บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
ผมได้รับเชิญเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อเดียวกับชื่อเรื่องบทความ โดยผมได้เสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมด้วยการบูรณาการวิทยาการ 8 ประการ
ปาฐกถาหัวข้อ Integrative Disciplines for Innovation Development in The 21st Century หรือบูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 ภายในงาน The 2nd International and National Conference : Multidisciplinary Innovation Development in the 21st Century ที่มหาวิทยาลัยกว่า 13 แห่งทั้งในและต่างประเทศร่วมกันจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผมได้เสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรมด้วยการบูรณาการวิทยาการ ดังนี้
ประการที่ 1 การบูรณาการข้ามศาสตร์ ด้วยโมเดล 8C (Dr. Dan Can Do 8C Integration Model: Integrated Disciplinary)
การบูรณาการศาสตร์ ทำให้เกิดการขยายขอบเขตปริมณฑลขององค์ความรู้ ทำให้เกิดแนวทางและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนานวัตกรรม เกิดพลังทวีคูณในการสร้างสรรค์นวัตกรรมมากกว่าการใช้ความรู้เพียงศาสตร์เดียว โดยรูปแบบการบูรณาการความรู้มีทั้งหมด 8 รูปแบบ ได้แก่
พหุศาสตร์ (Multi-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่าง ๆ มาศึกษา โจทย์เดียวกัน โดยที่แต่ละศาสตร์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เช่น สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ
สหศาสตร์ (Inter-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่าง ๆ มาใช้ร่วมกันเป็นระบบความคิด แต่ยังมองเห็นขอบเขตของแต่ละศาสตร์ เช่น สตรีศึกษา อเมริกันศึกษา
บรรจบศาสตร์ (Cross-Discipline) คือ การนำศาสตร์ต่าง ๆ มารวมกันเป็นศาสตร์ใหม่ ณ จุดบรรจบ โดยยังเห็นร่องรอยของศาสตร์เดิม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สรรพศาสตร์ (Trans-Discipline) คือ การบูรณาการข้ามศาสตร์ จนเกิดศาสตร์ใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิม เช่น อนาคตศาสตร์
ญาติศาสตร์ (Allied or Cognated Discipline) คือ การบูรณาการศาสตร์ที่มาจากรากเดียวกัน เช่น สะเต็ม (STEM)
ผลึกศาสตร์ (Merged Discipline) คือ การผสมผสานศาสตร์เข้าด้วยกันให้เป็นศาสตร์เดียวอย่างไร้รอยต่อ เช่น เศรษฐมิติ (Econometrics)
ผนึกศาสตร์ (Unified or Synergized Discipline) คือ การผนึกศาสตร์เข้าหากันจนเกิดความเป็นเอกภาพของศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ชีวเคมี กลศาสตร์ควอนตัม
นวศาสตร์ (Neo-Discipline) คือ การบูรณาการศาสตร์แนวใหม่ จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ศาสตร์การสร้างชาติ ศาสตร์การเป็นพ่อแม่
ประการที่ 2 การบูรณาการ 3ศ: ศาสตร์-ศิลป์-ศาส์น ด้วยโมเดล Scienartsideologue (SAI Model)
นวัตกรรมเกิดได้จากหลากหลายแหล่งที่มาและวิธีการ ไม่ใช่เพียงการใช้ ‘ศาสตร์ (Science)’ เท่านั้น แต่การพัฒนานวัตกรรมควรบูรณการระหว่างศาสตร์ คือ การทำซ้ำธรรมชาติ (Replication of Nature) ศิลป์ คือ การเลียนแบบธรรมชาติ (Imitation of Nature) และ ศาส์น คือ การทำสอดคล้องธรรมชาติ (Synchronization of Nature) เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่มีความสมบูรณ์ กลมกล่อม โดยเกิดจากการใช้ความรู้ที่สุดพรมแดนความรู้ มีการประยุกต์ใช้ความรู้อย่างเหมาะสม มีศิลปะ และนำสู่ความงามแท้ และสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม
ประการที่ 3 การบูรณาการภาคกิจ ด้วยโมเดลความร่วมมือตรีกิจ (Dr. Dan Can Do Tri-Sectors Model)
ความรู้ในอนาคตจะไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐและมหาวิทยาลัยเท่านั้น การพัฒนานวัตกรรมจึงควรบูรณาการตรีกิจ เพื่อผนวกจุดแข็งของแต่ละภาคกิจเข้าด้วยกัน กล่าวคือ ภาครัฐกิจมีองค์ความรู้ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านวิจัยและการพัฒนา ภาคธุรกิจมีเงินทุนและความสามารถพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้นแบบ ไปสู่ผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาด ส่วนภาคประชาชนมีความใกล้ชิดประชาชน จึงมีความเข้าใจความต้องการของสังคมและเข้าใจปัญหา
ประการที่ 4 การบูรณาการนวัตกรรมด้วยโมเดลนวัตกรรม 3 ระดับ (Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model)
ทุกนวัตกรรมล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความคิด แต่คนมักจะให้คุณค่ากับความคิดค่อนข้างน้อย ผมคิดว่าการพัฒนานวัตกรรมควรบูรณาการทั้ง นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation) นวัตกรรมการปฏิบัติ (Implementation Innovation) และนวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ จูงใจให้คนคิด สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมในการแลกเปลี่ยนและถกเถียงเชิงแนวคิด และเปิดใจกับแนวคิดใหม่ ๆ ส่งเสริมการนำแนวคิดสู่การปฏิบัติ และสร้างวัฒนธรรมกล้าคิด กล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก มีโครงการนำร่องและขยายไปสู่ผลลัพธ์ที่มีคุณค่า เลอค่า มีผลกระทบในวงกว้าง และยั่งยืน
ประการที่ 5 การบูรณการ Explicit knowledge และ Implicit (Tacit) knowledge
ความรู้มีทั้งที่ปรากฏ (Explicit knowledge) และความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน (Tacit knowledge) เช่น ประสบการณ์ ความเข้าใจลึกซึ้ง เป็นต้น การพัฒนานวัตกรรมควรพยายามดึงความรู้ในตัวคนออกมาด้วย โดยสร้างการปฏิสัมพันธ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อให้เปิดเผยความคิด และสร้างชุมชนหรือเครือข่าย ที่มีวัฒนธรรมในการถ่ายทอดความรู้ ความคิดอย่างเปิดเผย และมีผู้ร่วมสนทนาที่สามารถกระตุ้น หรือตั้งคำถามที่ท้าทายให้คิด เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีการแบ่งเป็นวิทยาลัย เพื่อพบปะและใช้ชีวิตร่วมกัน ระหว่างอาจารย์และนักศึกษาจากหลายคณะและชั้นปี
ประการที่ 6 การบูรณาการบนฐานความรู้ Active Knowledge Acquisition และ Passive Knowledge Acquisition
ที่ผ่านมา การได้มาซึ่งความรู้มักเกิดจากการออกแบบวิธีวิจัยและเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเจาะจง หรือที่ผมเรียกว่า Active Knowledge Acquisition แต่ในอนาคต การได้มาซึ่งความรู้จะเกิดในลักษณะ Passive Knowledge Acquisition มากขึ้น ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากทุกคนและทุกเวลาต่อเนื่อง และประมวลผลโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนานวัตกรรมจึงควรบูรณาการข้อมูลและความรู้ที่ได้จากทั้งสองแหล่ง เพราะความรู้ทั้งสองแบบมีจุดอ่อนและจุดแข็งต่างกัน จะช่วยให้การพัฒนานวัตกรรมมีประสิทธิสภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงจากความล้มเหลว และพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็วมากขึ้น
ประการที่ 7 การบูรณาการคน ระบบ บริบท
การพัฒนานวัตกรรมอย่างยั่งยืน ต้องบูรณาการ ทั้งคน ระบบ และบริบทนวัตกรรม โดยสร้างคนที่มีความรู้ ทักษะ และลักษณะชีวิต ตามโมเดลสมรรถนะ KSL 31220 สร้างระบบที่จูงใจให้คนพัฒนานวัตกรรม เอื้อให้เกิดความร่วมมือ ร่วมลงทุน ร่วมรับความเสี่ยง เป็นต้น และมีบริบทที่สนับสนุน เช่น เป็นพื้นที่น่าอยู่ ใกล้แหล่งเศรษฐกิจ แข่งขันเสรี ยุติธรรม มีความหลากหลายเพื่อผสมเกสรทางความคิด เป็นต้น
ประการที่ 8 การบูรณาการความดี ความเก่ง ความกล้า
การพัฒนานวัตกรรม นอกจากจะขึ้นอยู่กับความเก่งของคนแล้ว การเป็นนวัตกรที่จะพัฒนานวัตกรรมที่มีผลกระทบอย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างบูรณาการให้เป็น คนดี เก่ง กล้า คือ ปรารถนาที่จะทำสิ่งดี และเป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม มีความเชื่อว่าทำได้ (Can Do Spirit) และทุ่มเทพัฒนาตนเองจนเก่ง รวมทั้งกล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้ายืนหยัด หากเห็นว่าเป็นสิ่งดีและมีประโยชน์
มหาวิทยาลัยต้องเป็น “มดลูก” คลอดสังคม เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และวิทยาการ และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนเช่นปัจจุบัน หากไม่เร่งปรับตัวให้ก้าวตามทันโลก จะไม่สามารถชี้นำและเดินนำหน้าสังคมได้ และกลายเป็นมหาวิทยาลัยจะตกยุค เป็นสถาบันที่ไม่ประโยชน์ต่อสังคม.