‘กว่าจะมาถึง…เมืองพระพิศณุโลกย์’ อ่านแล้วเที่ยว 'เมืองสองแคว'
งานเปิดตัวหนังสือ ‘กว่าจะมาถึง…เมืองพระพิศณุโลกย์’ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ตำนาน 'เมืองสองแคว' ก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวกัน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัวหนังสือ กว่าจะมาถึง…เมืองพระพิศณุโลกย์ ชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์ เมืองสองแคว
หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดพิษณุโลก เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 600 ปี เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม
สมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ ททท. เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ห้องสมุด อาคารททท. สำนักงานใหญ่ กล่าวว่า ในปี 2568 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีแนวทางส่งเสริมการตลาดภูมิภาคภาคเหนือ
"โดยร่วมกับ พิพิธภัณฑ์เพลงโบราณ บ้านอภิสิทธิ์ สรรพานิช...มิตรเพื่อนพิการ เปิดตัวหนังสือ กว่าจะมาถึง…เมืองพระพิศณุโลกย์ สะท้อนความสำคัญของจังหวัดพิษณุโลก ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาในแง่มุมต่าง ๆ ที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน
สร้างแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางสู่เมืองพิษณุโลก เสริมสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน
ทำให้พิษณุโลกเป็นจุดหมายปลายทางที่ทรงคุณค่าน่าหลงใหล สร้างความประทับใจ สัมผัสประสบการณ์ใหม่จากการเดินทางที่มีความหมาย"
อภิสิทธิ์ สรรพานิช ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เพลงโบราณ บ้านอภิสิทธิ์ สรรพานิช...มิตรเพื่อนพิการ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ มาจากตนเองและน้องชาย ที่ทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา แล้วรู้สึกว่า เราจะทำประโยชน์อะไรให้กับบ้านเมืองได้บ้าง
"เมื่อก่อนไม่ได้สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ แต่พอมาอยู่ที่นี่แล้วหลังเกษียณอายุ เราก็เริ่มศึกษาเมืองพิษณุโลกไม่มีใครรู้จักมากสักเท่าไรในแง่ของประวัติศาสตร์
.
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
เวลาอ่านประวัติศาสตร์มันก็กระจัดกระจาย ผมเลยร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้มันอ่านง่ายขึ้น ไปค้นคว้าประวัติจากที่ต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งมีมากมายหลายที่
แต่ละคนก็เขียนแต่สิ่งที่เขาสนใจ เราก็เอามารวมกันเป็นเรื่องเป็นราว ไล่มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนมาถึงปัจจุบัน ก็ยาวนานมากเป็นพัน ๆ ปี มันเกิดอะไรขึ้นกว่าจะมาถึงเมืองนี้
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
ใช้เวลาค้นคว้า 10 ปี เมืองพิษณุโลกเกิดขึ้นมาได้ยังไง ทำไมถึงชื่อเมืองพิษณุโลก เหตุผลในการตั้งชื่อเป็นมาอย่างไร ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายท่านที่ผมถามไป ไม่มีใครตอบได้ ว่าทำไมถึงชื่อนี้
ผมต้องไปศึกษาจากตำราฮินดู ตำราพราหมณ์ และศาสนาพุทธ อย่างการสร้างพระพุทธชินราช มีเบื้องหลังเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงมีความเชื่อว่าผู้สร้างคือพระอินทร์ ไม่ใช่มิราเคล เราพูดถึงสิ่งที่ปรากฎมา
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
เราสองคนพี่น้องมีความรักในดนตรีและเสียงเพลงจึงนำบ้านของตนเองมาจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เพลงโบราณ มีกิจกรรมฉายหนังเพลงโบราณเดือนละครั้ง
ช่วยเหลือคนพิการ คนป่วยติดเตียง คนยากไร้ ให้ทุนการศึกษานักเรียนยากจน การเขียนหนังสือเล่มนี้ออกจำหน่าย เพื่อนำรายได้ช่วยเหลือสังคมต่อไป
มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมืองพิษณุโลก วิถีชีวิตที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ของชุมชนรากเหง้าก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม หัตถกรรมพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ฯลฯ ความเชื่อและตำนาน ถอดความจากจินตวรรณกรรมคำกวีเรื่อง นารายณ์ โดย สมมาเบญจพงษ์"
ภัคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวพิษณุโลก กล่าวว่า พิษณุโลกเป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง
"ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สามารถขับรถไปได้ ประมาณ 5 ชั่วโมงเท่านั้นเอง การเดินทางสะดวกสบาย มีทั้งสายการบิน รถบัส รถไฟ ตอนนี้พิษณุโลกมีอากาศหนาวเย็น ในช่วงนี้ดอกนางพญาเสือโคร่งบานแล้ว ที่ภูลมโล ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า
ขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวที่มองหาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ หรือเชิงวัฒนธรรม ที่พิษณุโลกเรามีทุกอย่างที่จะมอบให้ทุกท่าน"
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
นักเดินทางท่องเที่ยวมาที่พิษณุโลกแล้ว มี 5 Must Do in Thailand ได้แก่
- Must Taste ชิมเมนูเด็ดประจำท้องถิ่น ก๋วยเตี๋ยวห้อยขา, ห่อหมกปลาช่อนใบยอ, มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
- Must Try ลุยกับกิจกรรมสุดผจญภัย ล่องแก่งลำน้ำเข็ก, เข็กน้อยอัลตร้าเทรล, ปีนเขาล่องเรือตาหมื่น
- Must Buy สินค้าชุมชนต้องชอป สมเด็จพระนางพญา, พระพุทธชินราชเนื้อผงเสาร์ 5, กล้วยตากบางกระทุ่ม
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
Cr. ททท. สำนักงานพิษณุโลก
- Must Seek วิวสวยจุดถ่ายรูปอัปโปรไฟล์ใหม่ ชมค้างคาว ณ บ้านมุง, ชมดอกนางพญาเสือโคร่ง ณ อุทยานแห่งชาติภูลมโล
- Must See ชมไลฟ์สไตล์คนท้องถิ่น ตักบาตรรับอรุณ ณ วัดใหญ่, นั่งรถรางชมเมือง สัมผัสวิถีชุมชน ณ บ้านวังส้มซ่า
ข้อมูลเพิ่มเติม : พิพิธภัณฑ์เพลงโบราณ บ้านอภิสิทธิ์ สรรพานิช...มิตรเพื่อนพิการ โทร. 08 4665 4795 และ ททท.สำนักงานพิษณุโลก โทร. 1672