Agile Culture
ลายองค์กรช่วงนี้กำลังพยายามทำ Agile Culture หากคุณเป็นหนึ่งในนั้น หรือกำลังคิดว่าจะทำบ้างดีไหม กรุณาอ่านเรื่องนี้ก่อน
Agility แปลว่า คล่องตัว คล่องแคล่ว ว่องไว อ่านเผินๆอาจรู้สึกว่า เออ ดีนะ องค์กรเราจะได้กระฉับกระเฉง ปรับตัวทันยุคสมัย หรือก้าวกระโดดข้ามไปนำตลาดเลย
ในความเป็นจริง Agile Culture ไม่ได้แปลตรงตัวง่ายๆซื่อๆอย่างนั้น
Agile Culture มีจุดเริ่มต้นจากการทำงานแบบ Start-Ups ของนักริเริ่มไอเดียแบบ Entrepreneur ทั้งหลาย นึกถึงจุดเริ่มต้นประมาณโรงจอดรถสไตล์อะเมซอนหรือเฟสบุ๊ค พอธุรกิจเริ่มเติบโต ก็ดึงดูดนักคิดนักสร้างสรรค์อื่นๆเข้ามารวมตัวกัน นึกถึงบริษัทกูเกิ้ล นึกถึงเทสล่า นึกถึงอาลีบาบา
คิดง่ายๆคือเป็นการทำงานในรูปองค์กรของคนที่ ‘ไม่ใช่คนองค์กร’ แต่ของคนที่เป็น ‘เถ้าแก่น้อย’
Agile Culture เกิดตามมาเพื่อปรับสไตล์การทำงานให้สอดคล้องกับบุคคลากรประเภทนี้ เพราะจะให้เถ้าแก่น้อยทั้งหลายมาทำงานแบบหน้างานรายงานหัวหน้า รายงานผู้จัดการ รายงานผู้อำนวยการ รายงานรองประธาน รายงานประธาน ฯลฯ นำเสนอให้ทราบเพื่อขอการตัดสินใจ ก็คงไม่ได้
เราเริ่มได้ยิน Jargons ศัพท์เฉพาะของมันหนาหูขึ้นเรื่อยๆในองค์กรต่างๆ เช่น Tribes, Squads, Chapters หรือกระทั่ง Guilds ซึ่งล้วนเป็นภาษาของกระบวนการแบบ Agile
ใครฟังแล้วปวดหัวไม่ต้องคิดเยอะ ผมสรุปให้ง่ายๆมันคือการทำงานแบบพนักงานทุกคนสวมหมวกเถ้าแก่ ไม่มีระบบรายงานหัวหน้า แต่เป็นการแบ่งงานเป็นกลุ่มย่อยๆ ให้แต่ละกลุ่มรับผิดชอบงานชิ้นนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนทีมนึงดู iPhone ทีมนึงดู iPad ทีมนึงทำ iCloud โดยไม่สนใจฟังค์ชั่นงานว่าใครอยู่แผนกไหน
ข้อดีคือ Agile ทำให้แต่ละชิ้นงานดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว จะเหยียบเท้ากัน จะเกี่ยงว่าส่วนนี้งานฉันหรืองานเธอ Agile ไม่สนใจ คนนั้นเป็นคนกำหนดนโยบาย คนนี้เป็นคนส่งของ คนโน้นเป็นคนกระจายของ พอลูกค้าไม่ได้สินค้าต้องเลื่อนวันนัดกันนาทีสุดท้าย (ฟังคุ้นๆไหมครับ?) Agile ไม่รับรู้ รู้อย่างเดียวว่าถ้ารับงานไปทำแล้ว ต้องดั้นด้นหาวิธีทำให้ได้ วัดผลกันตอนจบอย่างเดียวว่างานสำเร็จไหม เหมือนสปิริตของ Start-ups
แล้วข้อจำกัดล่ะ?
ข้อคิดของผู้นำสมอง
· Agile is not (yet) for everyone การจะนำวัฒนธรรมเช่นนี้มาใช้ เราต้องเข้าใจด้วยว่าพนักงานในองค์กรส่วนมากไม่ได้มีหัวใจเถ้าแก่ หลายคนเลือกทำงานองค์กรเพราะจะได้ไม่ต้องตีนถีบปากกัดพลิกแพลงเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ต้องการชีวิตอันกำหนดควบคุมได้ มีงานส่งมาเราก็ทำไป ทำเสร็จแล้วก็กลับบ้านนอนไม่ต้องคิดมาก ดังนั้น จู่ๆจะให้คนเปลี่ยน Mindset ทันทีทันควันอาจลำบาก
· Agile relies on honesty, empathy, and trust อยากได้วัฒนธรรมแบบนี้อย่าลืมว่ามันคือการทำงานของคนที่มีความฝันร่วมกัน แน่นอน เวลาเอาเถ้าแก่มารวมตัวกันหลายๆคน ย่อมมีการใช้อารมณ์เพื่อให้ตัวเองทำงานสำเร็จ ฉะนั้นคนจะขึ้นเสียงใส่กัน เถียงกัน ทะเลาะกัน แล้วทำงานด้วยกันจับมือกันภายหลังได้ ต้องมีความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าเราต่างมีเป้าหมายร่วมอันเดียวกัน หากองค์กรของคุณยังไม่มีจุดนี้ต้องเร่งเสริม มิฉะนั้น Agile อาจเพิ่มรอยร้าวที่มีอยู่ให้แยกหนักเข้าไปอีก
· Agile is not simply cross-functional team ข้อนี้ต้องระวังมาก ผู้นำบางองค์กรตกม้าตายเพราะเห็นคำอธิบายในกระดาษ เห็นแบ่งๆเป็นโปรเจ็คทีมแล้วเข้าใจว่า อ๋อ... เราทำอย่างนี้อยู่แล้ว แค่เรียกว่า cross-functional team ไง แต่หัวใจของสองสิ่งนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ การทำงานแบบ cross-functional team (อย่างน้อยที่ผมเห็นในองค์กรต่างๆ) คือการเอาผู้รับผิดชอบด้านต่างๆมารวมกัน เมื่อโปรเจ็คมันแตะหลายส่วนงาน จึงต้องขอ ‘ผู้แทน’ จากแต่ละหน่วยมาร่วม
หากในทางปฏิบัติ ผู้แทนเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของโปรเจ็ค เราจึงเห็นการทำงานแบบ Silo อยู่ภายใน cross-functional team เดียวกัน เช่น ตัวแทนฝ่ายขายขอรับเรื่องกลับไปปรึกษาแผนกก่อน ตัวแทนฝ่ายการตลาดโยนเรื่องให้โปรดักส์ไปพิจารณา หรือตัวแทนฝ่ายผลิตชี้หน้าฝ่ายตรวจคุณภาพว่าปัญหาเกิดจากระบวนการที่ล้าสมัย เป็นเพียงคนจากต่างทีมที่มาปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานตนเองในโครงการนี้เท่านั้น
Agile ไม่ใช่การทำงานแบบนั้น มันคือสปิริตของเถ้าแก่ที่มาร่วมกันผลักดันความฝันนี้ให้เป็นจริง Squad members เปรียบเสมือนเป็นพนักงานของบริษัท Start-up เล็กๆ ส่วน Squad Leader ก็เหมือนซีอีโอ ไม่มีการเกี่ยงว่าใครมาจากทีมไหน รีพอร์ตใคร มายืนอยู่ใน Scrum กับพี่แล้วเราลงเรือลำเดียวกันหมด
นี่ล่ะครับ Agile Culture เหมาะกับคุณไหม องค์กรของคุณพร้อมแล้วหรือยังครับ?