อยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย
ช่วงเวลานี้ ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสสำหรับภาคธุรกิจอุตฯ โดยเฉพาะกิจการ SMEs ที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดให้ได้
แนวความคิดที่พอจะเป็นประโยชน์ภายใต้ “สถานการณ์ COVID-19” ในขณะนี้ จึงเป็นเรื่องของ “การวางแผนเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ” BCP (Business Continuity Plan) และการวางแผนเพื่อการ “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience)
อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์) ได้บรรยายในหัวข้อ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ในหลายๆ ประเด็นที่สมควรถ่ายทอดให้รับรู้ทั่วกัน
เรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งในการบรรยาย ก็คือ เรื่อง “Resilience” (ล้มแล้วลุกไว) ซึ่งมีแนวความคิดสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ (1) พร้อมรับ (Cope) (2) ปรับตัว (Adapt) และ (3) เปลี่ยนแปลงเพื่อเจริญเติบโต (Transform)
(1) แนวความคิดเรื่อง Cope (พร้อมรับ) หมายถึง ความสามารถในการต้านทาน เยียวยา และฟื้นสภาพจากวิกฤต อันได้แก่ Resist , Cope และ Bounce Back
Resist คือ สร้างความสามารถที่จะต้านทานความยากลำบากจากวิกฤตได้โดยถอดรหัสบทเรียนของการพัฒนาที่ผ่านมา รีวมถึงสามารถรับรู้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น (Sense of Urgency) อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
Cope คือ ขจัดจุดอ่อนและข้อจำกัดเดิมที่มี โดยต้องมีระบบหรือกลไกที่สามารถเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) และมีระบบที่พร้อมช่วยเหลือเยียวยาอย่างทันท่วงทีเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น
Bounce Back คือ ฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่สภาพปกติได้เร็วที่สุด
(2) แนวความคิดเรื่อง Adapt (ปรับตัว) หมายถึง ความสามารถในการปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น
คือ ความสามารถในการปรับเป้าหมายแนวทางหรือวิธีการ ที่เคยทำมาในอดีตหรือปัจจุบันให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงข้อผิดพลาดจากบทเรียนจากการดำเนินการในอดีต และสามารถสร้างทางเลือกใหม่จากโอกาสต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนไปสู่จุดที่ดีขึ้นได้อย่างรอบด้านและรอบคอบ
(3) แนวความคิดเรื่อง Transform (เปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโต) หมายถึง ความสามารถในการพลิกโฉม
คือ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบและปัจจัยพื้นฐาน เช่น โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างเชิงสังคมและสถาบัน (อาทิ ระเบียบ กฎหมาย นโยบาย ค่านิยม วัฒนธรรม) เพื่อเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ (radical change) อย่างเป็นขั้นตอน เป็นระบบ ตามเป้าหมายและแนวทางที่พิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เพื่อให้ประเทศก้าวหน้าและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
แนวความคิดเรื่อง Resilience (ล้มแล้วลุกไว) จึงมีส่วนสำคัญต่อการพลิกฟื้นสถานการณ์จากวิกฤตต่างๆ ให้คืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว พร้อมๆ กับการเพิ่มระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์กรต่างๆ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) โดยการปรับแก้กลยุทธ์และโครงสร้างต่างๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการยกระดับ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ทันท่วงทีด้วยแนวความคิดในการเพิ่มผลผลิตด้วย 2 ปัจจัยสำคัญ คือ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม”
ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเร่งทำการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ให้เป็นกำลังสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืนด้วย
ทุกวันนี้ แนวความคิดเรื่อง Resilience นี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “ผู้นำ” ในการรับมือสถานการณ์วิกฤตและการเตรียมพร้อมเพื่อฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (ก่อนที่อาการจะหนักเกินกว่าการเยียวยาแก้ไข และยากต่อการพลิกฟื้นสถานการณ์)
แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดทั้งในวันนี้และอนาคตอันใกล้ ก็คือ ความสามารถของมนุษย์ในการคิดอ่านหาวิธีการต่างๆ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับ COVID-19 และไวรัสตัวอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัยต่อไป ครับผม !