ปั้นกรุงเทพฯ สู่ Silicon Valley แห่งเอเชีย
ฉบับที่แล้วผมวิเคราะห์ 7 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ "ซิลิคอน วัลเลย์" และยกกรุงเทพฯขึ้นเทียบเพื่อให้เห็นโอกาสที่เราสามารถพัฒนาเทียบชั้นต้นฉบับได้
ความสำเร็จซิลิคอน วัลเลย์ อันเป็นที่ตั้งของเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของโลก อาทิ Facebook, Google และ Apple และเป็นแหล่งดึงดูดมันสมองตลอดจนนักลงทุนนั้น ไม่ใช่ได้มาด้วยโชคแต่เกิดขึ้นจากส่วนประสมหลายอย่าง
ปัจจัยที่ 1 เพราะทำเลที่ตั้ง ปัจจัยที่ 2 สภาพภูมิอากาศ และปัจจัยที่ 3 อุปสงค์แรงงานมีฝีมือจากบริษัทใหญ่จนทำให้เกิดเป็นอุปทานดึงดูดแรงงานเหล่านี้ทั้งที่จบจากมหาวิทยาลัยมีชื่อในบริเวณนี้เองและจากทั่วโลกซึ่งถือเป็นปัจจัย 3 ข้อแรกที่ผมอธิบายไว้ในฉบับที่แล้ว วันนี้ผมจะมาวิเคราะห์ปิดจบให้ครบ 7 องค์ประกอบที่ติดค้างไว้ครับ
ปัจจัยที่ 4 ความคิดแบบผู้ประกอบการ Entrepreneurship เป็นที่นิยมเพราะ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จเป็นแม่แบบ เช่น Facebook และ Snapchat และมีเงินลงทุนมากมายที่พร้อมร่วมหัวจมท้ายกับไอเดียที่ใหม่และดี
แนวคิดการเป็นเจ้าของธุรกิจนี้เองก็ถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ที่ชอบความอิสระ เน้นผลลัพธ์ ไม่ใช่แต่ในสหรัฐแต่ในกรุงเทพฯก็เช่นกัน ผนวกกับกระเข้าถึงแหล่งทุนที่ง่ายขึ้นในยุคปัจจุบันผ่านการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯและต่างประเทศ นอกเหนือจากการกู้ธนาคารหรือหยิบยืมญาติมิตรเพื่อนฝูงในอดีต
ปัจจัยที่ 5 การพัฒนาไอเดียใหม่ให้เป็นผลิตภัณฑ์นั้นไม่ยาก เมื่อมีความคิดใหม่ๆ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาหรือเขียนโค้ดให้ไอเดียนั้นเกิดเป็นรูปธรรม และมีคนคิดเรื่องเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทำกำไรได้เป็นเรื่องง่าย สังเกตได้จากบริษัท Startup ชั้นนำล้วนเกิดขึ้นจากความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนใดคนหนึ่ง แล้วจึงมารวมกลุ่มกันเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ตนขาด
ปัจจัยที่ 6 การกระจุกตัวที่หนาแน่นของคนเก่ง ทำให้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็ว เกิดเป็นแนวคิด “Try fast and fail cheap - ลองทำไปก่อน แล้วค่อยพัฒนาให้ดีขึ้นไป” เพื่อพัฒนาแนวคิดที่ดีมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เร็วที่สุด และปรับเปลี่ยนพัฒนาตามพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อได้ใช้ผลิตภัณฑ์จริงเพราะการแข่งขันดุเดือด ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพพอใช้ได้แต่ออกสู่ตลาดได้เร็ว ย่อมดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีเลิศแต่กว่าจะออกสู่ตลาดนั้นใช้เวลานาน เช่น การออกแบบไอโฟน หรือแอพพลิเคชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ในกรุงเทพฯนั้นยังขาดแรงงานมีฝีมือในด้านการเขียนโค้ดตลอดจนการพัฒนาแก้ไขปัญหาทางเทคนิคในคอมพิวเตอร์ จำนวนแรงงานทักษะสูงที่ไม่พอต่อความต้องการนี้ทำให้ไอเดียไม่ถูกพัฒนาต่อยอดทั้งทางเทคนิคและในทางพาณิชย์ มหาวิทยาลัยก็เล็งเห็นจุดอ่อนตรงนี้และมีความพยายามเข้ามาสร้างให้กรุงเทพฯเกิดเป็น Digital ecosystem แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัดและเป็นเอกเทศต่อกัน สมควรได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากภาครัฐ
และปัจจัยที่ 7 ภาวะตลาดเสรี ที่กระตุ้นการแข่งขันอย่างอิสระ ทำให้เกิดการต่อยอดทางความคิดเพื่อนำไอเดียที่ดีกว่า ไอเดียที่ช่วยแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์พฤติกรรมหรืออำนวยความสะดวกแก้ผู้บริโภคได้มากกว่า สู่ตลาดเพื่อทดลองและแข่งขัน
ในกรุงเทพฯนั้นเรียกได้ว่า การแข่งขันในด้านธุรกิจดิจิทัลนั้นค่อนไปในทางอิสระ มีกฎระเบียบควบคุมจากรัฐไม่มาก โดยมีสิ่งควบคุมที่แท้จริงคือข้อจำกัดของเงินลงทุน ตัวอย่างง่ายๆ อาทิ แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์เจ้าใหญ่ๆ ในไทยนั้นล้วนมีสัญชาติต่างชาติทั้งสิ้นที่มีกำลังเงินและใจถึงใช้โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคคนไทยจนติดตลาดจนเมื่อผู้บริโภคใช้จนติดแล้วบริษัทต่างชาติเหล่านี้จึงสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวผลกำไรได้
จะเห็นได้ว่าตัวละครหลักในการทำพากรุงเทพฯให้ก้าวชั้นกลายเป็น Silicon valley แห่งเอเชียนั้นนอกจากบริษัท ตลาด แนวคิด และแรงงานมีฝีมือแล้ว รัฐยังสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงออกกฏที่เกื้อกูลอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจให้ง่ายขึ้นได้
มหาวิทยาลัยก็สามารถลดกำแพงและเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้าง Digital ecosystem ในกรุงเทพฯให้เป็นแหล่งดึงดูดคนเก่ง เปิดพื้นที่มีอุปกรณ์สนับสนุนให้ความคิดไอเดียใหม่ๆ นั้นต่อยอดได้ เพื่อก้าวสู่สุดยอดธุรกิจดิจิทัลใหม่ (Unicorn) ตัวแรกของเมืองไทยได้