“สุกี้ตี๋น้อย” บุฟเฟ่ต์ราคาสบาย กินได้ยันเช้า

“สุกี้ตี๋น้อย” บุฟเฟ่ต์ราคาสบาย กินได้ยันเช้า

สุกี้ตี๋น้อย เกิดจากคุณนัทธมน พิศาลกิจวานิช หรือเฟิร์น ได้มีโอกาสไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารประเทศญี่ปุ่น เวลาประมาณตี 3

แล้วรู้สึกชอบร้านนั้นมาก เพราะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เดินไปที่ไหนก็เจอ แล้วก็ทุกสาขาอยู่ในทำเลหัวมุมที่ดี มีหลายสาขามาก 

คุณนัทธมนมองเห็นเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะในประเทศไทยยังไม่มีร้านแบบดังกล่าว คุณนัทธมนจึงสนใจทำธุรกิจร้านอาหารโดยเลือกประเภทของอาหารเป็นอาหารสุกี้บุฟเฟ่ต์ เนื่องจากมองว่าสามารถควบคุมมาตรฐานรสชาติให้เหมือนกันทุกสาขาได้ ถ้ามีครัวกลางและระบบกระจายวัตถุดิบที่ดี ประกอบกับทางครอบครัวของคุณนัธมนเคยทำสวนอาหารเรือนปั้นหยา ทำให้เข้าใจดีว่าการขยายสาขามีผลต่อการควบคุมมาตรฐาน รสชาติ และบริการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจ 

คุณนัทธมน ให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างโดยเริ่มจากหนึ่ง ราคาย่อมเยาว์ เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าและสร้างการรับรู้ถึง BRAND เนื่องด้วยอุตสาหกรรมอาหารมีผู้ประกอบการมาก ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลาย การเริ่มธุรกิจเกิดในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย กลยุทธ์ราคา 199 บาทแบบ ONE-PRICE ช่วยดึงลูกค้าได้มากขึ้นเพราะผู้บริโภคคาดเดาได้ว่าจะต้องจ่ายเท่าไร นอกจากราคาบุฟเฟต์แล้ว สำหรับเครื่องดื่ม SOFT DRINK (REFILL) ทางร้านก็กำหนดราคาเดียวเพียง 39 บาท เพื่อให้แตกต่างจากร้านหมูกระทะและร้านชาบูอื่นๆ ที่มักคิดค่าเครื่องดื่มตามที่สั่งจริง (A LA CART) ซึ่งไม่ตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน

สอง เวลาในการให้บริการตั้งแต่ เที่ยงวัน – ตี 5 จุดแตกต่างจากคู่แข่งนี้ เพราะคุณนัธมนมองว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรับประทานบุฟเฟ่ต์ตอนกลางคืน ตามปกติสี่ทุ่มจะเป็นเวลาร้านอาหารปิด ห้างสรรพสินค้าปิด แล้วคนที่ทำงานในห้างจะไปรับประทานอะไรตอนไหน คนที่ทำงานเลิกดึก คนที่เป็นฟรีแลนซ์ เป็นกลุ่มที่คุณนัธมนมองว่ามีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นถ้ามีร้านที่บริการในช่วงเวลาดึกๆ จะต้องตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ เป็นร้านที่ลูกค้ากลุ่มนี้สามารถเข้ามารับประทานได้อย่างไม่เครียด ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องกลัวว่าร้านจะปิด

สาม รักษามาตราฐาน และคุณภาพ ในทุกๆสาขา สุกี้ตี๋น้อยสามารถควบคุมมาตรฐาน รสชาติ และบริการได้เนื่องจากธุรกิจของตนเป็นร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ที่มีครัวกลาง ทำให้ธุรกิจสามารถส่งมอบคุณค่าไปยังลูกค้าได้อย่างดีกว่าธุรกิจร้านอาหาร A LA CART และยังส่งผลให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าทานที่สาขาไหนก็ได้รสชาติเหมือนกัน

สี่ ใส่ใจบริการ ลูกค้าต้องไม่รอนาน คุณนัธมนพบว่า เนื่องจากผู้บริโภคไม่ชอบการรอคอยเวลาจะสั่งอาหารเพิ่ม แต่เนื่องจากธุรกิจไม่ได้มีเงินลงทุนที่จะวางระบบไอที คุณนัธมนจึงคิดธงเพื่อโบกเรียกพนักงานในการสั่งอาหารเพิ่ม หรือต้องการความช่วยเหลือ เป็นการใช้ลงทุนไม่สูงแต่ช่วยให้พนักงานให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

จากโควิด-19 ระบาดส่งผลให้ร้านต่างๆ ต้องปิดชั่วคราวซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับธุรกิจบุฟเฟ่ต์อย่างสุกี้ตี๋น้อยเพราะธุรกิจส่วนใหญ่เน้นกลุ่มลูกค้ามารับประทานที่ร้าน สำหรับสุกี้ตี๋น้อยนั้น คุณนัทธมนเองเล่าว่ามีสต๊อคสินค้าจำนวนมากหากไม่เร่งระบายอาจเกิดการสูญเสียทั้งเงินและอาหารได้ ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ เช่น การทำอาหารพร้อมทานราคาย่อมเยาว์ โดยนำวัตถุดิบที่มีมาทำเป็นเมนูใหม่พร้อมรับประทานเช่น สุกี้แห้ง บะหมี่รวมมิตร ฯลฯ ในราคากล่องละ 29 บาท รวมถึงการทำจัดส่งแบบเดลิเวอรี่แทนการนั่งรับประทานที่ร้าน เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือสังคมสำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งจากการกระทำดังกล่าวทำให้มี INFLUENCER ในโลก SOCIAL พูดถึงเป็นวงกว้างและแบรนด์ได้รับการโฆษณาไปพร้อมๆกัน

นอกจากการที่สุกี้ตีน้อยทำอาหารพร้อมทานแล้ว ยังมีการนำวัตถุดิบที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น ผัก และ เนื้อสัตว์ มาจำหน่ายในรูปแบบ TAKEAWAY& DELIVERY โดยมีบริการทั้งแบบ SET และ แบบชั่งกิโลกรัม

กรณีศึกษาของ สุกี้ตี๋น้อย สะท้อนให้เห็นถึง การตอบ UNMET NEED ที่มีอยู่ในตลาด โดยการนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่าง คุ้มค่า คุ้มราคา ยังคงเป็นจุดขายได้ในทุกสมัย และยิ่งโดนใจในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

--------------

เครดิตกรณีศึกษาโดย คุณวัชระ สุขเกษม นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการธุรกิจ วิทยาลัยจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล