แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง
ในโลกยุคปัจจุบันที่ผู้คนเพลินเพลินและสนุกสนานไปกับการใช้และเรียนรู้เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ซึ่งขับเคลื่อนและพัฒนาไปด้วยความทันสมัย
ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่เครื่องสำอางซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสาว ๆ ทั่วโลก แต่จะมีสักกี่คนหรือหน่วยงานใดตระหนักถึงความสำคัญของวัตถุดิบซึ่งถูกนำมาใช้ในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ในตลาดโลกทุกวันนี้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ “แร่ธาตุแห่งความขัดแย้ง (Conflict Minerals)” นิยาม ระเบียบปฏิบัติ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวและความคาดหวังในอนาคตต่อการพัฒนาหลักปฏิบัติร่วมกันในระดับสากล
แร่ธาตุแห่งความขัดแย้งมีจุดเริ่มต้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo หรือ “DRC”) และประเทศที่มีพรมแดนติดกันซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กลุ่มประเทศที่ครอบคลุม” โดยครอบคลุมแร่ธาตุสี่ชนิดประกอบด้วย ดีบุก ทังสเตน แทนทาลัม และทองคำ (tin, tungsten, tantalum, gold หรือ “3TG”) ซึ่งถูกใช้ในวงกว้างในวงการอุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักร เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและเครื่องสำอาง โดยรากเหง้าของปัญหาเกิดขึ้นที่กลุ่มประเทศคองโก อูกันดาและรวันดาในแถบทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นแหล่งที่ผลิตแร่ดังกล่าวได้ในปริมาณมาก แต่ในขณะเดียวกันแหล่งผลิต อาทิ เหมืองในกลุ่มประเทศดังกล่าวได้กลายมาเป็นแหล่งของเงินทุนสำหรับกลุ่มติดอาวุธ นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นภัยที่สนับสนุนความขัดแย้งระหว่างประเทศในรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย
การละเมิดสิทธิมนุษยชนและผลกระทบต่อความมั่นคงระดับชาตินี้เกิดจากการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายในการทำเหมืองหรือการผลิตแร่ดังกล่าวภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ประโยชน์จากคนงานในเหมืองเพื่อเป็นทุนในการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในอดีตไม่มีใครทราบถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่แฝงมากับผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพราะมิได้มีการเปิดเผยและให้ข้อมูลเรื่องแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเท่าใดนัก แต่ในปัจจุบัน ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลเหล่านี้และมีความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐอเมริกามีการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของการใช้แร่ธาตุดังกล่าวขึ้นเป็นการเฉพาะ ได้แก่ Dodd–Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act (2010) ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาเพื่อต่อต้านการนำเข้า การซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนแร่ซึ่งมีที่มาจาก Process Conflict Mineral หรือถูกประเมินว่าเป็นแร่ที่ผลิตจากกลุ่มประเทศคองโกและมีที่มาในการผลิตไม่โปร่งใส
ทั้งนี้ เพื่อขานรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกและตอบสนองความเป็นอยู่อย่างสงบและปกติสุขของมวลมนุษยชาติ องค์การสหประชาชาติได้รับรองข้อกำหนดที่สอดรับกับหลักเกณฑ์การป้องกันการใช้แร่ธาตุกลุ่มดังกล่าวผ่านระบบห่วงโซ่อุปทานและได้เผยแพร่ชุดหลักการนี้โดยให้แนวทางในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับแร่ซึ่งต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง โดยกำหนดให้ในขั้นต้นแต่ละภาคส่วนควรรายงานวิธีจัดการกับแร่กลุ่มเสี่ยงอย่างเป็นทางการผ่านการออกนโยบายบริษัทในการจัดหาแร่เข้าสู่กระบวนการผลิตว่าควรกระทำอย่างมีความรับผิดชอบและให้การปฏิบัติตามนโยบายนี้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการทั่วโลกมิใช่ตัวเลือก
บริษัทในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และตัวแทนซัพพลายเออร์ทั่วโลกต่างพยายามขานรับหลักการนี้ผ่านการประกาศนโยบายบริษัทเพื่อต่อต้านการใช้แร่ธาตุแห่งความขัดแย้งในการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่อุปทานไม่ได้มีส่วนใดหรือขั้นตอนใดมาจากแร่ธาตุชนิดดังกล่าว และเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทผลิตและค้าแร่ทั่วโลกรวมถึงในประเทศได้ขยายความพยายามในการติดตามการจัดหาแร่ธาตุทั้งหมดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ อีกทั้งกลุ่มผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่ อาทิ บริษัทเครือ APPLE, MICROSOFT, INTEL และ SHELL ยังมุ่งมั่นที่จะจัดหาแร่ธาตุอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อการจัดหาที่ดำเนินการอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืนผ่านหลักเกณฑ์การตรวจสอบสถานะที่ขยายออกไปนอกเหนือขอบเขตของแร่ธาตุที่มีความขัดแย้งจากประเทศที่ได้รับการคุ้มครองและยังทำความเข้าใจเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มเติมตามที่ที่ระบุไว้ในแนวทางการตรวจสอบสถานะของ OECD (OECD Due Diligence Guidance for Responsible Supply Chains of Minerals from Conflict-Affected and High-Risk Areas 2016)
ภาพรวมความร่วมมือกันของประชาคมโลกต่อปัญหาดังกล่าวเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติจำนวนผู้ประกอบการ นักวิชาการหรือแม้แต่สื่อเองพบว่า กลุ่มคนและองค์กรซึ่งเข้าใจถึงประเด็นปัญหาเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อยมาก แม้ว่าสหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป หรือแม้แต่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศจีนซึ่งเป็นปลายทางในการรับซื้อและแปรรูปแร่ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองจะตระหนักถึงภัยแฝงเร้นนี้ แต่มาตรการเพื่อการควบคุมยังเป็นไปด้วยระบบความสมัครใจให้ตรวจสอบหรือเป็นทางเลือกให้แต่ละบริษัทจะดำเนินการออกนโยบายต่อเรื่อง Conflict Mineral หรือไม่ก็ได้ นอกจากนั้น การตรวจสอบยังมุ่งเน้นเฉพาะแร่ดิบและโลหะแต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ธาตุที่เกี่ยวข้อง และปัญหาประการสำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานว่าประเทศใดจะถูกจัดให้อยู่ในระดับเดียวกับ DRC บ้างก็ยังไม่มีความชัดเจน
นอกจากนี้ จากการที่ทั่วโลกยังคงมีความต้องการต่อแร่กลุ่มนี้มากกว่ากำลังการผลิตที่มี ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการสวมชื่อให้แก่แหล่งการผลิตแร่เพื่อให้เกิดความโปร่งใสซึ่งควบคุมได้ยาก อีกทั้งในบางประเทศซึ่งมีมาตรฐานการผลิตในระดับเดียวกับกลุ่ม DRC เช่น มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมายเหมือนกันและถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธเหมือนกัน แต่กลับไม่ถูกจัดกลุ่มให้เป็นประเทศหรือแหล่งผลิตแร่แห่งความขัดแย้งก็มี เป็นต้น.ปัญหาที่ถูกทิ้งไว้จึงเป็นประเด็นให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ได้ขบคิดและพัฒนากันต่อไปผ่านหน้าต่างของนโยบายและกฎหมายซึ่งจะมาเติมเต็มช่องว่างแห่งข้อขัดแย้งในเรื่องนี้ได้
*บทความโดย ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์