วัคซีนโควิด: ขายแบบไม่เอากำไร
เราถกเถียงกันมานานว่า ทำไมใช้ยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ ทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้า ฯลฯ แต่ถึงวันนี้ ประเด็นเหล่านั้นก็คลี่คลายไปมากแล้ว
ผมจะเล่าอีกเรื่อง ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง นั่นคือ เรื่องของวัคซีน ในเชิงธุรกิจ นับตั้งแต่ การคิดค้น การผลิต จำหน่าย และทำกำไร
เมื่อไวรัสระบาด ก็ต้องมีการค้นคว้าวิจัย ว่าจะเอาวัคซีนแบบไหนมาสู้กับมัน ตรงนี้ต้องใช้ทั้งความรู้ และเงินจำนวนมาก ซึ่งเมื่อทำสำเร็จ การผลิตเพื่อขาย และทำกำไร ก็เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ
แต่ AstraZeneca (AZ) และ Johnson & Johnson (JJ) กลับประกาศว่า “จะไม่ทำกำไรจากการขายวัคซีน ในช่วงที่โรคนี้ระบาด”
ต่างกับ Pfizer และ Moderna ที่บอกว่า “เราจะทำกำไรตามปกติ” ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะเขาลงทุนไปเยอะ
แต่ปรัชญาธุรกิจ ที่แตกต่างกันแบบนี้ คุณจะเชียร์บริษัทไหนล่ะครับ
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ คงเชียร์ AZ กับ JJ นั่นแหละ แต่อีกสองยี่ห้อ เขาก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนะครับ ถ้าหากไม่ตั้งราคาสูงจนน่าเกลียด และเขาก็มีคู่แข่งด้วย ถ้าขายแพงเกินไป ก็มีตัวอื่นให้เลือก เว้นเสียแต่ว่าในช่วงแรกๆ ซัพพลายของวัคซีนตัวอื่น อาจมีจำกัด ทำให้ต้องซื้อ Pfizer กับ Moderna ในราคาสูง ด้วยภาวะจำยอม
จากนโยบายการทำกำไร Pfizer จึงขายวัคซีน ในไตรมาส1ปี2564ได้ถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ได้กำไรจากวัคซีน 900 ล้านดอลลาร์ และ สิ้นปี 2564 ยอดขายวัคซีนน่าจะสูงถึง 26 พันล้านดอลลาร์ จากที่ประมาณการเดิม เพียง 15 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
ยอดขายที่สูงมากเช่นนี้ และกำไรขนาดนี้ เลยมีคนตั้งคำถามว่า ที่ซีอีโอ ของ Pfizer ประกาศเมื่อเดือนมกราคมนี้ว่า “เราเชื่อมั่นในหลักการว่า มนุษย์ทุกคนต้องไม่ถูกมองข้าม ต้องได้รับการรับฟัง และการเหลียวแล” นั้น ... มันยังจริงอยู่เพียงใด
นอกจากจะกำไรจากวัคซีนแล้ว Pfizer ก็ยังมี ยาตัวอื่น ที่มีกำไรดีตลอดมา เช่นยาลดไขมันในเลือด (Lipitor) ที่ขายดีที่สุดในโลก ในขณะที่ Moderna ซึ่งตั้งบริษัทมา 11 ปี ยังไม่เคยมีกำไรเลย และก็ไม่มีสินค้าตัวอื่นจำหน่ายด้วย แบบนี้ ก็น่าเห็นใจ Moderna ที่จะต้องทำกำไร เพื่อความอยู่รอด
Pfizer พยายามสื่อว่า บริษัทใช้เงินเยอะ และไม่ได้ขอรับเงินอุดหนุนใดๆ จากรัฐบาลอเมริกัน ในการพัฒนาวัคซีนเลย แต่ผู้วิจารณ์ก็บอกว่า BioNTech พาร์ทเนอร์ของคุณน่ะ รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมัน นะจ๊ะ
คราวนี้ กลับมาที่ AZ ซึ่งพัฒนาโดย อาจารย์อ๊อกซ์ฟอร์ด 2 คน เป็นอาจารย์หญิงหนึ่ง และชายหนึ่ง นามว่า Sarah Gilbert และ Adrian Hill
อ๊อกซ์ฟอร์ด เป็นสถาบันการศึกษา เรื่องการค้าขายจึงไม่ใช่ธุรกิจหลัก และต้องคำนึงถึงการบริการสังคมด้วย ทีแรกก็คิดว่าจะหาบริษัทผู้ผลิตยา หลายๆราย เพื่อกระจายกันไปผลิตและจำหน่าย ให้ได้ปริมาณเยอะๆ แต่จะไม่ยกลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทใดเลย
ต่อมาเปลี่ยนใจว่า งานใหญ่ระดับนี้ คงต้องหาบริษัทยักษ์ใหญ่ มาเป็นพาร์ทเนอร์น่าจะดีกว่า จึงเจรจากับ Merck ของอเมริกา แต่ก็มีข่าวว่ารัฐบาลอังกฤษ อยากให้ใช้บริษัทของอังกฤษ เพื่อจะได้สร้างอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ ให้เติบโต
จึงมาสรุปได้ที่บริษัท AstraZenegra บริษัทร่วมทุนของสวีเดน (Astra) กับ อังกฤษ (Zenegra) และสำนักงานใหญ่ก็อยู่ที่เคมบริดจ์ ไม่ไกลจากอ๊อกซ์ฟอร์ดมาก นัก
บริษัทนี้ ถนัดเรื่องยารักษามะเร็ง และไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนเลย... อ้าว! แล้วจะเชื่อถือคุณภาพวัคซีน AZ ได้หรือ? ประเด็นนี้ ผมว่าอย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บเลย กลับไปดูประเด็นในเชิงธุรกิจ ตามหัวข้อเรื่องกันดีกว่า
ณ 30 เม.ย. ปี2564: AZ ประกาศยอดขายวัคซีนได้ 275 ล้านดอลลาร์ ถือว่าเป็นยอดขายซึ่ง น้อยกว่า Pfizer อย่างมาก ก็คงเป็นเพราะขายราคาถูก ด้วยนโยบายไม่ทำกำไรนั่นแหละ ราคาต่อโดส Astra ขายเพียง 4.00ดอลลาร์ ส่วน JJ 10 ดอลลาร์ในขณะที่ Pfizer 20ดอลลาร์ และ Moderna 25-37ดอลลาร์ (ราคาจริง ขึ้นอยู่กับเวลา จำนวน และเงื่อนไขอื่นๆ)
แต่ที่ว่า AZ จะไม่ทำกำไร ก็ต้องมองให้ทะลุนะครับ เพราะข้อตกลงระบุไว้หลวมๆว่า บริษัทจะไม่ทำกำไรในการจำหน่ายวัคซีน “จนกว่าโรคระบาดจะสิ้นสุดลง” หลังจากนั้น บริษัทก็สามารถแสวงหากำไรได้
พูดกันแฟร์ๆว่า วันหนึ่งเขาก็ต้องทำกำไร เพื่อให้อยู่ได้ในระยะยาว แต่ที่ต้องจับตาก็คือ บริษัทเป็นฝ่ายเดียว ที่จะตัดสินว่า โรคระบาดสิ้นสุดลงหรือยัง ตรงนี้ก็หวิวๆอยู่นะครับ เพราะไม่รู้จะใช้อะไรวัด ว่าโรคระบาดมันจบลงแล้ว
อ้าว..ยังไม่ทันได้คุยเรื่อง JJ หรือ Sinovac และ Sinopharm เลย เพราะวัคซีนจีนก็ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่พื้นที่หมดเสียแล้ว... งั้นจบแบบนี้ก็แล้วกัน คือ อาจารย์อ๊อกซ์ฟอร์ด ที่ร่วมคิดค้นวัคซีน AZ นั้น ข่าวว่าจะร่ำรวยขึ้นมาก จากเงินส่วนแบ่ง และการถือหุ้นในบริษัทย่อยของอ๊อกซ์ฟอร์ด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ อาจารย์หญิง Sarah Gilbert วัยเพียง 50 ปี เป็นคุณแม่ ลูกแฝดสาม ชายหนึ่งหญิงสอง ทุกคนเก่งเหมือนแม่ เรียนจบมัธยมด้วยเกรด A* และ A และขณะนี้เรียนอยู่ที่ อ๊อกซ์ฟอร์ด ในสาขา “Biochemistry” ทั้งสามคนเสียด้วย!
ผมว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ถ้ามีไวรัสตัวใหม่ระบาด เราคงไม่ต้องกังวลแล้วครับ เพราะคุณแม่คนนี้ จะมีลูกอีกสามคน มาร่วมค้นคว้าวัคซีนตัวใหม่ เพื่อช่วยชีวิตชาวโลกได้!
ส่วนไทยเรา ก็กำลังจะมีวัคซีนเหมือนกัน แต่คงต้องรออีกพักใหญ่
ตอนนี้ก็ขายธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันงดงามไปก่อนก็แล้วกัน