Great to Good (2)

Great to Good (2)

คุณผู้อ่านที่ให้เกียรติติดตามคอลัมน์นี้มาคงสงสัย เฮ้ย แล้ว Great to Good ตอนแรกอยู่ไหน ทำไมจู่ๆโผล่มาตอนที่สอง

คำตอบคือต้องย้อนกลับไปอ่านในปี 2017 เลยครับ หรือในหนังสือ เส้นทางแห่งผู้นำ The Leadership Journey (2018)

แต่เพื่อให้ต่อเนื่อง ผมขอยกบางส่วนมาตรงนี้

นวัตกรรมในยุค 20th Century กับนวัตกรรมในยุค 21st Century ต่างกัน ศตวรรษที่ยี่สิบเป็นยุคแห่งอัจฉริยะ ไม่ต้องนึกไกล Albert Einstein (1879-1955) ผู้คิดสูตร E = mc^2 theory of relativity และรางวัลโนเบลหัวข้อ photoelectric พื้นฐานของ quantum physics การค้นพบที่ซับซ้อนเหล่านี้ เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้น Nuclear Power, Television, Automobile ในยุคนี้เราจึงมีหนังสือหัวข้อ ‘อัจฉริยะสร้างได้’ DVD ‘Baby Genius’ และรายการ ‘ไอคิว 180’ (เจนวายอาจงงกับชื่อรายการนี้นิดนึงนะจ๊ะ)

แต่นวัตกรรมของยุคปัจจุบันไม่ได้อาศัยการค้นพบสูตรลับใดของจักรวาล Facebook แค่ทำให้คนทั้งโลกเปิดไดอารี่ให้กันดู Airbnb คือนายหน้าหาห้องเช่า และ Grab เป็นเพียงเด็กโบกรถเรียกแท็กซี่เมื่อเราต้องการ ไม่มีอะไรอัจฉริยะพิสดารอยู่ในนั้น เพียงคนธรรมดาๆ ผู้มองเห็นโจทย์ที่โลกต้องการคำตอบ แล้วใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วสร้างคำตอบดีๆเหล่านั้นขึ้น ไม่ต้องเป็นไอน์สไตน์ก็สร้างนวัตกรรมได้ ขอแค่มีความคิดดีๆ

แนวคิดของ Great to Good คือทำดีได้ไม่ต้องเลิศ เป็นการทำธุรกิจเชิง Sustainable หรือจะเรียกว่า Circular หรือ Collaborative Economy ก็คงไม่ผิด

ในหลักสูตร Leading Leaders ล่าสุดที่ผ่านมา (ยุคก่อนโควิด) เรามีโอกาสพาผู้บริหารต่างประเทศไปเยี่ยมบริษัทด้านการโรงแรมแห่งหนึ่งในไทย ผู้บริหารเล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจครั้งใหญ่ขององค์กร เมื่อรัฐบาลมีดำริให้ปิดเกาะหลายแห่ง เช่น เกาะพีพี เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ

“เราต้องเลือกว่า จะสนับสนุนรัฐหรือจะต่อต้าน” คุณปีเตอร์บอกด้วยสีหน้าเคร่งเครียด “การปิดเกาะแน่ล่ะ หมายถึงยอดขายที่จะลดฮวบ แต่การไม่ปิด อาจหมายถึงผลกระทบในระยะยาวต่อธรรมชาติของเรา”

“สุดท้ายแล้ว เราตัดสินใจว่าเราทำธุรกิจนี้เพื่อความยั่งยืน เพื่อความสำเร็จระยะยาว เราเลือกสนับสนุน กระทั่งช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการล้อบบี้ชุมชนให้เห็นด้วยกับการปิดเกาะ”

ส่วนภายในองค์กร คุณปีเตอร์เตรียมรับผลกระทบทางธุรกิจเต็มที่ ปรับประมาณการรายได้ลง เตรียมปิดโรงแรมบางส่วนเพื่อปรับปรุง เกลี่ยพนักงานไปแผนกต่างๆเพื่อรับมือกับงานบริการที่จะลด

“แต่ประหลาดมาก ยอดเราไม่ได้ลดลงเลย ตรงข้าม กลับกลายเป็นซีซั่นที่คึกคักมากสำหรับเรา” เจ้าตัวบอกยิ้มๆ

เป็นไปได้อย่างไร?

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1.Have a strong just cause หนังสือเล่มล่าสุด The Infinite Game ของ Simon Sinek ผู้เขียน Start With Why ให้มุมมองว่าธุรกิจควรมองเป้าความสำเร็จระยะยาวและความยั่งยืนมากกว่าชัยชนะระยะสั้น เขาแย้งว่าการทำงานแบบมุ่งเอาเป็นเอาตาย ทำลายคู่แข่ง ทำลายธรรมชาติ ที่ทำกันมาตลอด เป็นเหตุผลหลักที่โลกอยู่ในสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ธุรกิจต้องมี strong just cause เช่น สร้างตัวช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น (Bill Gates) ที่ไม่ใช่แค่เพียงสร้างผลตอบแทนหรือการเป็นที่หนึ่ง เช่น เราจะเป็นผู้นำในทุกตลาดที่เราให้บริการลุกค้า

2.Be inspired by your rivals ผมชอบข้อนี้ของ Sinek องค์กรต้องฝึกการมองคู่แข่งเป็นแรงบันดาลใจ หลายธุรกิจที่ผมมีโอกาสได้ทำงานด้วย มีวัฒนธรรมซึ่งพนักงาน ‘เกลียด’ คู่แข่ง เริ่มตั้งแต่การพรีเซ้นต์งานในทำนองว่า คู่แข่งทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ คู่แข่งมีของห่วยกว่าหรือดัมพ์ราคาสู้ ห้ามพนักงานใช้บริการของคนอื่น ไปจนถึงขั้นผู้บริหารไม่สามารถเห็นผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาของฝั่งตรงข้าม ลูกน้องวิ่งกันตัวเป็นเกลียวเพื่อ ‘บังตา’ หัวหน้า จะทำอย่างที่ไซมอนพูดถึงได้ องค์กรต้องหมั่นฝึก Growth Mindset และสื่อสาร just cause จากข้อ 1 ข้างต้น

3.Everyone can help ยอดจองห้องพักของโรงแรมซึ่งเลือกสนับสนุนการปิดเกาะไม่ได้ลดลงแถมสูงขึ้น เป็นไปได้อย่างไร? คำตอบคือ “People care” หลังจากโรงแรมสื่อสารออกไปว่าเกาะจะปิดนะ ถ้าจะมาพักกรุณาเข้าใจด้วย คุณปีเตอร์เล่าว่ามีลูกค้ามากมายเขียนอีเมลมาบอกว่าพวกเขาเห็นด้วยกับการตัดสินใจขององค์กรและขอบคุณความจริงใจของโรงแรมที่บอกพวกเขาตรง ๆ “ดังนั้น ครอบครัวฉันจึงจะมาพักที่โรงแรมของคุณตามแพลนเดิม ฉันเชื่อว่าเมืองไทยมีอะไรมากมายให้เราดูและทำ มากกว่าเกาะเพียงไม่กี่แห่ง ที่สำคัญ ฉันต้องการให้การมาพักผ่อนครั้งนี้ เป็นส่วนเล็ก ๆ ในการสนับสนุนสิ่งที่ถูกต้อง และช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับโลก”

หากเป็นคุณผู้อ่านละครับ จะเลือกไปพักหรือแคนเซิล?