‘รอยเท้าดิจิทัล’ สิ่งที่เราสร้างเอง แต่จะมีผลระยะยาว
โลกของเทคโนโลยีก้าวไปไกลมาก เส้นแบ่งระหว่างชีวิตทำงานและเรื่องส่วนตัวแยกจากกันยากขึ้น
เมื่อวันก่อนผมค้นพบเอกสารเก่าที่คุณแม่เก็บไว้ให้ มีบัตรโรงพยาบาลในวัย 3 ขวบ สมุดพกนักเรียนชั้นอนุบาล ใบเสร็จค่าเรียนในมหาวิทยาลัย รวมถึงจดหมายเก่าๆ ที่เขียนถึงครอบครัวสมัยเรียนหนังสือ เหล่านี้เป็นข้อมูลเก่าที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเองที่ย้อนหลังไป สมัยนั้นการเก็บเอกสารยังไม่ดีพอ ข้อมูลเก่าที่หลงเหลืออยู่ อาจเป็นจดหมาย รูปภาพ หรือบันทึกข้อความต่างๆ ที่ผู้คนเก็บไว้
แต่ปัจจุบันที่อยู่ในยุคดิจิทัลเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล ผู้คนสามารถสร้างข้อมูลได้มากมาย บันทึกเก็บโดยง่ายในรูปแบบดิจิทัล สมัยก่อนการถ่ายรูปมีขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ปัจจุบันสามารถถ่ายรูปได้ง่ายจากโทรศัพท์มือถือและถูกเก็บในระบบคลาวด์ได้มากมาย ข้อความต่างๆ ที่เคยบันทึกในกระดาษ ปัจจุบันถูกเขียนและแชร์ในโซเชียลมีเดียต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี Internet of things เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ทั้ง โทรศัพท์ ทีวี อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) กล้องอัจฉริยะ ตลอดจนอุปกรณ์อัจฉริยะที่จะบันทึกพฤติกรรมต่างๆ ของเราเข้าสู่โลกดิจิทัล
สำนักวิจัยไอที การ์ทเนอร์ จัดให้ Internet of behaviors เป็นหนึ่งในแนวโน้มแห่งปี 2564 โดยระบุว่า เป็นพฤติกรรมผู้คนที่ถูกเก็บไว้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และจะอยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต ข้อมูลถูกนำไปวิเคราะห์ การใช้เทคโนโลยีอย่างมากมายของผู้คนยุคใหม่ได้สร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) ของแต่ละคนไว้เสมือนว่า เราบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ ซึ่งสามารถนำมาแสดงและอาจมีผลต่อเราทั้งทางบวกและลบได้ในปัจจุบันและอนาคต
หลายคนอาจคิดว่าการเล่นอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสนุก เป็นสื่อสังคมอีกแบบหนึ่ง บางคนคิดโพสต์อะไรก็โพสต์ ถ่ายคลิปหรือสร้างอินโฟกราฟิกต่างๆ ขึ้นโซเชียลมีเดีย อาจเพราะความสนุกสนานต้องการแชร์ให้ผู้อื่น บางคนได้ยอด Like จำนวนมาก ในความเป็นจริงการโพสต์อะไรขึ้นไปควรไตร่ตรองให้รอบคอบ เพราะนั่นคือการสร้างรอยเท้าดิจิทัลของเราขึ้นไปเก็บไว้ในโลกดิจิทัล ข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจไม่สามารถลบได้ เพราะคนอื่นอาจเก็บข้อมูลสิ่งที่เราทำไปเรียบร้อยแล้ว ในช่วงนี้เยาวชนจำนวนมากทำคลิปและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมทั้งหมิ่นเหม่ และมีข้อความหยาบคาย อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการสร้างรอยเท้าดิจิทัลเหล่านั้นอาจเป็นการทำลายอนาคตของตัวเอง
ที่ผ่านมาเริ่มมีหลายหน่วยงานใช้รอยเท้าดิจิทัลแต่ละคนมาใช้พิจารณาข้อมูลประกอบตัดสินใจ เช่น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศขอข้อมูลโซเชียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ของผู้สมัครขอวีซ่าเข้าประเทศเพื่อประกอบการพิจารณา หรือนายจ้างใช้ข้อมูลโซเชียลมีเดียพิจารณาผู้สมัครเข้าทำงาน โดยให้ความสำคัญมากกว่าข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ
กรณีสหรัฐอเมริกาขอตรวจข้อมูลโซเซียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ในการขอวีซ่า เป็นวิธีตรวจสอบคนได้อย่างดี เพราะเทคโนโลยีเอไอสามารถวิเคราะห์การแสดงความคิดเห็นได้ว่าเป็นไปในทางบวกหรือลบ ตลอดจนอาจเช็คได้ว่าบุคคลนี้เป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ เช่น เฟซบุ๊กจะแสดงความสัมพันธ์ของเพื่อน หากพบว่ามีเพื่อนเป็นผู้ก่อการร้าย จะสามารถตรวจสอบได้ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องอาชญากรรมก่อการร้ายได้ในเบื้องต้น
หลายครั้งที่พบว่าข้อมูลคนดังที่เก็บไว้ในโลกดิจิทัล ถูกขุดคุ้ยออกมาเปิดเผยในภายหลังได้โดยง่าย บางครั้งเป็นข้อมูลเก่าเกือบสิบปี อาจเป็นสิ่งที่เขาทำด้วยความสนุกสนานในอดีตและคงไม่ได้คิดว่าจะมีผลต่ออนาคตเขา หลายคนเขียนข้อความไม่สุภาพหรือเคยโพสต์พฤติกรรมไม่เหมาะสมในโซเชียลมีเดียของตัวเอง เมื่อไปสมัครงานหน่วยงานอาจขอดู โซเชียลมีเดียและโพสต์เหล่านั้นก็อาจมีผลทำให้ถูกปฎิเสธในการเข้าทำงาน
บางคนคิดว่าโลกของโซเชียลมีเดียหรือการใช้เทคโนโลยี คือ ชีวิตส่วนตัว ที่ควรแยกจากเรื่องงาน แม้จะมีกฎหมายข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลก็ตาม แต่เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าโลกของเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลมาก ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและเรื่องส่วนตัวแยกจากกันยากขึ้น ดังนั้นการโพสต์ข้อมูลให้เป็นสาธารณะ เสมือนยอมให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียนำข้อมูลไปวิเคราะห์
สิ่งสำคัญสุดในวันนี้จงจำไว้ว่า อะไรก็ตามที่เราทำในวันนี้ โพสต์ในวันนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ในวันนี้ มันจะถูกสร้างเป็นรอยเท้าดิจิทัลของเราและอาจถูกเก็บไว้ตลอดไป ซึ่งอาจไม่มีผลกับเราในวันนี้ แต่มันจะผูกพันกับเราไปถึงอนาคต และอาจมีผลในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงควรตระหนักไว้เสมอว่า เราควรมุ่งคิดดี ทำดีอยู่ตลอดเวลา ข้อสำคัญลดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอาจเป็นการช่วยลดจำนวนรอยเท้าดิจิทัลของเราเองเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น