จัดการอารมณ์ออนไลน์
ความผิดพลาดของมนุษย์นั้นเกิดได้ง่ายขึ้น เมื่ออยู่ในโลกไซเบอร์ที่มองไม่เห็นหน้าผู้คน ไม่เห็นบริบทของการสื่อสารและการตอบโต้
“กำลังไปอาฟริกา หวังว่าคงไม่ติดเอดส์นะ ล้อเล่นน่ะ ผมเป็นคนขาว” ข้อความบนทวิตเตอร์ก่อนโดยสารเที่ยวบินนาน 11 ชั่วโมงของ Justine Sacco เมื่อตอนปี 2013 เปิดประตูของการอับอายต่อสังคมทางออนไลน์ ( public shaming ทางออนไลน์) ที่กล่าวขวัญกันมาถึงทุกวันนี้ เพราะเมื่อลงเครื่องบินแล้วจึงรู้ว่ามีคนเป็นหมื่น ๆ ที่มีปฏิกิริยาเป็นลบ กล่าวหาว่าเธอเป็นคนเหยียดผิว (racist) ปัจจุบันเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวัน ก่อให้เกิดผลเสียและผลดีบ้างอย่างน่าใคร่ครวญแก่ทุกคน
Justine Sacco เป็นผู้บริหารรับผิดชอบด้านสื่อสารองค์กรของบริษัทในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช้ความรู้ที่เธอมีอย่างมีสติจนต้องถูกไล่ออกจากงาน สูญเสียชื่อเสียงเพราะวูบเดียวของความสนุก หลังเหตุการณ์เธอรู้สึกผิด (มี guilt) และรู้สึกอับอาย (shame) การ “ทัวร์ลง” ตามสำนวนสมัยใหม่บางครั้งมีคนเรียกว่าเป็นการบูลลี่ (bully ) สี่คำข้างต้นนี้หมายความถึงอะไรและโยงใยกันอย่างไร
guilt และ shame มีความสัมพันธ์กันในเชิงวิชาการจิตวิทยา guilt หรือความรู้สึกผิดซึ่งโยงกับการกระทำหรือพฤติกรรมหนึ่ง ๆ ที่ตนเองได้กระทำไป ส่วน shame นั้นเป็นการประเมินตนเองตามจิตสำนึกเกี่ยวกับการกระทำสิ่งนั้นๆซึ่งผูกพันกับขนบธรรมเนียมของแต่ละสังคม บางคนบอกว่าการแยกง่าย ๆ ก็คือความรู้สึกผิด (guilt) คือ “ฉันทำสิ่งที่ผิด” (I did a bad thing.) ส่วนความรู้สึกอับอาย (shame) คือ“ฉันเป็นคนไม่ดี” (I am a bad guy.)
การประเมินตนเองซึ่งเป็นฐานของ shame นั้นมีส่วนดีคือทำให้คนรู้สึกว่าต้องปรับปรุงตนเอง ต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องช่วยกันแก้ไขให้สังคมดีขึ้น ส่วนที่ไม่ดีก็คืออาจทำให้บุคคลหนึ่งจมปลักอยู่ในความรู้สึกที่เป็นลบตลอดชีวิตได้ ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดเป็นเรื่องของการประเมินตนเองซึ่งอยู่ที่ใจของแต่ละคน การกระทำเดียวกันของอีกคนหนึ่ง เช่น การขโมยอาจไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกอับอายก็ได้เพราะเป็นคนขาดจิตสำนึก หรือในสังคมนั้นการขโมยไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย
สำหรับคำที่สามคือ public shaming หรือความอับอายต่อสังคมนั้น โลกรู้จักมายาวนานนับเป็นพันปีก่อนยุคอินเตอร์เน็ต เมื่อสมาชิกของสังคมกระทำสิ่งที่ผิดกฎสังคม วิธีการของยุโรปก็คือเอาศีรษะและมือทั้งสองข้างใส่ขื่อคา (ไม้สองแผ่นเอาสันประกบกันโดยมีรูให้วางศีรษะและมือ) และประจานให้สมาชิกคนอื่น ๆ ได้เห็นอย่างจะแจ้งซึ่งก็ชอบมาดูกันพร้อมด่าว่าและเอาอาหารเน่าเสีย ปาใส่ วิธีการนี้เลิกไปไม่ถึง 200 ปีเพราะเห็นว่าป่าเถื่อนเกินไป สังคมไทยก็มีวิธีการ public shaming เช่นกันด้วยการเอาใส่กรง ตากแดดตากฝนในที่สาธารณะเพื่อประจาน (ในสมัยรัตนโกสินทร์ใช้บริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง สนามหลวง ลานวัด ฯลฯ)
ในสังคมอินเตอร์เน็ตและโซเซียลมีเดีย public shaming สามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาไม่กี่นาที หากมีการโพสต์ข้อความที่จุดประกายความรู้สึกจนเกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” มีพลังตอบโต้ผู้โพสต์ข้อความแรกอย่างรุนแรงและก้าวร้าวจนเกิดการอับอายทางสังคม อย่างไรก็ดียังมี public shaming อีกลักษณะหนึ่งคือการเปิดโปงพฤติกรรม หรือการกระทำที่เลวร้ายของบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกิดเป็นกระแสบีบคั้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น
โลกไซเบอร์น่ากลัวมากเพราะสามารถทำลายใครก็ได้ (ถ้าทำเป็น) ด้วยกระบวนการ public shaming ชนิดกล่าวหา ผู้คนนับล้านเห็นข้อความนั้น และเชื่อไปเป็นแสน ๆ แล้วก่อนที่จะมีโอกาสตอบโต้ ธรรมชาติของการต่อสู้ในลักษณะนี้ ผู้รุกจะเหนือกว่าเพราะการกล่าวหาไม่ต้องมีหลักฐานมากมาย แต่ผู้แก้ข้อกล่าวหาต้องมีพยานหลักฐานมาหักล้างซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่า ทุนเดิมหรือความเชื่อถือผู้กล่าวหาแต่ดั้งเดิม ( ลักษณะหนึ่งของ social capital) จึงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เป็นอย่างมาก
สำหรับคำที่สี่คือ bullying (การบูลลี่) นั้นหมายถึงการใช้อำนาจ การบังคับขู่เข็ญ การทำร้ายร่างกายและจิตใจ การขู่ให้กลัว การกดขี่ ฯลฯ ทางกายภาพหรือคำพูด ประเด็นสำคัญคือการรับรู้รับทราบถึงพลังที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกระทำ
การบูลลี่ทางคำพูด ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ hate speech หรือคำพูดที่สร้างความเจ็บปวดอันเกิดจากการมีประสงค์ร้ายนั้น อาจร้ายแรงกว่าการถูกทำร้ายทางร่างกายด้วยซ้ำเพราะสำหรับบางคนอาจนำไปสู่ความรู้สึกผิด (guilt) และความรู้สึกอับอาย (shame) ที่รุนแรงก็เป็นได้
ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือ public shaming ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของบุคคลหนึ่งในโลกไซเบอร์นั้นมักนำไปสู่การบูลลี่จนต้องปิดหน้าเฟส หายตัวไปก็เป็นได้ หนทางที่ดีที่สุดก็คือการไตร่ตรองให้รอบครอบก่อนการโพสต์ข้อความใหม่หรือโพสต์ข้อความตอบกลับ หรือแม้แต่การรีทวิตข้อความหรือแชร์ข้อความไปยังผู้อื่น ความผิดพลาดของมนุษย์นั้นเกิดได้ง่ายขึ้น เมื่ออยู่ในโลกไซเบอร์ที่มองไม่เห็นหน้าผู้คน ไม่เห็นบริบทของการสื่อสารและการตอบโต้
ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ได้ให้ข้อแนะนำในการจัดการเกี่ยวกับความอับอายในโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
(1) คิดก่อนโพสต์ข้อความ ลองตรองดูว่าอยากให้ “ร่องรอย” ของตนในโลกไซเบอร์มีลักษณะอย่างไร เขียนคำสำคัญ ๆ ที่จะสร้าง"ร่องรอย" เหล่านั้น ทุกครั้งที่โพสต์ข้อความให้นึกว่าข้อความสะท้อนคีย์เวิร์ดพวกนั้นหรือไม่
(2) คิดถึงฉากที่จะเกิดขึ้นต่อไปเสมอ คิดให้รอบครอบถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการโพสต์ข้อความแล้วว่าจะกระทบถึงใครบ้างและเกิดอะไรขึ้น
(3) หยุดคิดและใจเย็น ๆ เมื่อพบข้อความที่ทำให้เลือดเดือด จงหยุดคิดและมองในแง่ขำขัน หายใจลึก ๆ ออกไปเดินเล่นให้ห่างคีย์บอร์ด
(4) เขาเสียหายไม่ใช่เรา ถ้าเราถูกทำให้อับอายออนไลน์ โดยเฉพาะด้วยคำที่หยาบคาย จงนึกว่าคนเสียหายไม่ใช่เรา แต่เป็นคนที่กระทำกับเรา คิดอย่างนี้จะทำให้ใจสบายขึ้น
(5) หาเครื่องมือใหม่มาใช้เพิ่มเติม เมื่อถูกบูลลี่ออนไลน์ก็จงเรียนรู้เทคนิคและหาเครื่องมือมาใช้ เช่น บล็อกคนที่ทำร้ายเรา รายงานไปยังแอดมิน ถ่ายรูปข้อความและรายงาน ฯลฯ
อินเตอร์เน็ตและโซเซียลมีเดีย มีทั้งคุณและโทษโดยขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ไม่มีใครสามารถหยุดกั้นการถูกทำให้อับอายและการถูกบูลลี่ได้ แต่ปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้ถูกกระทำนั้นสร้างขึ้นได้ด้วยการใช้ “สติ” และ“ปัญญา” อย่างเท่าเทียมกัน.