Leadership Gene
Is Leadership Born or Made? ภาวะผู้นำเป็นพรสวรรค์หรือพรแสวง?
คำถามนี้เรามักได้ยินบ่อย ว่าการเป็นผู้นำนั้นสวรรค์สร้างหรือเกิดจากความพยายาม ที่ผ่านมา คำตอบในหลักสูตรพัฒนาภาวะผู้นำต่างๆมักบอกว่า ความเป็นผู้นำเป็นทักษะ เป็นสิ่งซึ่งเรียนรู้และฝึกฝนได้ ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรมส่วนบุคคล ผมเองก็(เคย)คิดเช่นนั้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ฟัง ดร. Juanjuan Zhang จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) มาแบ่งปันแชร์ประสบการณ์งานวิจัย ให้กับบรรดาอาจารย์ที่ Asia School of Business (ASB) ออฟฟิศปัจจุบันของผม
งานวิจัยของเธอ หัวข้อว่า Genes of Sales เป็นการศึกษาข้อมูลทางการบริหารจัดการบุคคล ผนวกกับข้อมูลความรู้ทางศาสตร์พันธุกรรม (Genetics) อย่างตรงที่สุดงานหนึ่ง ด้วยคำถามง่ายๆว่า “มนุษย์มียีน (Gene) ที่ทำให้เราเป็นยอดนักขายหรือเปล่า?”
ทีมของ ดร. Zhang เริ่มด้วยการวิเคราะห์ความสามารถทางการขายของพนักงานในองค์กรร่วมพันกว่าราย โดยอ้างอิงผลการทำงานย้อนหลังหรือยอดขายจริงของบุคลากรเหล่านั้น แล้วแบ่งกลุ่มคนเหล่านี้ออกเป็น ‘ยอดนักขาย’ กับกลุ่มธรรมดาทั่วไป และเก็บตัวอย่าง DNA ของพวกเขาไปทำการทดลอง
ทีมงานใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล Genetics ออกมาจนถึงระดับโครโมโซม ระดับยีน ระดับโมเลกุล (คิดง่ายๆเหมือนเวลาตรวจเชื้อ Covid-19) หลังจากนั้นใช้ Big Data Analytics เพื่อเปรียบเทียบจำแนกว่า คนกลุ่มที่เป็นยอดนักขาย มียีนอะไรซึ่งพิเศษโดดเด่นไปจากกลุ่มเซลส์ระดับธรรมดาหรือเปล่า?
นัยคือหากพบยืนบางตัวแตกต่างอย่างชัดเจน อาจจะนำไปสู่ข้อสรุปของคำถามข้างต้นได้ ว่าตกลงความสารถทางการขาย เป็นสิ่งที่ฟ้าประทานหรือไม่?
ณ เวลานี้ ด้วยข้อมูลซึ่ง ดร. Zhang แชร์ในวันนั้น คำตอบคือ ใช่ เธอพบยีนบางกลุ่มบางตัว อันแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งพบเฉพาะในกลุ่มตัวอย่างของยอดนักขายเท่านั้น
ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง
- This isn’t conclusive ประเด็นแรกก่อนคือ งานวิจัยนี้ไม่ได้สรุปได้ทันทีว่า งั้นคนขายเก่งคือคนที่มียีนเหล่านี้ และบริษัทควรลงทุนตรวจ DNA ผู้สมัครงานทุกคนก่อนจะรับมาเป็นเซลส์ ดร. Zhang เองก็ออกตัวว่า ผลงานวิจัยของเธอเพียงแต่พบว่ามี Correlation ความสัมพันธ์บางอย่างในเชิงข้อมูลทางพันธุกรรมเท่านั้น ในฐานะคนที่(เคย)เป็นนักวิจัยด้านไบโอเทค ผมก็แย้งได้เช่นกันว่ามนุษย์ไม่ได้แตกต่างกันด้วยยีนที่เรามีเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยระบบเปิด-ปิดยีนเหล่านั้น รวมถึงการสังเคราะโปรตีนซึ่งต้องตามมาอีกหลายขั้น แต่เอาล่ะ ในชั้นนี้ผมทึ่งกับข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ทีมได้ผลออกมา
- The power of technology สิ่งอันน่าตื่นเต้นสำหรับผมมากกว่าผลการวิจัยคือ การประยุกต์ความสามารถทางเทคโนโลยีที่ ดร. Zhang ใช้เพื่อศึกษาปัญหานี้ต่างหาก เราเคยอยู่ในยุคซึ่งการบริหารจัดการคนอาศัย ‘กึ๋น’ เพียวๆของผู้จัดการ ไปสู่การใช้การสังเกตพฤติกรรม (Behaviorism) มาช่วยวิเคราะห์มนุษย์ จนถึงยุดผู้นำสมอง คือใช้ความรู้ความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์มาประกอบการทำงานกับคน ผมเขียนถึงไว้ในหนังสือหลายเล่มที่ผ่านมา ตอนนี้เราอาจมาถึงยุคที่เทคโนโลยี สามารถทำให้เราเข้าใจมนุษย์ลงไปถึงระดับ DNA ก็เป็นได้
- Always be ready to unlearn การเข้าใจลักษณะนี้จะดีหรือไม่ อาจตอบไม่ได้โดยง่าย รู้ว่าใครมี DNA อะไร ควรทำงานแบบไหน อาจจะเป็นเรื่องดีเพราะได้คนที่เหมาะกับงาน หรือไม่ดีเพราะเป็นการตัดสินคนอย่างไม่ยุติธรรม ก็แล้วแต่นานาจิตตัง แต่สิ่งหนึ่งแน่ๆคือการทำงานในยุคปัจจุบันและอนาคต เราต้องหมั่นฝึก Cognitive Agility หรือความสามารถในการมองเรื่องเดิมในหลายๆมุม หลายท่านอาจรู้จักทักษะตัวนี้ว่า Unlearn กับ Relearn เช่นเราเคยเชื่อว่าการเป็นยอดนักขาย ใครๆก็เป็นได้หากมีความพยายาม แต่ข้อมูลจาก MIT อาจทำให้เราต้องหยุดคิดใหม่ หรือว่าวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เราสามารถประยุกต์ทั้งพรสวรรค์และพรแสวงเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเลิศยิ่งขึ้น?
ก่อนจบเรื่องเล่าวันนี้ ผมออกตัวนิดหนึ่งว่า งานวิจัยชิ้นนี้ของ ดร. Juanjuan Zhang ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ฉะนั้นผมจึงเล่าได้เพียงที่ได้ฟังและเข้าใจจากการแชร์ในวันนั้น บางส่วนอาจไม่ตรงทั้งหมด รายละเอียดอาจผิดพลาดไปบ้าง แต่เนื้อหาในมุมซึ่งผมอยากเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้ผิดเพี้ยนอย่างไร
หากให้ตอบอย่างนักวิทยาศาสตร์ผนวกกับนักพัฒนาทักษะมนุษย์ ว่าตกลงพรสวรรค์กับพรแสวง อย่างไหนกันแน่คือคำตอบ ผมคงต้องบอกว่า 50:50
แต่ประเด็นสำคัญจริงๆคือ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ติดมากับตัว สิ่งที่พ่อแม่ให้มาได้ ฉะนั้นควรโฟกัสในการพัฒนาเจ้าพรแสวง 50% หลังดีกว่า แค่ควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้ ก็หมายถึงประสิทธิภาพการทำงานจาก 50 ไปสู่ 100% แล้ว
แค่นั้นก็เหลือจะพอแล้วครับ!