนมาก มีสินทรัพย์ถาวรเกินความจำเป็น รายได้ธุรกิจมาจากสัมปทานผูกขาด หรือใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นแนวทางทำธุรกิจ กระบวนการเป็นรูปแบบการทำงานซ้ำๆ ขาดนวัตกรรม องค์กรขาดความคล่องตัว
2.ประสบการณ์เกี่ยวกับลูกค้าไม่ดีพอ เช่น ขาดข้อมูลลูกค้าที่ครบถ้วน ขาดความแม่นยำและเป็นปัจจุบัน ขาดความเข้าใจลูกค้า และไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคได้ ช่องทางและรูปแบบบริการลูกค้าเป็นแบบเดิมๆ ลูกค้าให้ความสนใจสินค้าและบริการของเราหลักๆ เพราะว่าราคาที่ดีกว่า
3.รูปแบบการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมของเราเริ่มเปลี่ยน เช่น มีผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่นำเสนอรูปแบบการบริการหรือสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นตัวกลางเข้ามาแทรกห่วงโซ่ มีผู้เข้ามาสร้างพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลในอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่มากขึ้น ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง และอาจต้องมีการนิยามกันใหม่
สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกว่า ธุรกิจเราอาจกำลังถูกกระแสของ ดิจิทัล ดิสรัป ซึ่งไม่ใช่หมายถึง เพียงแค่ถูกปั่นป่วน แต่อาจหมายถึงล่มสลายที่กำลังตามมาเป็นสัญญาณที่ธุรกิจต้องรีบวางกลยุทธ์ด้าน ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น หาคนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล คนที่เข้าใจอุตสาหกรรมมาช่วยวางแผน สร้างคุณค่าใหม่ให้ธุรกิจ อาจมีสินค้าหรือบริการใหม่ซึ่ง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นไม่ใช่การลงทุนไอที ไม่ใช่หานักไอทีหรือบริษัทมาทำระบบ ไม่ใช่ขายสินค้าบนออนไลน์ แล้วหวังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรจำเป็นต้องมอบหมายให้เรื่องการทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นงานที่ผู้บริหารระดับสูงทุกฝ่ายมาวางแผนร่วมกัน ต้องมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวช่วยทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ ต้องเร่งพัฒนาให้องค์กรเกิดวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล รวมถึงมีการสร้างนวัตกรรม และจำเป็นต้องมีการวางโรดแมพในการเปลี่ยนแปลงที่ต้องสื่อสารให้กับทุกฝ่ายรับรู้
หากไม่ปรับเปลี่ยนใดๆ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แต่คาดหวังว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อผ่านพ้นวิกฤติ ย่อมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป “ใช่ครับถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะสายไป”